กต. ระบุ ไทยพร้อมเพิ่มการช่วยเหลือมนุษยธรรมในเมียนมา
2024.04.19
กรุงเทพฯ

นายนิกรเดช พลางกูร อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยในการแถลงข่าววันนี้ว่า ไทยพร้อมเพิ่มการช่วยเหลือมนุษยธรรมในเมียนมา และยืนยันว่า ไทยไม่ได้รับผลกระทบจากการสู้รบภายใน ด้านนักวิชาการแนะอาเซียนตั้งผู้แทนพิเศษร่วมแก้ไขปัญหาภายในเมียนมา
“ไทยเน้นย้ำความสำคัญประเด็นมนุษยธรรมลำดับต้น พร้อมคุยทุกฝ่าย หากมีการร้องขอให้ไทยไปคุยด้วย และยินดีหากแต่ละฝ่ายเห็นประโยชน์ที่ต้องการให้ไทยเข้าไปหารือ การให้ความช่วยเหลือมนุษยธรรม คือต่อยอดสิ่งที่ทำครั้งที่แล้ว คือการช่วยเหลือผ่านองค์กรต่าง ๆ เข้าไปยังผู้ได้รับผลกระทบในเมียนมาเท่านั้น ไม่ได้เป็นการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการทะลักเข้ามาแต่อย่างใด” นายนิกรเดช กล่าว
นายนิกรเดช ยืนยันว่า ไทยพร้อมทำหน้าที่ในฐานะเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนการปรองดองภายในประเทศเมียนมา
“ไทยสนับสนุนการพูดคุยเพื่อการปรองดอง ใน 3 ประเด็นหลัก คือสันติภาพ ความมั่นคง เอกภาพ และอยู่ระหว่างการพิจารณา แนวทางที่จะเพิ่มและขยายการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม โดยการพูดคุยกับองค์การระหว่างประเทศตามแนวชายแดน ซึ่งมีแผนในการแลกเปลี่ยนกันใน 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า” นายนิกรเดช ระบุ
นายนิกรเดช เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ปัจจุบัน สถานการณ์ชายแดนไทยเรียบร้อย ยังไม่มีผู้ลี้ภัย และไม่มีผลกระทบเข้ามาฝั่งไทย
ด้าน นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยต่อสื่อมวลชนในวันเดียวกันว่า ฝ่ายความมั่นคงเตรียมพร้อมในการรับมือหากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินที่ชายแดนไทย-เมียนมา
“เราก็มีคณะกรรมการชายแดนทั้งระดับที่ดูแลร่วมกัน ขณะที่กองทัพ ก็มีหน่วยทหาร ซึ่งกองทัพอากาศก็พร้อมที่จะขึ้นบิน โดยมีการบินลาดตระเวน หรือบินเตือน และบินป้องปรามอยู่ด้วย ไม่มีปัญหา พร้อมยืนยันในขีดความสามารถ หากมีการบินรุกล้ำเข้ามา เราก็พร้อมเครื่องบินสกัดกั้นได้โดยทันที” นายสุทิน กล่าว
หลังกองทัพเมียนมาทำรัฐประหารยึดอำนาจจาก นายวิน มินต์ ประธานาธิบดี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐ ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ในเมียนมาก็เกิดการสู้รบตลอดมา ทั้งจากประชาชนที่ต่อต้านการรัฐประหาร และกองกำลังชาติพันธุ์ ทำให้มีประชาชนพลัดถิ่นในประเทศเมียนมาจำนวนมาก
ล่าสุด กองทัพปลดปล่อยแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen Nation Liberation Army - KNLA) กลุ่มสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union - KNU) และกองกำลังพิทักษ์ประชาชน (People's Defence Force - PDF) ได้ประกาศว่า สามารถควบคุมพื้นที่เมืองเมียวดีไว้ได้ ทำให้ประชาชนเมียนมาจำนวนหนึ่งข้ามแดนมายังประเทศไทยเพื่อหนีภัยสงคราม และหลายฝ่ายประเมินกันว่าจะมีการสู้รบเกิดขึ้นอีกระยะหนึ่ง

ในวันเดียวกัน กลุ่ม Burma Concern ออกจดหมายเปิดผนึกซึ่งลงชื่อโดยนักวิชาการ และประชาชนกว่า 150 คน ส่งถึงนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรียกร้องโดยสรุปดังนี้ 1. รัฐบาลต้องไม่ส่งชาวเมียนมากลับประเทศไปสู่การประหัตประหารหรือทรมาน โดยผ่อนผันให้ชาวเมียนมาที่อยู่ในวัยเกณฑ์ทหาร พำนักอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว 2. รัฐบาลไทยต้องขยายวีซ่าให้แก่นักศึกษาเมียนมาที่ใกล้จะสำเร็จการศึกษา และอนุญาตให้สามารถขออนุญาตทำงานได้เป็นกรณีพิเศษ
3. รัฐบาลไทยต้องอำนวยความสะดวกในกระบวนการขอวีซ่าให้กับผู้ที่ต้องการเดินทางเข้าไทยเพื่อเร่งกระบวนการให้เร็ว 4. สถาบันการศึกษาต้องพิจารณารับนักศึกษาเมียนมาเข้าศึกษาเป็นการพิเศษ และ 5. รัฐบาลควรมีมติผ่อนผันให้กับชาวเมียนมาที่ไม่สามารถเดินทางกลับประเทศต้นทางได้ และอนุญาตให้ทำงานเป็นกรณีพิเศษอย่างน้อย 2 ปี
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า หากไทยจะเพิ่มและขยายความช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ไทยควรประสานงานกับทุกฝ่าย เพื่อให้มีการกระจายความช่วยเหลือที่ครอบคลุมและเป็นธรรมมากขึ้น พร้อมกับต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใสถึงการนำสิ่งของไปแจกจ่าย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นจากประชาคมโลก
“นอกจากนี้ ไทยควรผลักดันอย่างแข็งขันต่อที่ประชุมอาเซียนให้มีการเจรจากับรัฐบาลทหารเมียนมาและฝ่ายต่อต้านเพื่อให้ยุติความรุนแรงและฟื้นฟูกระบวนการทางการเมืองอย่างสันติ รวมถึงการจัดตั้งคณะผู้แทนพิเศษของอาเซียนประจำเมียนมาเพื่อเป็นสื่อกลางในการเจรจาไกล่เกลี่ยด้วยหากเป็นไปได้” ดร. เอียชา กล่าว
เมื่อวันพฤหัสบดีนี้ สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ASEAN) ได้ออกแถลงการณ์รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมายุติความรุนแรง
“เราเรียกร้องให้ทุกฝ่ายดำเนินการอย่างเร่งด่วนในการลดผลกระทบจากความขัดแย้งที่มีต่อพลเรือน ซึ่งรวมถึงการจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยและเอื้อต่อการรับประกันการจัดส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่ทันเวลาและปลอดภัยแก่ทุกคนที่กำลังต้องการในเมียนมาโดยปราศจากการแบ่งแยก” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ ระบุ
รุจน์ ชื่นบาน ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน