ผบ.ตร. สั่งตรวจสอบกรณีตำรวจซ้อมผู้ต้องหาเสียชีวิตที่ สภ.เมืองนครสวรรค์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2021.08.24
กรุงเทพฯ
ผบ.ตร. สั่งตรวจสอบกรณีตำรวจซ้อมผู้ต้องหาเสียชีวิตที่ สภ.เมืองนครสวรรค์ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พูดคุยกับสื่อมวลชนระหว่างการแถลงข่าว ที่สำนักงานตำรวจภูธรภาค 8 เกาะภูเก็ต วันที่ 8 สิงหาคม 2564
เอพี

พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กล่าวในการแถลงวันอังคารนี้ว่า ได้สั่งการให้สำนักงานจเรตำรวจตรวจสอบกรณีที่มีการเผยแพร่วิดีโอ ซึ่งเชื่อว่าเป็นเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจ สถานีตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์ ซ้อมทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดจนเสียชีวิต เหตุเกิดเมื่อต้นเดือนสิงหาคมนี้ โดยหากพบว่ากระทำผิดจริง จะไม่ปกป้องอย่างแน่นอน

ในอังคารนี้ นายษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ ได้โพสต์คลิปวิดีโอเหตุการณ์ที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจหลายนายใช้ถุงพลาสติกคลุมหัวผู้ชายรายหนึ่ง ที่มีการระบุว่าถูกจับเพราะค้ายาเสพติด อยู่ในสภาพที่ถูกใส่กุญแจมือและถูกทรมานจนสิ้นสติบนพื้นห้อง ซึ่งนายษิทรา ระบุว่าได้คลิปวิดีโอมาจากตำรวจใน สภ.เมืองนครสวรรค์ ที่ฝากให้ช่วยส่งหลักฐานนี้ให้ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  

จากนั้น พล.ต.อ. สุวัฒน์ ได้แถลงข่าวที่กองบัญชาการตำรวจรนครบาลว่า ตนได้สั่งการให้สำนักงานจเรตำรวจสอบสวนเหตุการณ์นี้ และนำตัวผู้กระทำมาลงโทษ ซึ่งในเบื้องต้นมีเจ้าหน้าที่ตำรวจ 13 นาย ที่เข้าข่ายมีส่วนเกี่ยวข้อง และได้สั่งการไปยังกองบังคับการตำรวจภูธรภาคที่ 6 และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดูแลไม่ให้ตำรวจที่เกี่ยวข้องกับกรณีนี้หลบหนีได้

“ดูจาก (วิดีโอ) ที่เห็นผมคิดว่ายังไงก็ต้องเป็นอย่างนั้น (กระทำผิดจริง) วิญญูชนทั่วไปก็สามารถจะตัดสินได้ เราไม่ได้บอกว่าเขาผิดนะ แต่จากพยานหลักฐานเราเชื่อ” พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าว และระบุอีกว่าในการสอบสวนนั้นจะทำทั้งทางวินัยและอาญา

“ฝากเป็นอุทาหรณ์ให้กับเพื่อนข้าราชการตำรวจทุกคนดูไว้เป็นตัวอย่าง ทำอะไรที่ไม่ดีไม่มีทางที่จะพ้นไปได้เลย แล้วสิ่งที่ตามมามันเสียหาย ผมเชื่อว่าตำรวจส่วนใหญ่ยังดีอยู่ เราไม่สามารถจะเอาคนแบบนี้ไว้ได้” พล.ต.อ. สุวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

ในตอนค่ำของวันเดียวกัน ได้มีการเผยแพร่คำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ 407/2564 ซึ่ง พล.ต.อ. สุวัฒน์ ได้ให้ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ อุทธนผล ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรจังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นชายในวิดีโอ ออกจากราชการไว้ก่อน เพื่อรอฟังผลการสอบสวนพิจารณาทางวินัย มีผลตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2564 เป็นต้นไป 

ขณะที่ พ.ต.อ. ธิติสรรค์ เองยังไม่ได้ให้ข้อมูล หรือให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนในกรณีนี้ และยังไม่มีรายงานว่าถูกจับกุมตัว

การเปิดโปงเหตุการณ์ซ้อมทรมาน เริ่มมาจากเฟซบุ๊กเพจ “ทนายคลายทุกข์” ได้เปิดเผยในวันที่ 22 สิงหาคม 2564 ว่า ได้รับการร้องเรียนจากเจ้าหน้าที่ตำรวจชั้นผู้น้อยว่า เมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2564 เจ้าหน้าที่ตำรวจภูธรเมืองนครสวรรค์จับผู้ต้องหายาเสพติดสองคนผัวเมียมารีดเงินสองล้านบาท โดยเอาถุงดำคุมหัวจนขาดใจตายและปล่อยผู้ต้องหาผู้หญิงไปโดยไม่ดำเนินคดี

ต่อมาเจ้าหน้าที่ ระบุชื่อผู้เสียชีวิตว่าคือ นายจิระพงศ์ ธนะพัฒน์ อายุ 24 ปี

จากนั้นในวันอังคาร เฟซบุ๊กเพจ “ษิทรา เบี้ยบังเกิด เลขาธิการมูลนิธิทีมงานทนายประชาชนฯ” ได้เผยแพร่วิดีโอที่จับภาพชายผมเกรียน 4 คน พยายามบังคับข่มขู่ ชาย 1 คน โดยการเอาถุงพลาสติกคลุมหัว เอามือไขว้หลัง ใส่กุญแจมือ และใช้หัวเข่ากดหลังชายคนนั้นลงกับพื้น เมื่อชายคนดังกล่าวหมดสติได้ใช้น้ำราด แต่ไม่ฟื้น โดยสถานที่เกิดเหตุมีลักษณะคล้ายสถานีตำรวจ

นอกจากนั้น ยังมีการเผยแพร่หนังสือรับรองการตายเบื้องต้น ซึ่งออกโดยแพทย์ของโรงพยาบาลสวรรค์ประชารักษ์ มีการระบุว่า นายจิระพงศ์ เสียชีวิตจากพิษของแอมเฟตามีน เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2564

นักวิชาการชี้ต้องปฏิรูปสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

นายซาไล บาวี นักวิชาการสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลมากกว่าปรากฎการณ์นี้คือ สังคมไทยอาจคุ้นชินกับเหตุการณ์ลักษณะนี้แล้ว เพราะที่ผ่านมากฎหมายไม่เคยเอาผิดกับตำรวจได้ ขณะที่ตำรวจชั้นผู้น้อยก็ทำอะไรไม่ได้มาก

“โครงสร้างทั้งหมดเป็นก้อนปัญหาใหญ่ที่ไม่มีทางแก้ไข ทางออกคือ องค์กรตำรวจต้องปรับตัวให้มีความเป็นวิชาชีพมากกว่านี้ มีการกระจายอำนาจตำรวจออกจากส่วนกลาง เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบต่อชุมชนนั้น ๆ ยุติการรับส่วยโยกย้าย เพราะเป็นต้นตอที่ทำให้เกิดปัญหาการทุจริตที่ไม่รู้จบ” นายซาไล กล่าวผ่านโทรศัพท์

ด้าน นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การซ้อมทรมานผู้ต้องหาหรือผู้ต้องสงสัย โดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเป็นสิ่งที่ถูกพูดถึงมาโดยตลอด แต่มักไม่มีหลักฐานที่สามารถเอาผิดกับเจ้าหน้าที่ได้

“การทรมานที่ใช้ถุงครอบหัว ทั้งจากตำรวจหรือทหาร ได้ยินจากผู้เสียหายมานานแล้ว ในอดีตพอมีเรื่องแบบนี้หน่วยงานความมั่นคงก็จะไม่ยอมรับ โดยเฉพาะในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ครั้งนี้อาจเหมือนยอดภูเขาน้ำแข็งที่โผล่ออกมา ถือว่าเป็นหลักฐานที่ชัดเจน ที่ผ่านมาองค์กรสิทธิฯ เคยเรียกร้องให้ห้องสอบสวนหรือที่ควบคุมตัวควรมีกล้องวงจรปิด เพื่อความโปร่งใสของเจ้าหน้าที่ และเป็นหลักฐานหากมีกรณีที่เชื่อว่ามีการซ้อมทรมานผู้ต้องหา หรือผู้ต้องสงสัย แต่ข้อเรียกร้องก็ไม่เคยเป็นผล” นางอังคณา กล่าว

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง