กกต. รับไต่สวนพิธาผิดมาตรา 151
2023.06.12
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กล่าวในวันจันทร์นี้ ถึงวิดีโอการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ที่มีการนำมาเปิดเผยว่าไม่ได้ประกอบกิจการสื่อ ซึ่งไม่ตรงกับบันทึกประชุมผู้ถือหุ้น ว่ามีคณะกรรมการสืบสวนไต่สวนของกกต. รับผิดชอบอยู่แล้ว เพื่อพิจารณาคดีคุณสมบัติในส่วนของคดีอาญาตามมาตรา 151 ของกฎหมายเลือกตั้ง
คณะกรรมการสืบสวนไต่สวน คงจะเรียกข้อมูลในส่วนวิดีโอดังกล่าว จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาพิจารณาด้วย
“เนื่องจากกรณีคำร้องมีรายละเอียดเกี่ยวกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ และมีหลักฐานพอสมควร และมีข้อมูลเพียงพอที่จะสืบสวนไต่สวนต่อไปว่า นายพิธา เป็นบุคคลผู้มีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง… อันเข้าข่ายเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนมาตรา 42(3) และมาตรา 151” นายอิทธิพร ระบุ
ขณะที่ พรรคก้าวไกลเรียกร้องให้ไอทีวี ชี้แจงกรณีวิดีโอดังกล่าว ในประเด็นการดำเนินธุรกิจสื่อมวลชน
สืบเนื่องจากก่อนหน้านี้ วันที่ 10 พฤษภาคม 2566 นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ ยื่นคำร้องต่อ กกต. ให้ตรวจสอบนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคก้าวไกล กรณีการถือหุ้นบริษัท ไอทีวี ซึ่งเคยประกอบธุรกิจสื่อมวลชน 4.2 หมื่นหุ้น ว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญเรื่องคุณสมบัติผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) หรือไม่
โดยนายเรืองไกรใช้หลักฐานเป็นเอกสารบันทึกการประชุมที่ ผู้บริหารไอทีวี ระบุว่า “ปัจจุบัน บริษัทยังดำเนินกิจการอยู่ ตามวัตถุประสงค์ของบริษัท และมีการส่งงบการเงินและยื่นแบบภาษีเงินได้นิติบุคคลตามปกติ”
ในวันศุกร์ก่อนหน้านี้ กกต. มีมติเป็นเอกฉันท์ 6 เสียง ไม่รับคำร้องกรณีการถือหุ้นไอทีวีของนายพิธา เนื่องจากคำร้องถูกยื่นเกินระยะเวลาตรวจสอบคุณสมบัติ แต่ กกต. จะตั้งคณะกรรมการไต่ส่วนในประเด็นที่ว่า นายพิธา สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. ทั้งที่รู้ว่าตนเองขาดคุณสมบัติหรือไม่ ตามมาตรา 42(3) และมาตรา 151 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561
มาตรา 151 ดังกล่าวมีว่า ผู้ใดรู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเนื่องจากขาดคุณสมบัติ หรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. ได้สมัครรับเลือกตั้ง หรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อ เพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี และปรับตั้งแต่ 2 หมื่นถึง 2 แสนบาท และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งของผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี
อย่างไรก็ตาม เบนาร์นิวส์ พยายามสอบถาม กกต. เกี่ยวกับกรณีการเปิดหลักฐานดังกล่าว ซึ่งเจ้าหน้าที่ประชาสัมพันธ์ของ กกต. ระบุว่า ยังไม่มีได้สรุปว่าจะดำเนินการอย่างไร ขณะที่ เบนาร์นิวส์ไม่สามารถติดต่อนายเรืองไกร ในฐานะผู้ร้องเรื่องดังกล่าวได้
ข้อกังขาในรายงานการประชุม
บันทึกการประชุมดังกล่าว กลายเป็นประเด็นถกเถียงในสังคม หลังจากที่ในคืนวันอาทิตย์ที่ผ่านมา รายการข่าวสามมิติ โดย น.ส. ฐปณีย์ เอียดศรีไชย ได้เปิดเผยวิดีโอบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นที่ผู้บริหารไอทีวี ระบุว่า “ตอนนี้ บริษัทยังไม่มีการดำเนินการใด ๆ นะครับ ก็รอผลคดีความให้สิ้นสุดก่อนนะครับ” ซึ่งขัดแย้งกับเอกสารบันทึกการประชุม
สำหรับประเด็นนี้ นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาธิการพรรคก้าวไกล ได้แถลงเรียกร้องให้บริษัท อินทัช และไอทีวี ชี้แจงเรื่องดังกล่าว โดยชี้ว่า อาจมีการแก้ไขข้อความบันทึกการประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ในวันที่ 26 เมษายน 2566 เพื่อใช้ในการร้องกรณีของนายพิธา
“ทั้งพฤติการณ์ ข้อเท็จจริง มีความไม่สอดคล้องและขัดแย้งกันเองเป็นอย่างยิ่งกับรายงานการประชุมผู้ถือหุ้น การดำเนินการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในบันทึกรายงานการประชุมดังกล่าว จึงไม่น่าจะใช่ความผิดพลาดโดยบังเอิญ หรือการจัดทำรายงานการประชุมตามปกติ เมื่อวิญญูชนได้ทราบ ย่อมเข้าใจได้ว่านี่เป็นการจงใจแก้ไขให้สอดรับกับเอกสารต่าง ๆ ที่ได้ตบแต่งให้เกิดขึ้นในภายหลังใช่หรือไม่” นายชัยธวัช ระบุ
“แม้จะมีความพยายามจากบุคคลบางกลุ่มใช้ประเด็นหุ้นไอทีวี ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หยุดยั้งการดำรงตำแหน่งของหัวหน้าพรรคก้าวไกลและการจัดตั้งรัฐบาลของประชาชน แต่พรรคก้าวไกลเชื่อว่าอำนาจของประชาชนจะได้รับชัยชนะในที่สุด และ กกต. และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างถูกต้องตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญและครรลองประชาธิปไตยต่อไป” นายชัยธวัช กล่าว
ขณะเดียวกัน นายคิมห์ สิริทวีชัย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท อินทัช โฮลดิงส์ จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทผู้ถือหุ้น 52.92 เปอร์เซ็นต์ของบริษัท ไอทีวี ได้ออกเอกสารแจ้งถึงกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ว่ากำลังตรวจสอบเรื่องดังกล่าว
“ทางบริษัทได้รับทราบข้อมูล และได้ให้ทางคณะกรรมการและฝ่ายจัดการของไอทีวี ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวที่เกิดขึ้นและหากมีประเด็นใด ๆ ที่จะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง ทางไอทีวีจะดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อให้มีความโปร่งใสเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลและกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง” เอกสาร ระบุ
ขณะที่ นายวิโรจน์ ลักขณาอดิศร ว่าที่ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ระบุว่า “บริษัท ไอทีวี ควรต้องเร่งชี้แจงข้อสงสัยต่าง ๆ ข้างต้น ให้สังคมทราบโดยกระจ่าง จะเงียบเนียนไม่ได้ครับ เพราะการกระทำในลักษณะนี้ อาจเข้าข่ายการกระทำความผิดในมาตรา 216 ของ พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด ซึ่งมีโทษจำคุกถึง 5 ปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เชียวนะครับ”
ไอทีวี เริ่มออกอากาศครั้งแรกในวันที่ 1 กรกฎาคม 2539 ต่อมาได้จดทะเบียนเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อปี 2541 และดำเนินการออกอากาศเรื่อยมา ต่อมามีคดีความเรื่องการสัมปทาน ซึ่งนำไปสู่การยุติการออกอากาศ ตั้งแต่ 24.00 น. วันที่ 7 มีนาคม 2550 หลังการบอกเลิกสัญญาร่วมงานของสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี
ปัจจุบัน บริษัท ไอทีวี ไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อแล้ว แต่ยังมีสถานะเป็นบริษัท เนื่องจากคดีที่บริษัทเป็นโจทก์ฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับ สำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ยังคงดำเนินอยู่
สหรัฐฯ เฝ้าดูอย่างใกล้ชิด
เมื่อต้นเดือนมิถุนายน เคิร์ท แคมป์เบลล์ ผู้ประสานงานด้านอินโดแปซิฟิก สภาความมั่นคงแห่งชาติสหรัฐอเมริกา กล่าวกับสถาบันฮัดสันว่า สหรัฐฯ ติดตามการเลือกตั้งของไทยอย่างละเอียด
“นี่เป็นขั้นตอนที่ละเอียดอ่อนในแง่ของการจัดตั้งรัฐบาล เป้าหมายของเราคือการรักษาความสัมพันธ์ทวิภาคีที่แน่นแฟ้น” เคิร์ท กล่าว โดยเสริมว่า ไทยเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาที่เก่าแก่ที่สุดในภูมิภาค และหลายบริษัทได้ลงทุนในประเทศไทย
“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเมืองไทยไม่มั่นคงและซับซ้อน เป้าหมายของเราคือการสนับสนุนรัฐบาลประชาธิปไตยที่มีประสิทธิภาพและเสถียรภาพ แต่นี่ก็เป็นช่วงเวลาที่ละเอียดอ่อนมาก” เคิร์ท กล่าวเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน
สำหรับประเด็นที่เกิดขึ้น ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม ชี้ว่า อาจมีความพยายามที่จะสกัดไม่ให้นายพิธา และพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล
“แม้เราจะเห็นความพยายามของขบวนการต่าง ๆ ที่พยายามสกัดกั้นไม่ให้พิธาและพรรคก้าวไกลได้เป็นรัฐบาล แต่กับกรณีไอทีวี คิดว่ามีความประมาทประชาชนและสื่อมากเกินไปหน่อย การสร้างหลักฐานปลอมเป็นเรื่องใหญ่ และคาดว่าพรรคก้าวไกล รวมถึงว่าที่พรรคร่วมรัฐบาลก็คงไม่ปล่อยผ่านเรื่องนี้ไปง่าย ๆ” ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ปัญหาก็คือ จะทำให้การตั้งรัฐบาลมีความยืดเยื้อไปอีก และนำมาซึ่งความไม่พอใจของประชาชน ถามว่ามีโอกาสที่ประชาชนจะลงถนนอีกครั้งไหม ต้องบอกว่ามีแน่นอน ยิ่งเจอกรณีที่ไม่เป็นธรรมแบบไอทีวี ผู้คนยิ่งสะสมความโกรธ และอาจกลายเป็นม็อบใหญ่เหมือนตอนที่พรรคอนาคตใหม่ถูกยุบ”
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญเคยวินิจฉัยให้นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ สิ้นสมาชิกภาพ ส.ส. ตามรัฐธรรมนูญ หลังพบว่า นายธนาธรถือหุ้นบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทที่ผลิตนิตยสาร “Who” แม้ว่า นิตยสาร Who จะเลิกผลิตไปแล้วตั้งแต่ก่อนที่นายธนาธรจะได้รับเลือกตั้งให้เป็น ส.ส. ก็ตาม
โดยหลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ก้าวไกล มีสถานะเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล หลังสามารถคว้าที่นั่ง ส.ส. อย่างไม่เป็นทางการมากที่สุด ถึง 152 ที่นั่ง ทำให้คาดหมายว่า นายพิธาจะถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของประเทศไทย
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน