พิธาพ่ายโหวตนายกฯ รอบแรก
2023.07.13

นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ยังไปไม่ถึงฝั่งฝันที่จะเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่ 30 ของประเทศไทย เพราะไม่ได้คะแนนเสียงสนับสนุนจากที่ประชุมสองสภาถึงกึ่งหนึ่ง หลังจากถูกอภิปรายถึงความพยายามการเสนอแก้ ม.112 อย่างดุเดือด
นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานรัฐสภา กล่าวรายงานผลการนับคะแนนว่า นายพิธาได้รับคะแนนเสียงสนับสนุนจาก สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เพียง 324 เสียง ไม่เห็นชอบ 182 เสียง และงดออกเสียง 199 คน
“เป็นอันว่านายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ได้คะแนนเห็นชอบไม่ถึงกึ่งหนึ่งของสมาชิกที่มีในสองสภา ดังนั้นนายพิธาจึงไม่ได้รับการเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี” นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา กล่าวก่อนปิดการประชุม
นายพิธาต้องการเสียงสนับสนุนอย่างน้อย 375 เสียง จาก 749 เสียงของจำนวนสมาชิกในปัจุบัน ซึ่งเมื่อวานนี้มี ส.ว. ลาออกหนึ่งคน
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าการประชุม นายวันมูหะมัดนอร์ กล่าวในก่อนหน้านี้ว่าพรรคร่วมรัฐบาลสามารถเสนอชื่อนายพิธาอีกได้ อีกในวันที่ 19 กรกฎาคม นี้
“เรายอมรับ แต่เรายังไม่ยอมแพ้ ยอมรับว่ายังไม่ถึง 376 ได้ออกมา 324 ก็ต้องยอมรับว่ามีการกดดันวุฒิสภาเยอะ ที่ไม่มาประชุมก็เกือบ 40 กว่าคน ก็อาจไม่ตรงกับที่เราคาดการณ์ไว้ เราจะใช้เวลาในการหายุทธศาสตร์ในการรวบรวมเสียงครั้งต่อไป เราได้สัญญากับประชาชนไว้อย่างไร เราก็ทำอย่างนั้น ตอนนี้ก็มุ่งหน้าสู่การลงมติครั้งที่ 2” นายพิธา กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่รัฐสภา
ปัจจุบัน พรรคก้าวไกล และเพื่อไทยจับมือกับพันธมิตรทั้งหมด 8 พรรค ได้มือ ส.ส. 312 คน จาก ส.ส. ทั้งหมด 500 คน ยืนยันว่าจะเสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่เขียนโดย คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้อำนาจ ส.ว. 250 คน ที่ถูกแต่งตั้งโดย คสช. เองซึ่งส่วนใหญ่เป็นอดีตข้าราชการทหาร และฝ่ายอนุรักษ์นิยม ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีด้วย
แต่ในวันนี้ สมาชิกวุฒิสภาที่มาจากการคัดเลือกตามกระบวนการของรัฐธรรมนูญ 2560 มาประชุมเพียง 216 คน โดย ส.ว. ที่มาจากตำแหน่งประจำ เช่น พลเอก ณรงพันธุ์ จิตแก้วแท้ ผู้บัญชาการทหารบก, พลเอก เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการกองทัพไทย และผู้บัญชาการเหล่าทัพอื่น ๆ ต่างไม่เข้าร่วมประชุม ขณะที่นายทหารเก่าส่วนใหญ่งดออกเสียง หรือไม่เห็นชอบ
โจมตีพิธาดุเดือด
การประชุมร่วมรัฐสภา เริ่มขึ้นในเวลา 09.30 น. โดย นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทยเป็นผู้เสนอชื่อ นายพิธา เป็นนายกรัฐมนตรี โดยไม่มีการเสนอผู้อื่นแข่ง
หลังจากนั้น ส.ส. และ ส.ว. ได้ผลัดกันอภิปรายเกี่ยวกับคุณสมบัติของนายพิธา โดย ส.ว. และ ส.ส. จากพรรคซึ่งเคยร่วมรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา พยายามโจมตีนายพิธา และพรรคก้าวไกล อย่างเผ็ดร้อนในประเด็นการแก้ไข ม.112 เป็นเหตุให้ไม่ไว้วางใจที่จะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรี
“ถ้าท่านปล่อยให้คนด่าแล้วไม่มีกฎหมายคุ้มครองสถาบันพระมหากษัตริย์ ประเทศไทยจะยิงกันหมด ผมอาจจะขอเขาว่า ขอออกกฎหมายใหม่ยิงคนที่หมิ่นสถาบันแล้วไม่ติดคุก” นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส. อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายตอนหนึ่ง
“ถ้าพรรคการเมืองที่มีพรรคก้าวไกล เป็นแกนนำในการจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จ พรรคภูมิใจไทยพร้อมที่จะเป็นฝ่ายค้านทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลอย่างมีคุณภาพ และจะคัดค้านการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 อย่างเต็มที่ ท่านอ้างว่าท่านต้องทำเพื่อรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ ด้วยเจตนาดี ขอเรียนตรง ๆ ว่า ผมและพรรคภูมิใจไทย ไม่เชื่อ เพราะพฤติกรรมต่าง ๆ ที่ผ่านมาทำให้เราเห็นชัดเจน”
ขณะที่ นายศาสตรา ศรีปาน ส.ส. สงขลา พรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวเตือนนายพิธาถึงผลเสียที่อาจจะตามมา
“การแก้ไขมาตรา 112 จะสร้างแต่รอยร้าว รอยแตกแยกให้กับประเทศไทย คนลงถนนบ้านเมืองจะอยู่ยังไง มีแต่พังพินาศ ชัยชนะบนซากปรักหักพังชอบกันหรือครับ ผมว่ามันไม่มีประโยชน์อันใด” นายศาสตรากล่าว
ด้าน นายพิธา ชี้แจงว่า ม.112 เป็นประเด็นที่พรรคก้าวไกลใช้หาเสียงกับประชาชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องนำมาอภิปรายในรัฐสภา
“ผมพยายามที่จะรักษาคำพูด สัญญาที่เคยให้ไว้กับประชาชนยังไง ท่านชาดามีประสบการณ์แบบนึง ความคิดแบบนึง ผมก็มีชุดความคิดแบบนึง นี่เป็นสาเหตุที่เราต้องใช้รัฐสภา ในการแก้ไขกฎหมายนิติบัญญัติ” นายพิธา กล่าว
ด้าน ผศ.ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช สาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวว่า มีแรงกดดันจากภายนอกที่ทำให้ ส.ว. เกิดความกลัวที่จะสนับสนุนนายพิธา
“น่าตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ก่อนการอภิปรายแล้ว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปล่อยเอกสารลับ หรือการที่ ส.ว. พูดในลักษณะของการโน้มน้าวให้คนที่จะออกคะแนนเสียงเกิดการไขว้เขว จากคนที่อาจจะเห็นชอบก็กลายเป็นกลับลำ ไม่ว่าจะเพราะกังกลว่าจะส่งผลกับตัวเอง หรืออะไรก็แล้วแต่ มันแสดงให้เห็นว่าเรากำลังสร้างสภาของความกลัวขึ้นมา สภาของความกลัวดำรงอยู่ได้ด้วยอำนาจนอกระบบ”
นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ในระหว่างการปภิปรายคุณสมบัติของผู้ได้รับเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี วันที่ 13 กรกฎาคม 2566 (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
ประวัติพิธา
นายพิธา เป็นชาวกรุงเทพฯ อายุ 42 ปี เป็นบุตรชายของนายพงษ์ศักดิ์ ลิ้มเจริญรัตน์ อดีตที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร จบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภาคภาษาอังกฤษ ระดับปริญญาโท สาขาการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาโท สาขาบริหารธุรกิจ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (MIT)
เคยบริหารงานใน บริษัท ซีอีโอ อกริฟู้ด จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจครอบครัว และเคยร่วมงานกับ บริษัท แกร็บ ประเทศไทย ก่อนลงรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ ลำดับที่ 4 และได้รับเลือกตั้งเป็น ส.ส. สมัยแรกในปี 2562
ต่อมาในปี 2563 ศาลรัฐธรรมนูญยังวินิจฉัยให้ยุบพรรคอนาคตใหม่ จากกรณีที่ พรรคถูกร้องว่า รับเงินบริจาคอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย หลังจากที่ทำสัญญากู้ยืมเงินจากนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ 191 ล้านบาท เพื่อใช้ในการหาเสียง คำวินิจฉัยดังกล่าว ทำให้กรรมการบริหารพรรคถูกตัดสิทธิทางการเมือง 10 ปี
หลังจากนั้นสมาชิกพรรคอนาคตใหม่บางส่วนย้ายมาตั้งพรรคก้าวไกล และเลือกนายพิธา เป็นหัวหน้าพรรค ในการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566 นายพิธา เป็น ผู้สมัคร ส.ส. บัญชีรายชื่อลำดับที่ 1 ของพรรคก้าวไกล และเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีคนเดียวของพรรค ซึ่งพรรคก้าวไกล กลายเป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาลหลังจากสามารถคว้า ส.ส. มากที่สุด 151 ที่นั่ง
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน