นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยพูดคุยเรื่องเปิดชายแดน

ผู้นำสองประเทศหารือร่วมมือทางเศรษฐกิจ เชื่อมโยงโครงการข้ามพรมแดน
โนอาห์ ลี, สุกัญญา ลิงเก็น และมารียัม อัฮหมัด
2022.02.23
กัวลาลัมเปอร์ และปัตตานี
นายกรัฐมนตรีมาเลเซียเยือนไทยพูดคุยเรื่องเปิดชายแดน ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย โบกมือจากรถยนต์ที่นั่ง หลังเสร็จสิ้นพิธีการเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 21 สิงหาคม 2564
รอยเตอร์

ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย มีกำหนดเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก หลังการรับตำแหน่งใหม่ในวันพฤหัสบดีนี้ โดยจะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรีไทยในเรื่องความร่วมมือทวิภาคี วัคซีน และการเปิดพรมแดนใหม่อีกครั้ง

ในการเดินทางเยือนระหว่าง วันที่ 24-26 กุมภาพันธ์ 2565 นี้ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียมีกำหนดหารือข้อราชการกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในวันศุกร์ที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศจะหารือแนวทางการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับมาเลเซียในฐานะประเทศเพื่อนบ้านให้มีความก้าวหน้า ตามที่ระบุในแถลงการณ์สำนักนายกรัฐมนตรีไทย

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหารือแนวทางเพื่อช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ ซึ่งได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ความร่วมมือด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การส่งเสริมความเชื่อมโยงในพื้นที่ชายแดน"

ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ ที่ได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ จะพบปะกับชาวมาเลเซียที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยครั้งนี้ด้วย

ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ 5 ที่ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ เดินทางเยือนหลังจากสาบานเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว นับตั้งแต่สิ้นปี 2564 ดาโตะ ซรี อิซมาอิล ซาบรี ยาคบ ได้เดินทางเยือนอินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน และในวันพุธนี้ อยู่ในระหว่างการเยือนกัมพูชาเป็นเวลาสองวัน

การพูดคุยเพื่อสันติสุขจะมีในเดือนมีนาคม

ขณะเดียวกัน ทางคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ เตรียมที่จะหยิบยกประเด็นการก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งทางการไทยกล่าวว่าฝ่ายผู้ก่อเหตุได้เล็งเป้าหมายอ่อนแอมาพูดคุยกับคณะของนายกรัฐมนตรีมาเลเซียในระหว่างการเยือนไทยครั้งนี้ ตามคำกล่าวของ พลเอก วัลลภ  รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

มาเลเซียได้ทำหน้าที่เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเจรจาระหว่างผู้แทนรัฐบาลไทยและฝ่ายขบวนการแบ่งแยกดินแดนมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556

ในการเดินทางลงพื้นที่ปัตตานีเมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา พลเอก วัลลภ ได้พบปะกับแม่ทัพภาคที่ 4 และภาคประชาชน เพื่อเก็บข้อมูลนำไปพูดคุยกับฝ่ายมาเลเซีย

“ภารกิจที่มาวันนี้ เพื่อปรึกษาหารือถึงแนวทางการดำเนินการและแนวทางการลดความรุนแรงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะการลดความรุนแรงต่อเด็กและสตรี... ต่อพื้นที่สาธารณะและลดความรุนแรงต่อพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งทางคณะจะหยิบยกประเด็นดังกล่าวเพื่อนำไปสู่กระบวนการพูดคุยในโอกาสต่อไป ซึ่งจะมีกำหนดห้วงเวลาในการพูดคุยในครั้งต่อไป ประมาณปลายเดือนมีนาคมนี้ รวมทั้งการพบปะในช่วง 24-26 กุมภาพันธ์นี้ ในโอกาสที่คณะรัฐบาลมาเลดซียจะเดินทางมาประเทศไทย” พลเอก วัลลภ กล่าวเมื่อวันจันทร์นี้

ด้านแหล่งข่าวในขบวนการบีอาร์เอ็น เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง และนายอับดุล ราฮิม นูร์ ผู้อำนวยความสะดวกของมาเลเซีย กล่าวยืนยันกับเบนาร์นิวส์ว่า การพูดคุยครั้งหน้าจะมีขึ้นในเดือนมีนาคม เหตุการณ์รุนแรงที่เชื่อมโยงกับกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในสามจังหวัดชายแดนใต้ยังคงมีอยู่เป็นระยะ ๆ นับตั้งแต่เดือนมกราคมปีนี้ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายได้พูดคุยถึงการลดความรุนแรงก็ตาม

พลเอก วัลลภ กล่าวว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเจรจา ซึ่ง พลเอก วัลลภ กล่าวว่าอาจจะมีขึ้นในปลายเดือนมีนาคม

เช โมห์ด อาซิซ ยาคอบ ผู้เชี่ยวชาญกิจการในภูมิภาคนี้ กล่าวว่า การเสนอที่จะพบปะกันของทั้งสองฝ่ายในเดือนมีนาคมนี้ เป็นการแสดงความจริงใจต่อกันในการแก้ปัญหา

“ใช่ครับ เป็นก้าวย่างที่ดีต่อการพูดคุย เพราะว่าทั้งสองฝ่ายได้แสดงความจริงใจและได้ลงมือปฏิบัติอย่างแข็งขันในการเร่งการเจรจา ซึ่งจะทำให้ความรุนแรงและเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งถูกแก้ไขโดยเร็ว” เช โมห์ด อาซิซ ยาคอบ กล่าว

ขบวนการแบ่งแยกดินแดนในสามจังหวัดชายแดนใต้ได้เริ่มปฏิบัติการเรียกร้องอธิปไตยมาตั้งแต่ทศวรรษที่ 60 และจากฐานข้อมูลศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ นับจากการปะทุของสถานการณ์ครั้งใหม่ เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ถึงสิ้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,300 คน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง