นิด้าโพล : สองในสามชี้ประยุทธ์ควรอยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 ส.ค. 65
2022.08.08
กรุงเทพฯ

ศูนย์สำรวจความคิดเห็นสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA) หรือ นิด้าโพล เปิดเผยผลสำรวจพบว่า กลุ่มตัวอย่าง 64.25 เปอร์เซ็นต์ เห็นว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ควรอยู่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ขณะที่ 80.03 เปอร์เซ็นต์ ไม่ต้องให้ 3 ป. หรือ พล.อ. ประยุทธ์, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ และพล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา มีบทบาททางการเมืองอีกต่อไป
นิด้าโพล สำรวจในเรื่อง “8 ปี นายกรัฐมนตรีกับอนาคตทางการเมืองของ 3 ป.” ระหว่างวันที่ 2-4 สิงหาคม 2565 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา อาชีพ และรายได้ จาก 1,312 หน่วยตัวอย่าง โดยการสุ่มอย่างง่ายด้วยการใช้โทรศัพท์ พบว่า ประชาชนกว่าครึ่งไม่ต้องการให้ พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งต่อหลังครบวาระ 8 ปี
“เมื่อถามถึงการตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับความไม่ชัดเจนของรัฐธรรมนูญ เรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 8 ปี พบว่า ตัวอย่าง ร้อยละ 64.25 ระบุว่า นายกฯ ควรประกาศว่า 8 ปี คือ อยู่ในตำแหน่งไม่เกิน 24 สิงหาคม 2565 รองลงมา ร้อยละ 32.93 ระบุว่า นายกฯ ควรรอให้ศาลรัฐธรรมนูญตัดสินเรื่องวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ไม่เกิน 8 ปี และร้อยละ 2.82 ระบุว่า ไม่ทราบ/ไม่ตอบ/ไม่สนใจ” เว็บไซต์ นิด้าโพล ระบุ
นิด้าโพลระบุว่า คำถามเกี่ยวกับ บุคคลในกลุ่ม 3 ป. ที่ประชาชนเชื่อว่าจะยังคงมีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า ตัวอย่าง 55.18 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ทั้ง 3 ป. จะไม่มีบทบาททางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล รองลงมา 27.36 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พล.อ. ประวิตรจะมีบทบาท 24.77 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์จะมีบทบาท และ 19.44 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า พล.อ. อนุพงษ์จะมีบทบาท และที่เหลือไม่ตอบ-ไม่สนใจ
ขณะที่คำถามว่า บุคคลในกลุ่ม 3 ป. ที่ประชาชนต้องการให้มีบทบาทในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า พบว่าตัวอย่าง 80.03 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ไม่ต้องการให้ทั้ง 3 ป. มีบทบาททางการเมืองในการจัดตั้งรัฐบาล ภายหลังการเลือกตั้งสมัยหน้า รองลงมา 14.25 ระบุว่า ต้องการ พล.อ. ประยุทธ์ 7.39 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ต้องการ พล.อ. ประวิตร 7.16 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่า ต้องการ พล.อ. อนุพงษ์ และที่เหลือไม่ตอบ-ไม่สนใจ
ขอตีความการดำรงตำแหน่งประยุทธ์
ก่อนหน้านี้เมื่อวันศุกร์ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ยื่นหนังสือต่อ ผู้ตรวจการแผ่นดินและคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในวันศุกร์ที่ผ่านมา เพื่อให้พิจารณาเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า หาก พล.อ. ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจนครบ 8 ปี จะขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ และขอให้ศาลมีคำสั่งให้ พล.อ. ประยุทธ์ ยุติการปฏิบัติหน้าที่จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย
เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 158 ระบุว่า “นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่ง ติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง” ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรก ในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ซึ่งจะครบรอบ 8 ปีในวันที่ 24 สิงหาคม 2565
นายศรีสุวรรณ ระบุว่า ประเด็นดังกล่าวมี 3 แนวคิดคือ 1. รัฐธรรมนูญไม่ได้มีบทเฉพาะกาล ยกเว้นสำหรับ มาตรา 158 ดังนั้น พล.อ. ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีเกิน 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม 2565 ไม่ได้ 2. หลักกฎหมายทั่วไปจะไม่บังคับใช้กฎหมายย้อนหลังเป็นโทษแก่บุคคล ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงควรนับวาระนายกรัฐมนตรีของ พล.อ. ประยุทธ์ ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ซึ่งเป็นวันเข้ารับตำแหน่งตามอำนาจของรัฐธรรมนูญ และพล.อ. ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปี ในปี 2570 และ 3. รัฐธรรมนูญบังคับใช้ในปี 2560 หากเริ่มนับวาระดำรงตำแหน่งตั้งแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ พล.อ. ประยุทธ์ จะครบวาระ 8 ปี ในปี 2568
การยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกรณีวาระการดำรงตำแหน่งของนายกรัฐมนตรี สามารถยื่นผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน, กกต. และประธานรัฐสภา โดยหาก 3 หน่วยงานนี้เห็นว่าเหมาะสมก็จะสามารถใช้อำนาจร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยกรณีดังกล่าว และมีคำสั่งได้
ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีถูกสื่อมวลชนสอบถามเกี่ยวกับประเด็นการดำรงตำแหน่ง 8 ปีเช่นกัน แต่ พล.อ. ประยุทธ์ ระบุเพียงสั้น ๆ ว่า “ไปถามศาลรัฐธรรมนูญโน่น” แล้วเดินหนีสื่อมวลชนทันทีเมื่อวันศุกร์ ขณะที่วันจันทร์ก็ปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเรื่องดังกล่าว
ในประเด็นนี้ นพ. ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ฝ่ายค้านจะขอยื่นตีความเช่นกัน
“ตอนนี้ (ฝ่ายค้าน) ได้ข้อตกลงแล้ว จะเข้าชื่อยื่นต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อส่งต่อไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนพลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกฯ ครบ 8 ปี ในวันที่ 24 สิงหาคม ประมาณ 1 สัปดาห์คือ ประมาณวันที่ 16 หรือ 17 สิงหา เรามองว่ายื่นเวลานี้ดีที่สุด เพราะหากปล่อยเลยไป เสี่ยงว่าการบริหารประเทศจะเสียหายได้” นพ. ชลน่าน กล่าว
นักวิชาการเชื่อประยุทธ์ยังอยู่ต่อไปได้
ด้าน นายปิยะพงษ์ พิมพลักษณ์ นักวิจัยสถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เชื่อว่า พล.อ. ประยุทธ์ จะยังได้ดำรงตำแหน่งต่อหลังการวินิจฉัย
“หลายคนคงรู้กันว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนมาให้ประยุทธ์ได้ดำรงตำแหน่งต่อไปอีกวาระ โดยเฉพาะเรื่อง ส.ว. ที่ดำรงตำแหน่งได้ 5 ปี ฉะนั้น ผมไม่คิดว่ากรณีนี้จะทำให้ประยุทธ์ต้องหมดวาระลงง่าย ๆ การที่ศาลจะตีความให้ประยุทธ์หมดวาระในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ เป็นสถานการณ์ที่ผมคิดว่าเกิดขึ้นยากมาก เอาเข้าจริง ๆ คำร้องอาจจะไม่ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำ คือ อาจจะจบตั้งแต่ผู้ตรวจการแผ่นดินก็ได้” นายปิยะพงษ์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการรัฐประหารยึดอำนาจการปกครองในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 และขึ้นสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามอำนาจของรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ต่อมา รัฐธรรมนูญที่เขียนโดย คสช. ผ่านการลงประชามติ ในปี 2559 และมีผลบังคับใช้ในปี 2560 อย่างไรก็ตาม การประชามติดังกล่าว ไม่เปิดโอกาสให้มีการรณรงค์คัดค้าน และมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญอย่างน้อย 131 ราย
ด้วยเหตุดังกล่าว ฝ่ายผู้เห็นต่างจากรัฐจึงเรียกร้องให้มีการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2560 ได้มาจากกระบวนการที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีหลายมาตราที่ฝ่ายสนับสนุนประชาธิปไตยมองว่า ไม่เหมาะสม เช่น บทเฉพาะกาลอายุ 5 ปี ที่ให้สิทธิ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรี 15.1 ล้านเสียง เป็นต้น
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ จากเชียงใหม่ ร่วมรายงาน