วันนอร์ ยืนยันเลือกนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.07.05
กรุงเทพฯ
วันนอร์ ยืนยันเลือกนายกรัฐมนตรี 13 ก.ค. นี้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล พบผู้สนับสนุน หลังลงคะแนนเสียงเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร นอกรัฐสภา กรุงเทพฯ วันที่ 4 กรกฎาคม 2566
อธิษฐ์ พีระวงศ์เมธา/รอยเตอร์

นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยในวันพุธนี้ว่า การเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม 2566 ในขณะที่วุฒิสมาชิกบางส่วนย้ำว่าจะไม่โหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี หากว่าพรรคก้าวไกลไม่ยอมถอยเรื่องการเสนอแก้กฎหมายหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์

ด้าน นายธนกร วังบุญคงชนะ รองหัวหน้า พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) เผยว่า พรรคยังไม่สรุปว่าจะส่งตัวแทนลงชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีกับนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ตัวแทนจากพรรคก้าวไกลหรือไม่

นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวกับสื่อมวลชนที่รัฐสภาว่า หลังจากได้ปรึกษากับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา และเจ้าหน้าที่รัฐสภาแล้ว จึงได้ข้อสรุปในเรื่องวันเลือกนายกรัฐมนตรี

“การประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีจะมีขึ้นในวันที่ 13 กรกฎาคม เวลา 09.30 น. ซึ่งได้หารือกับ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เรียบร้อยแล้ว โดยทางสำนักงานเลขาธิการสภาจะออกหนังสือเชิญสมาชิกทั้งสองสภามาประชุมร่วมกัน” นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าว

“ส.ส. ซึ่งมีหน้าที่สำคัญในการออกกฎหมายและพิจารณางบประมาณนั้น เขาได้ร่วมกันที่จะตั้งรัฐบาลแล้ว 312 เสียง ซึ่งเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การเลือกรองประธานคนที่ 1 ได้คะแนน 312 เสียง อันนี้ก็จะเป็นหลัก แต่การเลือกนายกฯ ไม่ใช่เสียงข้างมาก 312 เสียงแล้วจะได้เป็น เพราะต้องได้ 376 เสียงเป็นอย่างน้อย ซึ่งยังขาดอีก 64 คะแนน และหากไม่ได้ก็ต้องโหวตให้ได้ 376 เสียง และหากวันแรกไม่สามารถถือว่าการประชุมวันนั้นต้องจบ และนัดโหวตนายกฯ ในนัดครั้งต่อไป” ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุ

ปัจจุบัน พรรคก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ได้มือ ส.ส. 312 คน (ส.ส. ก้าวไกลลาออก 1 คน) จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ ส.ว. แต่งตั้งที่ส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการทหาร และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย

ทำให้หากพิธาต้องการเป็นนายกรัฐมนตรี พรรคร่วมรัฐบาลจำเป็นต้องได้รับเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 376 เสียงจาก 750 เสียงในที่ประชุมร่วมรัฐสภา โดยก้าวไกล ยืนยันมาตลอดสัปดาห์ว่า ได้เสียง ส.ว. ใกล้ครบตามที่ต้องการแล้ว

ในวันเดียวกัน นายเสรี สุวรรณภานนท์ สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ระบุว่า ตนเองจะไม่เลือกนายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี เพราะพรรคก้าวไกลต้องการแก้ไข ม. 112

“นายพิธาควรแสดงจุดยืน หากไม่ยอมถอยเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ผมก็จะไม่ถอยเช่นกัน” นายเสรี กล่าว

“การซื้อเสียง ส.ว. เพื่อแลกโหวตนั้นไม่ใช่จะเกิดแค่วงเล็ก ๆ เพราะต้องได้เสียงถึง 60-70 เสียง หากเขาจะซื้อแค่ 10-20 เสียง จะไม่สามารถการันตีว่าจะได้รับเสียงโหวตที่เพียงพอ ดังนั้น หากทำจริง (จ่ายผลประโยชน์ให้ ส.ว.) เชื่อว่าจะมีการบันทึกหลักฐานไว้คงไม่ยอมให้การจ่ายผลประโยชน์มูลค่ามหาศาลกันฟรี ๆ หรือไร้หลักฐาน…” นายเสรี กล่าวถึงการคาดการณ์ถึงการซื้อเสียงสมาชิกวุฒิสภา

สำหรับประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรี ดร. ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า หากก้าวไกล โน้มน้าว ส.ว. มาเลือกนายพิธาเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้ อีกทางเลือกหนึ่งอาจเป็นการดึงพรรคภูมิใจไทยมาร่วม โดยพรรคภูมิใจไทย มี ส.ส. รวม 71 คน

“เชื่อว่าเพื่อไทยจะไม่กล้าสวนกระแส เพราะจะมีผลกับคะแนนนิยมของพรรค และเพื่อไทยจะถูกแรงกดดันมหาศาลตามมา ก้าวไกลก็เชื่อว่าจะสามารถล็อบบี้ ส.ว. บางส่วนได้ โดยเฉพาะที่มาจากภาคธุรกิจ ดังนั้นโอกาสยังเป็นของพิธา เชื่อว่าพรรคร่วมจะดันให้ถึงที่สุด”​ ดร. ณัฐกร กล่าว

“หากภูมิใจไทยมีส่วนร่วมในรัฐบาล เรื่องกัญชานั้นเป็นประเด็นแน่นอน แต่ก็ยังพอที่จะพูดคุยได้ คือหลายพรรคเห็นตรงกันเรื่องกัญชาทางการแพทย์ คิดว่าไม่น่าจะใช่เรื่องใหญ่ แต่ประเด็นหลักอยู่ที่การแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งภูมิใจไทยก็ชัดว่าจะไม่แตะ ถ้าต้องร่วมรัฐบาลกันจริง ๆ เรื่องนี้ก็พูดได้ว่าเป็นเงื่อนไขหลักไปเลย” ดร. ณัฐกร ระบุ

คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง