ไทยเริ่มระเบียงมนุษยธรรมเมียนมาแล้ว
2024.03.25

รัฐบาลไทยเริ่มดำเนินการตามแผน ระเบียงช่วยเหลือทางมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance Corridor) แก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบในประเทศแล้ววันจันทร์นี้ โดยนักวิชาการ-นักสิทธิมนุษยชนเชื่อ เป็นการริเริ่มที่ดี แต่ไทยควรจะต้องเจรจากับชนกลุ่มน้อย และภาคประชาสังคมในพื้นที่เพื่อการช่วยเหลือที่ยั่งยืน
นายสีหศักดิ์ พวงเกตุแก้ว ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เดินทางไปยัง อ.แม่สอด จ.ตาก เพื่อเป็นสักขีพยานในการส่งมอบความช่วยเหลือนี้ ณ สะพานมิตรภาพไทย-เมียนมาแห่งที่ 2 โดยจะส่งถุงยังชีพไปยังพื้นที่นำร่องในรัฐกะเหรี่ยง
“การส่งมอบความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมครั้งนี้เป็นความร่วมมือทวิภาคีระหว่างไทยกับเมียนมา เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนเมียนมาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การสู้รบภายในเมียนมา โดยในฐานะประเทศเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดของเมียนมา ไทยมีความประสงค์ที่จะให้ความช่วยเหลือแก่ชาวเมียนมาโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ” นายสีหศักดิ์ กล่าว
“ข้อริเริ่มดังกล่าวสะท้อนถึงความปรารถนาดีของไทยต่อประชาชนเมียนมา โดยความสำเร็จของการดำเนินการครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสภากาชาดของไทยและเมียนมา รวมถึงการสนับสนุนอย่างดียิ่ง จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและเมียนมา และชุมชนท้องถิ่นในจังหวัดตากและรัฐกะเหรี่ยง รวมถึงกลุ่มชาติพันธุ์ในพื้นที่” นายสีหศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม
กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ไทยส่งความช่วยเหลือผ่าน สภากาชาดไทยส่งมอบถุงยังชีพจำนวน 4,000 ถุง ซึ่งบรรจุข้าวสาร อาหารแห้ง และของอุปโภคบริโภคอื่นๆ สำหรับประชาชนเมียนมาจำนวนประมาณ 20,000 คน โดยนายโอง ไว ประธานสภากาชาดเมียนมา สาขาจังหวัดเมียวดี เป็นผู้รับมอบ

การช่วยเหลือครั้งนี้ นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้เปิดเผยในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567ไทยจะส่งสิ่งของจำเป็น ผ่านจุดผ่านแดนแม่สอด-เมียวดี เพื่อให้สภากาชาดเมียนมาดำเนินการส่งต่อไปยังพื้นที่รัฐกะเหรี่ยง ซึ่งรัฐบาลไทยดำเนินการตรงนี้เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเมียนมา เพื่อสันติภาพ และป้องกันผลกระทบที่มีต่อการค้าชายแดนไทย-เมียนมา
การต่อสู้ที่ปะทุอีกครั้ง ส่งผลกับการให้ความช่วยเหลือ
แม้ว่าบางฝ่ายที่ไม่ใช่ฝ่ายรัฐบาลทหารจะวิพากษ์วิจารณ์ถึงขอบเขตของการช่วยเหลือที่จำกัด อย่างไรก็ตาม การสู้รบที่ทวีความรุนแรงอีกครั้ง ยิ่งทำให้มีประชาชนจำนวนมากต้องการความช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนเท่าใดก็ตาม
หลังจากที่กองกำลังของกะเหรี่ยงประชาชนปลดแอก (KNLA) ได้เปิดการโจมตีค่ายทหารในท้องถิ่นเมียวดีของพม่าเมื่อวันที่ 7 มีนาคม ได้ทำให้พลเรือนต้องพลัดถิ่นและต้องการทั้งอาหารและยา ตามที่โฆษกของกรมสาธารณสุขและสวัสดิการของกะเหรี่ยงระบุ โดยปฏิเสธที่จะเปิดเผยชื่อเนื่องจากเหตุผลด้านความปลอดภัย
เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัสถึง 30 คนในระหว่างการต่อสู้ และอย่างน้อยสามคนได้เสียชีวิตจากบาดแผลสาหัสในเมียวดีและเมืองกอกะเร็ก โดยพบว่ามีผู้พลัดถิ่นภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีกเกือบ 3,000 คนนับตั้งแต่วันที่ 7 มีนาคม แต่จำนวนนั้นอาจจะสูงกว่านี้ โฆษกคนดังกล่าว ระบุ
เธอกล่าวเพิ่มเติมว่า หลายคนกำลังทุกข์ทรมานจากอาการท้องเสียและไข้ เนื่องจากพวกเขาดื่มน้ำจากแม่น้ำเนื่องจากอากาศร้อน
การปะทะกันและปัญหาทางด้านมนุษยธรรมส่งผลกระทบต่อชายแดนไทยมากขึ้นเรื่อยๆ แรงงานข้ามแดนจำนวนมากที่หลบหนี กฎหมายเกณฑ์ทหารที่ออกโดยคณะกรรมการทหาร ได้ลี้ภัยผ่านชายแดนไทย โดยถูกจับกุมได้ในจังหวัดตากเมื่อเดือนกุมภาพันธ์เป็นจำนวนมาก
นอกจากนี้ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา มีทหารจากกองทัพเมียนมาจำนวน 40 นายหลบหนีเข้ามาในอำเภออุ้มผางของไทย ซึ่งอยู่ห่างจากแม่สอดไปทางใต้ประมาณ 180 กิโลเมตร ตามรายงานของศูนย์ข้อมูลกะเหรี่ยง การต่อสู้ยืดเยื้อนานหนึ่งสัปดาห์กับกองกำลังกะเหรี่ยงประชาชนปลดแอกทำให้ไทยต้องปิดด่านชายแดนใกล้หมู่บ้านเปงกะหล่าย ในรัฐกะเหรี่ยง
ต่อแผนช่วยเหลือทางมนุษยธรรม น.ส. พรสุข เกิดสว่าง กรรมการมูลนิธิเพื่อนไร้พรมแดน เห็นว่า ความร่วมมือกับคนในพื้นที่เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลไทยละเลยไม่ได้
“รัฐบาลใหม่ของไทยแสดงให้เห็นถึงท่าที และความแอ็คทิฟเรื่องมนุษยธรรมให้แก่เมียนมา ซึ่งก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เราได้เห็นการนำเรื่องนี้เข้าไปพูดคุยในสภา ซึ่งทำให้ภาคประชาสังคม มีการสื่อสาร มีการพูดคุยละก้าวไปข้างหน้าร่วมกัน แต่สิ่งที่อยากให้รัฐบาลไทยทำมากกว่านี้คือ พยายามสื่อสารติดต่อกับ ภาคประชาสังคมในพื้นที่ เพราะคนเหล่านี้ รู้จักพื้นที่และเข้าใจปัญหา จะทำให้เกิดการแก้ไขปัญหา หรือช่วยเหลือได้ตรงจุด และเหมาะสมมากขึ้น” น.ส. พรสุข กล่าว
การมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย
ข้อริเริ่มดังกล่าวยังถือเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานตามฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยได้รับการสนับสนุนจากประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมดในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ (ASEAN Foreign Ministers’ Retreat: AMM Retreat) ที่ประเทศลาว เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2567
รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government: NUG) ซึ่งเป็นรัฐบาลเงาของเมียนมาร่วมกับกลุ่มติดอาวุธที่เป็นชาติพันธุ์ ได้ร่างข้อเสนอทางเลือกฉบับหนึ่ง ซึ่งระบุว่า จะทำให้แผนการส่งมอบความช่วยเหลือของไทยมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเสนอให้ทำงานร่วมกับองค์กรท้องถิ่น เพื่อเข้าถึงพื้นที่ที่ควบคุมโดยกลุ่มชาติพันธุ์ติดอาวุธแทน
อย่างไรก็ตาม NUG ระบุว่ายังไม่มีการติดต่อโดยตรงจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย เกี่ยวกับแผนที่เสนอไปก่อนหน้านี้ ซึ่งเสนอไปก่อนการสัมมนาในกรุงเทพฯ เกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา เมื่อต้นเดือนนี้
"เพื่อให้การส่งมอบความช่วยเหลือดังกล่าวมีประสิทธิภาพไปยังประชาชนที่ต้องการมากที่สุด ความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับองค์กรต่อต้านระบอบเผด็จการของกลุ่มชาติพันธุ์ (EROs) NUG จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมและการจัดการภัยพิบัติของ NUG กล่าว
ผศ.ดร. ลลิตา หาญวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และที่ปรึกษากรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดน ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ สภาผู้แทนราษฎรชี้ว่า ระเบียงมนุษยธรรมนี้นับเป็นเรื่องที่ดี และเป็นมิติใหม่ของสังคมไทย
“เชื่อว่า ฝ่ายความมั่นคง และรัฐบาลไทยคิดเรื่องนี้อย่างถี่ถ้วนแล้ว หลังจากนี้สิ่งที่ไทยควรทำคือ เริ่มเจรจากับชนกลุ่มน้อย ทุกฝ่าย โดยเฉพาะที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนไทย เพื่อให้เกิดการช่วยเหลืออย่างยั่งยืน แผนระยะยาวไทยควรที่จะต้องเตรียมฉากทัศน์ต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้กับเมียนมา เช่น การแตกออกเป็นหลายกลุ่ม ฉาน กะเหรี่ยง มอญ เพื่อไทยจะได้วางแผนทิศทางความสัมพันธ์ และวางแผนในการรับมือ หรือรับผู้หนีภัยเข้ามาในประเทศไทยในอนาคต” ผศ.ดร. ลลิตา กล่าว

ปัญหาคนพลัดถิ่นในเมียนมาเกิดขึ้นเพราะกองทัพเมียนมาได้ทำรัฐประหาร ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และยึดอำนาจและควบคุมตัวนายวิน มินต์ ประธานาธิบดี, นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ และสมาชิกพรรคหลายคน โดยอ้างว่าเป็นการตอบโต้การทุจริตเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) ที่นำโดยนางอองซาน ซูจี เป็นฝ่ายชนะ
ประชาชนจำนวนมากในเมียนมาออกมาประท้วงต่อต้านรัฐประหาร ทำให้รัฐบาลทหารเมียนมาใช้กำลังปราบปรามอย่างหนัก เกิดเป็นการสู้รบภายในประเทศระหว่างกลุ่มต่อต้านรัฐประหาร-กองกำลังชาติพันธุ์ กับกองทัพของรัฐบาลเมียนมา
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และรุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน