'ม็อบราษฎร' โดนแก๊สน้ำตาหลังชุมนุม จี้รัฐปล่อยตัว 4 แกนนำ
2021.02.10
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

ช่วงค่ำของวันพุธนี้ ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้ใช้แก๊สน้ำตาสลายการชุมนุมของกลุ่มผู้ชุมนุม ที่เรียกตัวเองว่า ‘ราษฎร’ ที่รวมตัวกันทำกิจกรรมที่บริเวณสกายวอล์ค สี่แยกปทุมวัน ตั้งแต่ช่วงเย็น หลังจากที่ศาลอาญารับฟ้องและมีคำสั่งไม่ให้ประกันตัวแกนนำประท้วงสี่คน ที่ตกเป็นจำเลยในคดีมาตรา 112 เมื่อวานนี้ โดยผู้ชุมนุมเคาะหม้อ กระทะ ซึ่งเป็นวิธีที่ชาวเมียนมาใช้ เพื่อประท้วงที่กองทัพเมียนมาเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือนเมื่อวันที่ 1 ก.พ ที่ผ่านมา
แกนนำและผู้ประท้วงรายสำคัญทั้งสี่คน คือ นายพริษฐ์ ชิวารักษ์ นายอานนท์ นำภา นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข และนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม ขณะนี้ถูกฝากขังที่เรือนจำพิเศษ กรุงเทพฯ ซึ่งผู้สนับสนุนคาดว่าอาจจะถูกกักขังในระหว่างการดำเนินคดีอย่างยาวนาน
ในการประท้วงที่เริ่มขึ้นในตอนเย็นของวันนี้ นายภานุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ แกนนำกลุ่มราษฎร กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การมาชุมนุมที่สกายวอล์ค เนื่องจากการฝากขังเพื่อนทั้งสี่คนเมื่อวานนี้ด้วยมาตรา 112 รวมทั้งเรื่องการเยียวยาผู้ประกันตน แรงงาน และอื่น ๆ อย่างไม่ยุติธรรม
“มาตรา 112 ไม่เป็นไปตามหลักสากล หลาย ๆ ประเทศไม่ให้การยอมรับ แต่ไม่ว่าจะเป็นศาล หรือรัฐบาล ก็ยังคงใช้มาตรา 112 ในการจำกัดสิทธิผู้เห็นต่างทางการเมือง วันนี้ เรามาเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยเพื่อนเรา อย่ากักขังพวกเราด้วยมาตรา 112 ที่ไม่มีที่สิ้นสุด” นายภานุพงศ์ กล่าว
การชุมนุมดังกล่าวเริ่มขึ้น หลังการประกาศจากเพจเฟซบุ๊ก ‘ราษฎร ที่นัดชุมนุมใหญ่ ‘รวมพลคนไม่มีจะกิน ตีหม้อไล่เผด็จการ’ เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ก่อนหน้าที่แกนนำและผู้ร่วมชุมนุมทั้งสี่ราย จะถูกสั่งฟ้อง
ด้านนางสาวอรวรรณ (สงวนนามสกุล) อายุ 55 ปี อาชีพแม่บ้าน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เหตุผลที่ออกมาในวันนี้เพราะเมื่อวานเพื่อนสี่คนถูกจับ ทั้งที่จริง ๆ ควรจะให้ประกัน เพราะไม่ได้ฆ่าคน โทษไม่ร้ายแรง พวกเขาควรจะได้ออกมา
“จะว่าโกรธก็โกรธ เพราะคดีฆ่าคนบางคดี ห้าปี สิบปี ก็ยังไม่ต้องติดคุก ม. 112 เป็นกฎหมายที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน อยากให้ยกเลิกและเรารู้สึกว่ารัฐสภาตอนนี้ไม่มีประโยชน์ ไม่ฟังเสียงประชาชน ถ้าเป็นไปได้ก็อยากให้ฝ่ายค้านลาออกให้หมด เพราะจะให้รัฐบาลออกมันไม่ลาออกหรอก รัฐสภาอยู่ไปก็ไม่มีประโยชน์” นางสาวอรวรรณ ระบุ
เสียงระเบิด ตำรวจสั่งให้สลายการชุมนุม
ในช่วงเวลาราว 18.00 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประกาศผ่านเครื่องขยายเสียง ขอให้ยุติการชุมนุม ที่บริเวณสกายวอล์ก ด้วยเหตุผลการฝ่าฝืนพ.ร.ก.ฉุกเฉิน และ พ.ร.บ.โรคติดต่อ เนื่องจากอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้กลุ่มผู้ชุมนุมย้ายการชุมนุมจากลานสกายวอล์ค แยกปทุมวัน ลงมายังลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร พร้อมจัดเวทีปราศรัยสลับเสียงเคาะอุปกรณ์เครื่องครัวที่ส่วนใหญ่นำติดตัวมาจากบ้าน ก่อนที่จะคลื่อนขบวนจากหน้าหอศิลป์ ไปยังพื้นที่ สน.ปทุมวัน เพื่อเรียกร้องปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้งสี่คน ในช่วงเวลา 19.30 น.
ต่อมาเวลาประมาณ 20:00 น. มีเสียงคล้ายระเบิดบริเวณใกล้ สน.ปทุมวัน ผู้ชุมนุมบางส่วนได้เคลื่อนตัวเข้าไปหาเสียงระเบิด พบว่าบริเวณดังกล่าวมีเจ้าหน้าที่ตำรวจควบคุมฝูงชนอยู่สองชุด มีการใช้แก๊สน้ำตา ทำให้ผู้ชุมนุมและสื่อมวลชนบางส่วนต้องล่าถอยออกมา อย่างไรก็ตาม หลังการใช้แก๊สน้ำตา ผู้ชุมนุมจำนวนมากเคลื่อนที่จากหน้า สน.ปทุมวัน ไปยังจุดเกิดเหตุและล้อมเจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนเอาไว้ กระทั่งในเวลาประมาณ 21:10 น. เจ้าหน้าที่ตำรวจชุดควบคุมฝูงชนได้เคลื่อนกำลังกลับ ต่อมาในเวลาไล่เลี่ยกัน ผู้ชุมนุมได้สลายการชุมนุมและเดินทางกลับบ้าน
อย่างไรก็ตาม จากการรายงานของ iLaw พบว่า มีผู้ถูกจับกุมจากการชุมนุมในวันนี้อย่างน้อย 8 ราย เป็นเยาวชนอายุไม่ถึง 18 ปี 2 ราย โดยเยาวชนสองรายได้เสียค่าปรับจำนวน 5,000 บาท และต้องไปขึ้นศาลเยาวชนในวันพรุ่งนี้ ขณะที่ผู้ถูกจับกุมอีก 6 ราย ตำรวจยังไม่ได้ตัดสินใจว่าจะตั้งข้อกล่าวหาใดตามกฎหมายหรือไม่ แต่ทำบันทึกจับกุม และปล่อยตัวไปอย่างไม่มีเงื่อนไข โดยหลายคนถูกควบคุมตัวมาจากด่านจุดสกัดโดยรอบพื้นที่ชุมนุม เมื่อถูกควบคุมตัวมาแล้ว ตำรวจให้นั่งแยกคนละห้อง โดยมีทนายความอาสา จากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ตามมาภายหลัง
นักสิทธิมนุษยชนชี้ รัฐหวั่น ‘เมียนมาเอฟเฟคต์’ เร่งตัดไฟแต้ต้นลม
นายพิทธิกรณ์ ปัญญามณี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐไทยมีความกังวลอย่างเห็นได้ชัด การควบคุมตัวแกนนำก่อนการชุมนุมเพียงไม่กี่วัน เสมือนเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดูอีกครั้ง ว่าไม่ต้องการให้เกิดขบวนชุมนุมที่มีผู้คนหลักหมื่น อย่างเช่นเมียนมาในตอนนี้
“การฝากขังนี้ อาจสะท้อนเมียนมาเอฟเฟคต์ เพราะเราเห็นแล้วว่า ในประเทศเพื่อนบ้านหลังรัฐประหารเป็นอย่างไร รัฐกลัวว่าหากเยาวชนสามารถรวมกลุ่มกันได้ อาจนำมาสู่ปัญหาใหญ่ การยัดคดีแต่เนิ่น ๆ จึงเป็นวิธีการที่ถูกนำมาใช้อีกครั้ง” นายพิทธิกรณ์ กล่าว
ขณะที่ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลจะดำเนินคดี 112 เป็นเครื่องมือกดดันผู้ประท้วงมากขึ้น
“หากนับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายนที่ผ่านมา เราจะเห็นว่ารัฐได้ดำเนินคดีต่อประชาชนโดยใช้มาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ คือราว ๆ 55 รายใน 42 คดี การดำเนินคดีจึงเป็นเครื่องมือของรัฐที่ใช้ปราบปรามผู้ชุมนุมมาโดยตลอด และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ กรณีการฝากขัง 4 แกนนำที่เกิดขึ้นวานนี้ รัฐอาจจะมองว่าเป็นกระบวนการที่ต้องควบคุม หรือจัดการกับคนที่เป็นภัยอันตรายทางการเมือง (political danger) ของรัฐ ซึ่งใช้ได้ผลและเป็นวิธีที่รัฐเผด็จการใช้มาตลอด” ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าว
ประยุทธ์เผย ผู้นำกองทัพเมียนมาขอไทยสนับสนุนประชาธิปไตยในประเทศตน
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ตอบคำถามนักข่าวกรณี พล.อ.อาวุโส มิน อ่อง ลาย ผู้บัญชาการสูงสุดเมียนมาส่งจดหมายส่วนตัวถึงผู้นำประเทศ ว่าผู้นำกองทัพได้ส่งจดหมายถึงตนเองในในนามรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อขอให้ไทยสนับสนุนประชาธิปไตยในเมียนมา ซึ่งตนเองสนับสนุนอยู่แล้ว
“การบริหารจัดการภายในก็เป็นเรื่องของเขา เป็นไปตามหลักการของอาเซียน และ TAC ด้วย มันมีกติกามากมายตรงนี้ อย่างน้อยเราก็สนับสนุนกระบวนการประชาธิปไตยในเมียนมา แต่สิ่งที่จำเป็นวันนี้คือ เราต้องรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันไว้ให้ได้มากที่สุด เพราะมีผลต่อประชาชนโดยรวม ต่อเศรษฐกิจ การค้าขายชายแดนทั้งหมด ซึ่งตอนนี้เป็นสิ่งสำคัญยิ่งในขณะนี้” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
“เขาส่งมาเขาไม่ได้ให้ผมตอบอ่ะนะ เขาชี้แจงเฉย ๆ ขอให้เราสนับสนุนในเรื่องกระบวนการประชาธิปไตยของเขา ผมก็สนับสนุนอยู่แล้ว ประเทศไทยสนับสนุนประชาธิปไตยอยู่แล้ว ก็สุดแล้วแต่ว่าเขาจะทำอย่างไรต่อไป” พล.อ.ประยุทธ์ ตอบคำถามว่า ได้ตอบจดหมายกลับไปหรือไม่
นอกจากนี้พล.อ.ประยุทธ์ยังกล่าวเมื่อวานนี้ ถึงกรณีการชุมนุมของชาวเมียนมา รวมถึงคนไทยบางกลุ่มพยายามเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุม ว่าไม่อยากให้เข้าไปข้องเกี่ยว เพราะเป็นเรื่องของอาเซียนด้วยกัน
“ผมก็ไม่อยากให้มีการชุมนุมในลักษณะนี้ เป็นเรื่องที่เราต้องมีความระวังพอสมควร ฝากไว้ด้วยสำหรับคนบางกลุ่มที่เข้าไปร่วม ยุยงปลุกปั่นอะไรทำนองนี้ผมไม่อยากให้เกิดขึ้นโดยเด็ดขาด เราอาเซียนด้วยกันผมคงไม่พูดอะไรไปมากกว่านี้” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
พรรคก้าวไกลเตรียมเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครอง เสรีภาพในการแสดงออก
ในวันเดียวกันนี้ ที่รัฐสภา ส.ส.พรรคก้าวไกล นำโดยนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรค แถลงต่อหน้าสื่อมวลชนว่า พรรคเตรียมเสนอชุดร่างกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของประชาชน จำนวน 5 ฉบับ โดยส่วนแรกจะยกเลิกโทษจำคุกให้คงเหลือแต่โทษปรับ ในความผิดฐานหมิ่นประมาทหรือดูหมิ่นบุคคลทั่วไป รวมถึงดูหมิ่นเจ้าพนักงาน ศาล หรือผู้พิพากษา
และส่วนที่สองคือย้ายความผิดฐานหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไปกำหนดเป็นลักษณะความผิดใหม่ คือ ลักษณะความผิดที่เกี่ยวกับพระเกียรติของพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และเกียรติยศของผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เพื่อให้มีความเหมาะสม ทั้งในแง่โครงสร้างของบทบัญญัติ อัตราโทษ การยกเว้นความผิด การยกเว้นโทษ และผู้ร้องทุกข์ จึงกำหนดให้ยังมีโทษจำคุก แต่ลดอัตราโทษลงมาไม่ให้รุนแรงเกินไป ไม่กำหนดโทษขั้นต่ำไว้ รวมทั้งสามารถพิจารณาลงโทษปรับหรือทั้งจำทั้งปรับ เพื่อให้ได้สัดส่วนกับสภาพความผิด
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว