กรมเจ้าท่าประกาศพื้นที่อันตราย หลังเรือน้ำมัน 5 แสนลิตร ล่มใกล้ปากน้ำชุมพร
2022.01.24
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

กรมเจ้าท่าประกาศพื้นที่อันตราย บริเวณ 24 ไมล์ทะเลจากปากน้ำชุมพร ในวันจันทร์นี้ หลังจากที่เรือบรรทุกน้ำมัน ป.อันดามัน 2 ซึ่งมีถังจุน้ำมันขนาด 5 แสนลิตรอับปางลง และมีน้ำมันรั่วไหล โดยขณะนี้เจ้าหน้าที่กำลังเร่งกู้ซากเรือ และแก้ปัญหาน้ำมันรั่วไหลปนเปื้อน ด้านนักวิชาการชี้ สัตว์น้ำอาจได้รับผลกระทบ หากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแก้ไขปัญหาน้ำมันรั่วล่าช้า
กรณีนี้ สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2565 เรือ ป.อันดามัน 2 เรือบรรทุกน้ำมันดีเซลขนาด 5 แสนลิตร ของ บริษัท แหลมทองค้าน้ำมันประมงไทย จำกัด เผชิญกับพายุ คลื่นลมแรง ทำให้มีน้ำทะเลไหลเข้าเรือจำนวนมาก และระบายน้ำออกไม่ทันจนเกิดอับปางลงสู่อ่าวไทย ความลึกประมาณ 50 เมตร น้ำมันที่เรือบรรทุกเกิดรั่วไหลปนเปื้อนสู่ทะเล และคาดการณ์ว่าน้ำมันจะถูกพัดตามกระแสน้ำไปยัง อ.ปะทิว อ.บางสะพานน้อย อ.บางสะพาน และ อ.ทับสะแก ใน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ทำให้กรมเจ้าท่าในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบ ร่วมกับกองทัพเรือเร่งดำเนินการแก้ไข
นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ได้เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กเพจกรมเจ้าท่า ระบุว่า นายเรือ และลูกเรือรวม 6 คนของ ป.อันดามัน 2 ได้รับการช่วยเหลืออย่างปลอดภัยแล้ว โดยกรมเจ้าท่าได้ประสานให้เจ้าของเรือเร่งกู้ซากเรือแล้ว
“ได้สั่งการให้สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคที่ 4 สาขาชุมพรติดตาม และประสานบริษัท แหลมทองค้าน้ำมันประมงไทย จำกัด ที่เป็นเจ้าของเรือลำดังกล่าว เร่งกู้เรือ พร้อมทำการขจัดคราบน้ำมันเร่งวางทุ่นล้อมน้ำมัน บริเวณเรือที่จม พร้อมประกาศเป็นพื้นที่อันตราย” นายภูริพัฒน์ กล่าว
“ห้ามเดินเรือเข้าพื้นที่ที่ทำการกู้เรือ หรือทำการรื้อ ขนย้าย หรือทำลายซากเรือที่จม ไม่น้อยกว่าระยะ 1 ไมล์ทะเล ตั้งแต่วันที่ 23 มกราคม 2565 ถึงจนกว่าจะกู้เรือแล้วเสร็จ พร้อมมีคำสั่งห้ามใช้เรือจนกว่าผู้ครอบครองเรือจะแก้ไขปรับปรุงเรือให้มีสภาพเรียบร้อยปลอดภัยแก่การใช้งาน ทั้งนี้ การดำเนินการกู้เรือและขจัดคราบน้ำมันรั่วไหล ต้องเป็นไปตามมาตรการและแผนการดำเนินการด้านความปลอดภัยที่กรมเจ้าท่ากำหนด” นายภูริพัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน พล.ร.ท. ปกครอง มนธาตุผลิน โฆษกกองทัพเรือ ระบุว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้น การรั่วไหลของน้ำมันยังมีปริมาณไม่มากนัก และกองทัพเรือพร้อมให้การสนับสนุนในการแก้ไขปัญหาน้ำมันปนเปื้อนในทะเล
“จากการตรวจสอบพบว่ามีความรุนแรงระดับ 1 น้ำมันรั่วไหลมีขนาดเล็ก ไม่เกิน 20 ตัน ซึ่งกรมเจ้าท่าจะเป็นหน่วยควบคุมและกำกับการปฏิบัติในภาพรวม ทั้งนี้ หากกรณีน้ำมันรั่วไหลเพิ่มมากขึ้น เป็นขนาดกลาง ตั้งแต่ 20-1,000 ตัน ซึ่งเข้าสู่ความรุนแรงระดับ 2 จะประสานให้กองทัพเรือจัดตั้งศูนย์ควบคุมการปฏิบัติการ รับผิดชอบกำหนดแผนและยุทธวิธีในการขจัดคราบน้ำมัน ดำเนินการกู้เรืออับปางโดยเร็ว โดยจะทำการเก็บกู้น้ำมัน เป็นลำดับแรก ภายใน 7 วัน หลังจากนั้นจะให้กู้เรือภายในเวลา 15 วัน” พล.ร.ท. ปกครอง กล่าว
ต่อกรณีที่เกิดขึ้น นายปัญญา แขสวัสดิ์ นักวิจัยทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ชี้ว่า หากการรั่วไหลของน้ำมันเป็นไปตามที่หน่วยงานรัฐชี้แจงคือ 20 ตันอาจมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่มาก แต่จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งแก้ไข
“ถ้ารั่วไหลในทะเลนั้นมีปริมาณไม่เกิน 20 ตัน วงความเสียหายจะไม่มาก ผลกระทบในระยะยาวอาจยังไม่ชัดเจน แต่ก็ส่งผลกระทบแน่นอนกับสัตว์ทะเล การแก้ไขปัญหาที่ควรทำอย่างเร่งด่วนคือ ใช้ทุ่นล้อมพื้นที่ เพื่อไม่ให้น้ำมันกระจาย และดูดน้ำมันออกให้ได้ในปริมาณมากที่สุด แน่นอนว่าไม่สามารถจัดการได้ทั้งหมด แต่เป็นวิธีที่ใช้ได้ผลที่สุดในระยะเวลาอันสั้น” นายปัญญา กล่าวต่อเบนาร์นิวส์
ทั้งนี้ เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อไปยัง บริษัท แหลมทองค้าน้ำมันประมงไทย จำกัด เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมแล้ว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
ล่าสุด กองทัพเรือระบุว่า ได้เตรียมเรือหลวงสงขลา เรือหลวงมันนอก เรือหลวงแสมสาร และเรือหลวงบางระจัน สำหรับภารกิจแก้ไขสถานการณ์เรืออับปาง และน้ำมันรั่วแล้ว โดยพร้อมดำเนินการหากสถานการณ์ถึงจุดที่เหมาะสม
ถนอม เอกเจริญโชติ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน