สว. ยื่นศาล รธน. ถอด เศรษฐา พ้นนายกฯ ปมตั้ง พิชิต เป็น รมต.

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.05.17
กรุงเทพฯ
สว. ยื่นศาล รธน. ถอด เศรษฐา พ้นนายกฯ ปมตั้ง พิชิต เป็น รมต. นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ขณะเดินทางเยือนทำเนียบนายกรัฐมนตรีในกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี วันที่ 13 มีนาคม 2567
รอยเตอร์

นายดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม สมาชิกวุฒิสภา (สว.) เปิดเผยว่า สว. 40 คนได้เข้าชื่อร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน สิ้นคุณสมบัติการเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่จากการเสนอชื่อ นายพิชิต ชื่นบาน ที่มีประวัติถูกศาลสั่งจำคุกให้เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี 

“มีประเด็นที่ทักท้วงต่อการตั้งนายพิชิตให้ดำรงตำแหน่ง แต่ทำไมนายกฯ ยังเสนอชื่อและโปรดเกล้าฯ ให้นายพิชิตดำรงตำแหน่งในตำแหน่งรัฐมนตรีอีก ดังนั้นจึงถือเป็นความรับผิดชอบของนายกฯ กรณีของนายพิชิตมีข้อเท็จจริงที่ปรากฏให้เห็นว่า ละเมิดอำนาจศาล และศาลสั่งให้จำคุก” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวกับสื่อมวลชน

สว. ร้องเรื่องดังกล่าวผ่าน นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 ตามอำนาจของ มาตรา 82 ของรัฐธรรมนูญ ที่ สว. สามารถเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยความสิ้นสุดลงของตำแหน่งรัฐมนตรีได้ 

“คำบรรยายรายละเอียดข้อเท็จจริงของศาลที่ชัดเจนว่า นายพิชิตมีพฤติกรรมทุจริต ติดสินบนต่อกระบวนการยุติธรรม และถูกนำเรื่องเข้าสู่สภาทนายความให้ลบชื่อจากการเป็นทนายความ ดังนั้นจึงเป็นกรณีที่ชัดแจ้งว่าไม่มีความซื่อสัตย์เป็นที่ประจักษ์ และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง” นายดิเรกฤทธิ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายดิเรกฤทธิ์ เปิดเผยว่า สว. เชื่อว่า นายพิชิตมีพฤติกรรมที่เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 170 (4) และ (5) ประเด็นที่ว่าด้วยขาดความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรง โดยสำนักงานวุฒิสภาได้ส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญแล้ว และจากสำเนาเอกสารทราบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้รับเรื่องดังกล่าวไว้แล้วในเวลา 10.20 น. ของวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 อย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดพิจารณาคำร้องในวันที่ 23 พฤษภาคม 2567 แต่ยังไม่มีกำหนดการอ่านคำวินิจฉัย

ด้าน นายเศรษฐา และนายพิชิต ยังไม่ได้แสดงความเห็นต่อสื่อมวลชนในเรื่องนี้ แต่ระบุว่า ไม่มีความกังวลหาถูกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพราะได้มีการหารือกับสำนักงานกฤษฎีกาแล้ว

“ต้องให้โอกาสกับคนที่ถูกพาดพิง (พิชิต) ด้วยเหมือนกัน แต่ทุกอย่างเป็นไปตามกฎหมาย” นายเศรษฐา กล่าวต่อสื่อมวลชนเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2567 

กรณีดังกล่าว สืบเนื่องจาก นายพิชิต ถูกดำเนินคดีข้อหา ละเมิดอำนาจศาล เพราะพยายามติดสินบนเจ้าหน้าที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เป็นเงิน 2 ล้านบาท เมื่อปี 2551 ระหว่างทำหน้าที่ทนายความให้กับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีและภรรยา ในคดีเกี่ยวกับการซื้อขายที่ดินย่านรัชดาภิเษก 

คดีดังกล่าวถูกสื่อมวลชนเรียกว่า “คดีถุงขนม” เนื่องจาก เงินสินบนที่ว่าถูกบรรจุในถุงกระดาษและอ้างว่าเป็นของฝากสำหรับเจ้าหน้าที่ โดยคดีนี้ศาลตัดสินให้จำคุกนายพิชิตเป็นเวลา 6 เดือนไม่รอลงอา
ญา ฐานละเมิดอำนาจศาล โดยการให้สินบนเจ้าพนักงาน 

เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567 นายพิชิต ไชยมงคล แกนนำ เครือข่ายนักศึกษาประชาชนปฏิรูปประเทศไทย (คปท.) และพวกได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติของ นายพิชิต ชื่นบาน ในกรณีที่เคยถูกดำเนินคดีกรณีทุกจริตเช่นกัน

ต่อประเด็นดังกล่าว ผศ. ปิยพงษ์ พิมพลักษณ์ สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเรียกร้องถอดถอนนายกฯ เป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่ต้องพิจารณาให้รอบคอบว่ามีมูลเหตุอันควรเพียงพอหรือไม่ เพราะการถอดถอนผู้นำประเทศเป็นเรื่องใหญ่ 

"คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีนี้ ผมคิดว่าแม้อาจไม่ถึงขั้นทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการเมืองใหญ่ แต่จะเป็นบรรทัดฐานสำคัญเกี่ยวกับคุณสมบัติของรัฐมนตรี โดยเฉพาะประเด็นหลักนิติธรรม นอกจากนี้ยังบ่งชี้ปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องปฏิรูประบบการสรรหาให้โปร่งใสและมีคุณธรรมมากขึ้น" 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง