กต. ไทยแจง กะเหรี่ยงกว่าสองพันคนกลับบ้านด้วยความสมัครใจ
2021.03.30
กรุงเทพฯ

โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย กล่าวในวันอังคารนี้ว่า ส่วนหนึ่งของชาวกะเหรี่ยงที่หนีภัยสู้รบมายังฝั่งจังหวัดแม่ฮ่องสอนเกือบสามพันราย จากสถานการณ์การประท้วงการรัฐประหารในประเทศเมียนมา ได้เดินทางกลับภูมิลำเนา “ด้วยความสมัครใจ” ขณะที่เอ็นจีโอแย้งว่า ทางทหารไทยได้ผลักดันให้พวกเขาต้องกลับคืนถิ่น ทั้งที่ยังมีการโจมตีทางอากาศ
นายธานี แสงรัตน์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย ได้ส่งข้อความถึงผู้สื่อข่าวว่า ข้อมูลยอดผู้หนีภัยสู้รบ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน มียอดทั้งหมด 2,897 คน ได้เดินทางกลับ 2,352 คน และคงเหลือพร้อมเดินทางกลับในวันพุธนี้อีก 545 คน
“วัน(อังคาร)นี้ ทุกจุดที่รับผู้หนีภัยการสู้รบฯ จะยังคงค้างเฉพาะ ผู้ป่วย/เด็ก/คนแก่ เนื่องจากเดินทางกลับวันนี้ไม่ทัน จะขอกลับในวันพรุ่งนี้ ทุกคนประสงค์อยากกลับ แค่กลัวภัยจากการรบทางอากาศ ซึ่งก็ได้พูดคุยทำความเข้าใจกันเรียบร้อยแล้ว ให้ความสำคัญดูแลกลุ่มเปราะบาง ให้มีความพร้อมและเป็นไปตามความประสงค์” นายธานี กล่าว
“ประเทศไทยไม่มีนโยบายในการผลักดันผู้หนีภัยสู้รบจากประเทศเมียนมา บางส่วนได้รับอนุญาตให้เดินทางกลับด้วยความสมัครใจ หลังจากที่เสบียงอาหารร่อยหรอลง ซึ่งต้องนำมาจากหมู่บ้านในฝั่งประเทศเมียนมา พวกเขาพักอีกชั่วระยะ จนกว่าจะเห็นว่าสามารถกลับไปได้โดยปลอดภัย กลุ่มนี้ ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง” นายธานี กล่าวเป็นภาษาอังกฤษ
ในวันเดียวกันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวว่า หากมีการสู้รบที่เป็นอันตรายจริง ก็จะหามาตรการช่วยเหลือ
“หมู่บ้านโน้น หมู่บ้านนี้ก็เข้ามา นำร่องมาก่อน พอมาเจอกับเราก็ชี้แจง มีปัญหาอะไร ในประเทศของเขา ส่วนที่ท่านอยู่ ไม่มีก็กลับไปก่อนได้ไหมล่ะ"
ไม่ได้เอาปืนผาหน้าไม้ ไปไล่ไปจี้เขาเมื่อไหร่ จับไม้จับมืออวยพรเค้าออกไปด้วยซ้ำไป นั่นคือ มนุษยธรรมนะจ๊ะ เอาไว้สถานการณ์มันรุนแรงขึ้น ค่อยแก้ไปแล้วกัน... เราต้องดูแลมนุษยธรรมไง เราผลักดันไปไม่ได้อยู่แล้ว เขารบ ๆ กันอยู่จะผลักดันไปได้ไง ถ้าไม่มีก็กลับไปก่อนได้ไหม” พลเอกประยุทธ์ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล
“เข้ามาก็ต้องเข้ามาโดยถูกกฎหมาย สถานการณ์สู้รบก็อีกเรื่องนึงนะ ถ้ามันเกิดภัยพิบัติ มีการบาดเจ็บล้มตายในฝั่งโน้น เขาจะเข้ามา เราก็ต้องหามาตรการของเรา ไม่ผลักดันหรอก ถ้าเดือดร้อนจริง ถ้ามีการสู้รบตรงนั้นตรงนี้” พลเอกประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม น.ส. พรสุข เกิดสว่าง มูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน กล่าวว่า ทางการไทยได้ผลักดันชาวกะเหรี่ยงกลับ โดยขัดต่อหลักอันควร
“เราได้ข้อมูลจากเครือข่ายชาวบ้านที่อยู่บริเวณชายแดนว่า ชาวกะเหรี่ยงเริ่มเข้ามาในประเทศไทยที่แม่สะเรียงประมาณบ่ายวันที่ 28 มีนา หลังจากมีการปะทะกัน แล้วก็นอนหนี่งคืน ในวันที่ 29 คือเมื่อวานนี้ ก็เริ่มมีการผลักกลับไปจนถึงวันนี้ก็ยังมีการผลักกลับอยู่ ที่แม่สะเรียงประมาณ 3 พันคน แล้วก็มีที่แม่สามแล่บ สบเมย อีก 80 กว่าคน ล่องเรือมา” น.ส.พรสุข กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“ปัจจุบัน ยังมีการโจมตีทางอากาศอยู่ มีการประสานขอเข้ามารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในแม่ฮ่องสอน 7 คน... รัฐบาลไทยควรให้ที่พักพิงแก่เขาเมื่อมีอันตราย ไม่ว่าจะมองเรื่องมนุษยธรรม กฎหมายระหว่างประเทศ ก็ควรให้ที่พักพิง เพราะการผลักกลับมันไม่ได้แก้ปัญหา เพราะยังไงเขาก็มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ามา ไม่ใช่ผลักออกไปแล้วมันจะจบ”
“การช่วยเหลือไม่ควรให้ฝ่ายความมั่นคงดูแล ควรส่งต่อให้หน่วยงาน เช่น กระทรวงมหาดไทย ยูเอ็นเอ็ชซีอาร์ หรือหน่วยงานอื่นที่มีประสบการณ์ มีเจ้าหน้าที่ มีทรัพยากร เข้ามาดูแล ไม่ใช่ให้หน่วยความมั่นคงพิจารณาง่าย ๆ แบบนี้ เพราะถ้าเหตุการณ์ยังเกิดขึ้นอยู่ การสู้รบยังไม่จบ ยังไงเขาก็ต้องข้ามมาอีก" น.ส.พรสุข กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มีนาคม 2564 ซึ่งเป็นวันกองทัพเมียนมา และได้มีการจัดงานฉลองในกรุงเนปิดอว์ โดยประเทศรัสเซีย, จีน, อินเดีย, ปากีสถาน, บังกลาเทศ, เวียดนาม, ลาว และไทย ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมงานด้วย ขณะที่หลายประเทศได้ปฏิเสธการเข้าร่วม และในตอนค่ำวันเดียวกัน กองทัพเมียนมาอากาศได้ใช้เครื่องบินโจมตีทางอากาศต่อเป้าเหมายในบ้านเดปู่โน่ จังหวัดมื่อตรอ (ผาปัน) รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นเขตกองพลที่ 5 ของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union-KNU) อย่างน้อย 3 รอบ
เดวิด ยูแบงค์ อดีตทหารรบพิเศษสหรัฐ และผู้ดำเนินองค์กรเอ็นจีโอ Free Burma Ranger ซึ่งให้ความช่วยเหลือชาวกะเหรี่ยงมาหลายทศวรรษกล่าวว่า ในการโจมตีในหุบเขาเดปู่โน่ เมื่อคืนวันเสาร์และเช้าวันอาทิตย์ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 3 ราย และบาดเจ็บ 8 ราย
นับตั้งแต่การรัฐประหารเมียนมาของพลเอก มิน ออง ลาย เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมืองเมียนมา ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนในประเทศไทย ได้จัดทำบันทึกยืนยันจำนวนผู้เสียชีวิต ในเหตุการณ์รุนแรงในเมียนมา อย่างน้อย 521 ราย และมีประชาชนถูกจับกุมมากกว่า 2,600 ราย แล้ว ในประเทศเมียนมา