นักสิทธิติติงข้อหาจำคุก 'นราธร' เหตุขายปฏิทินการ์ตูนเป็ด ล้อเลียนกษัตริย์

ตะวัน-แบม อดอาหารประท้วง 50 วันแล้ว ให้ปล่อยตัวเพื่อนผู้ต้องหาในคดี ม. 112
นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.03.08
กรุงเทพฯ
นักสิทธิติติงข้อหาจำคุก 'นราธร' เหตุขายปฏิทินการ์ตูนเป็ด ล้อเลียนกษัตริย์ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยแบกเป็ดยางตัวใหญ่ร่วมประท้วง หลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินคดีผลประโยชน์ทับซ้อนของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในกรุงเทพฯ วันที่ 2 ธันวาคม 2563
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

นักสิทธิมนุษยชนติติงรัฐไทยว่ากำลังสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นในสังคมประชาธิปไตย เนื่องจากศาลอาญาตัดสินจำคุก นายนราธร โชตมั่นคงสิน เป็นเวลา 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีขายปฏิทินรูปการ์ตูนเป็ดสีเหลือง ซึ่งศาลเห็นว่าเป็นการล้อเลียนรัชกาลที่ 10

ในตอนเช้าของวันอังคารที่ผ่านมา นายนราธร เดินทางมาฟังคำพิพากษาที่ศาลอาญาตลิ่งชันแต่เพียงลำพัง ในคดีที่มีที่มาจากการจัดจำหน่ายปฏิทินตั้งโต๊ะ ปี 2564 เป็นรูปการ์ตูนเป็ดเหลือง ทางเฟซบุ๊กเพจ “ราษฎร” ซึ่งเจ้าหน้าที่ตำรวจอ้างว่ามีภาพและข้อความที่เข้าข่ายล้อเลียนและหมิ่นประมาทกษัตริย์

“โดยเฉพาะในเดือนกันยายน ซึ่งเป็นรูปภาพเป็ดใส่ครอปท็อป สวมแว่นตาดำ ที่พยานโจทก์ได้กล่าวว่าเป็นการสื่อสารถึงรัชกาลที่ 10 เนื่องจากเคยมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่งกายในลักษณะดังกล่าวออกมา แต่ไม่ทราบแน่ชัดว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่ ซึ่งการผลิตและจำหน่ายปฏิทินฉบับนี้ จึงเป็นการตั้งใจสื่อสารว่าเป็ดตัวดังกล่าวเป็นรัชกาลที่ 10” ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เผยแพร่คำพิพากษาของศาลตอนหนึ่ง

ศาลระบุว่า จากการเบิกความเชื่อมโยงจากเดือนมกราคม มีนาคม ตุลาคม ตลอดเดือนธันวาคม ที่มีปรากฏข้อความว่า “การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ทรงมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข” ทำให้เชื่อได้ว่าเป็ดเหลืองในปฏิทินฉบับนี้ ก็คือรัชกาลที่ 10

“เมื่อพิเคราะห์แล้ว ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่เห็นว่าในการเบิกความ จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง จึงลดโทษเหลือจำคุก 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา” ตอนหนึ่งของคำพิพากษา ระบุ

หลังฟังคำพิพากษา นายนราธร ได้ยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 2.8 แสนบาท เพื่อต่อสู้คดีในชั้นอุทธรณ์ และศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว

นายนราธร อายุ 26 ปี เป็นนิติกรของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ได้ประกาศขายปฏิทินการ์ตูนเป็ดสีเหลืองของเฟซบุ๊กเพจราษฎร ในปลายปี 2563 ต่อมาเดือนธันวาคม 2563 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการล่อซื้อปฏิทินจากจำเลย และเข้าจับกุมตัว โดยตั้งข้อหา ม. 112 แต่จำเลยได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างต่อสู้คดี จากนั้นอัยการส่งฟ้องเมื่อวันที่ 2 กันยายน 2564 มีการสืบพยานระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 2565 ก่อนนัดอ่านคำพิพากษาในวันอังคารนี้

กลุ่มผู้ประท้วงใช้เป็ดยางสีเหลืองขนาดใหญ่ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ว่าได้ปิดล้อมสถานที่ประชุมทุกทิศทาง ในการชุมนุมเรียกร้องและกดดันรัฐสภา ซึ่งตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ภายหลังได้ถูกใช้เป็นโล่ห์กำบังแรงดันน้ำสูงและแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ใช้สลายผู้ชุมนุม

ต่อคำพิพากษาดังกล่าว นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ระบุว่า การเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์เพื่อความเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริงของประชาชน ถูกรัฐบาลตอบโต้อย่างรุนแรงด้วยการดำเนินคดีต่าง ๆ

“การตัดสินจำคุกนราธร แสดงให้เห็นว่าเจ้าหน้าที่รัฐไม่ยอมให้ใครสักคนล้อเลียนสถาบันกษัตริย์ ทำให้บรรยากาศแห่งความกลัวกำลังแผ่ขยายไปทั่วสังคมไทย ซึ่งบรรยากาศเช่นนี้กระทบกระเทือนต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและกระบวนการประชาธิปไตย” นายสุณัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ขณะที่ น.ส. อีเลน เพียร์สัน ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในแถลงการณ์ที่มีต่อคำพิพากษาดังกล่าวว่า

“รัฐบาลไทยควรให้เสรีภาพในการแสดงความเห็นในทุกประเด็น ซึ่งรวมถึงเรื่องที่เกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ด้วย รัฐบาลควรเร่งหารือกับผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เพื่อเริ่มดำเนินการแก้ไขกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพของไทยให้สอดคล้องกับหลักการสิทธิมนุษยชนสากล”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า นับตั้งแต่ที่กลุ่มเยาวชนได้เดินขบวนขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 ถึงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2566 มีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากสถานการณ์ชุมนุมและการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แล้วอย่างน้อย 1,895 คน ในจำนวน 1,180 คดี ในนั้นเป็นข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 233 คน จาก 253 คดี ปัจจุบันมีผู้ที่ถูกควบคุมตัวจากคดีที่เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวทางการเมืองอย่างน้อย 5 คน

ตะวัน-แบม อดอาหารประท้วงถึง 50 วันแล้ว

ก่อนหน้านี้ น.ส. ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน และ น.ส. อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม ผู้ต้องหาในคดี ม. 112 ได้เรียกร้องสิทธิการประกันตัวให้ผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองทั้งหมด โดยการถอนประกันตัวเอง เมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 และอดอาหารประท้วงในวันที่ 18 มกราคม 2566 ต่อมาศาลเริ่มให้ประกันตัวผู้ต้องขังคดีการเมืองบางคน และให้ประกันตัวทั้งคู่ตามการร้องของแพทย์

แต่แม้ว่า ตะวัน-แบม จะได้รับการประกันตัว ทั้งคู่ยังคงอดอาหารอยู่จนสุขภาพทรุดหนัก ทำให้ในวันที่ 3 มีนาคม 2566 ทั้งคู่ถูกนำตัวเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และรักษาตัวอยู่จนถึงปัจจุบัน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง