ประชาชนกว่าพันชุมนุมร่วมขับไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ก่อนวันลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจ
2021.09.03
กรุงเทพฯ

ประชาชนหลายพันคนรวมตัวกันที่สี่แยกราชประสงค์ ในวันศุกร์นี้ เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพราะล้มเหลวในการบริหารจัดการปัญหาโรคระบาดโควิด-19
การชุมนุมรอบใหม่ มีต่อเนื่องมาจากเมื่อวานนี้ โดยการริเริ่มของ นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก. ลายจุด และนายณัฐวุฒิ ไสยเกื้อ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) โดยครั้งแรกจัดที่แยกอโศก และได้ย้ายมายังสี่แยกราชประสงค์ในวันศุกร์นี้ โดยมี “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” และ “กลุ่มทะลุฟ้า” เป็นผู้ประสานการชุมนุม
ผู้ร่วมชุมนุมที่ชูคำขวัญ “ยืนยันเพดาน โค่นล้มทรราช พิฆาตศักดินา” ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ นอกจากจะเข้ามาโดยไม่ถูกต้องแล้ว ยังล้มเหลวในการบริหารจัดการแก้ไขโรคระบาด
“ผมออกมาแสดงออกตามสิทธิเสรีภาพที่เรามี เราเห็นว่าที่ผ่านมารัฐบาลนี้มาอย่างไม่ถูกต้อง การบริหารงานโดยเฉพาะช่วงโควิดล้มเหลว เห็นแก่ลูกหลานของพวกคุณเถอะครับ ถ้าทำงานไม่เป็นก็ออกเถอะ” นายณัฐพร ตุลาการันต์ นักศึกษา อายุ 21 ปี จากจังหวัดบึงกาฬ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ผมไม่ได้อยากได้ใครเป็นนายกเป็นพิเศษ แต่ต้องการให้นายกคนนี้ออกไปก่อน ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แล้วก็ปฏิรูปสถาบัน ปฏิรูปกองทัพ เพื่อให้ประเทศเป็นประชาธิปไตย” นายณัฐพร กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน น.ส.ปลาทู ดอกกระโดน อายุ 44 ปี อาชีพตลก กล่าวว่า ตนเดินทางมาจากจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อร่วมประท้วง เพราะว่าได้รับความลำบากทางเศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการบริหารของรัฐบาล
“มาชุมนุมครั้งนี้เพราะเราได้รับผลกระทบตกงานมาหนึ่งปีเต็ม ห้าเดือนหลังนี้รับงานเอาไว้คิดว่าจะได้รับ แต่เขาบอกว่าปิด 14 วัน แต่ 14 วัน มันไม่มีอยู่จริงสำหรับคนกลางคืน และไม่มีการเยียวยาอะไรทั้งสิ้น” น.ส.ปลาทู กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ผู้ประท้วงทั้งสองคนกล่าวตรงกันว่า ไม่ต้องการความรุนแรงในการประท้วงเหมือนที่มีมาในสัปดาห์ก่อน ๆ หน้านี้
การประท้วงรอบใหม่นี้ เกิดขึ้นในห้วงเวลาเดียวกันกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลอีก 5 คน ซึ่งจะมีกำหนดการลงคะแนนเสียงในวันเสาร์นี้
ในระหว่างการอภิปราย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว. กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หนึ่งในผู้ถูกอภิปราย ได้กล่าวพาดพิงถึงพรรคก้าวไกลอยู่เบื้องหลังกลุ่มเยาวชนที่ต่อต้านรัฐบาลด้วยการปล่อยเฟกนิวส์
“เขาต้องการล้างสมองคนรุ่นใหม่ เพื่อมาล้มล้างบางสิ่งบางอย่างในประเทศเรา... ผมต้องรักษาสถาบันพระมหากษัตริย์ไว้” นายชัยวุฒิ กล่าวต่อที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรในวันศุกร์นี้
ด้าน นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. พรรคก้าวไกล ได้ตอบโต้ว่า รมว. ดีอีเอส ว่า “ท่านมีหน้าที่ทำเพื่อพี่น้องประชาชน ท่านพยายามพูดให้เห็นว่า พรรคก้าวไกลสร้างเฟกนิวส์ตลอดเวลา การที่ท่านเป็นศัตรูกับคนรุ่นใหม่ ท่านอยู่ไม่ได้นานหรอกครับ เพราะท่านเป็นศัตรูกับอนาคต”
ในขณะที่มีการชุมนุมของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลที่สี่แยกราชประสงค์ ได้มีกลุ่มเยาวชน “ทะลุแก๊ส” ใช้รถจักรยานยนต์ขับเคลื่อนไปมาที่ย่านสามเหลี่ยมดินแดง ใช้ประทัดยักษ์ และไปป์บอมบ์ ก่อกวนในพื้นที่และขว้างใส่กรมดุริยางค์ทหารบกริมถนนวิภาวดีรังสิต ก่อนสลายตัวไปก่อนทุมครึ่ง
พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก สตช. กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวในพื้นที่ว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม เจ้าหน้าที่ออกหมายจับผู้ชุมนุม 645 คน จับกุมตัวได้แล้ว 388 คน ในจำนวนนี้กว่าครึ่งหนึ่งเป็นเยาวชน ส่วนในวันนี้ จับกุมผู้ต้องหาได้ 5 คน พร้อมด้วยอาวุธปืน กระสุนกว่ายี่สิบนัด และระเบิด ซึ่งให้การรับสารภาพว่า เตรียมอาวุธมาเพื่อก่อให้เกิดความวุ่นวายในกรุงเทพมหานคร
หัวหน้าพรรค พปชร. ยันหนุนประยุทธ์
ด้านพลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ยืนยันในวันศุกร์นี้ว่า สมาชิกพรรคพลังประชารัฐจะลงคะแนนเสียงสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในการลงคะแนนอภิปรายไม่ไว้วางใจที่กำหนดไว้ในวันเสาร์นี้ หลังจากที่มีข่าวลือว่ามีสมาชิกพรรคพยายามล้มนายกรัฐมนตรี
ในตอนบ่ายวันนี้ พลเอก ประวิตร ได้ประชุมกับลูกพรรค รวมทั้ง ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ถูกพาดพิงว่ามีปัญหากับพลเอก ประยุทธ์ เพื่อหารือเรื่องการลงคะแนนเสียง และได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวโดยกล่าวว่า พรรค พปชร. มีเอกภาพและยังสนับสนุน พลเอก ประยุทธ์ ที่เผชิญกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจโดยเน้นความล้มเหลวในการรับมือกับโควิด
“ไม่มีปัญหาอะไร นายกไปผมก็ไป” พลเอก ประวิตร ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเพียงสั้น ๆ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า สมาชิก พปชร. ทั้ง 119 คน จะยกมือให้พลเอก ประยุทธ์หรือไม่
ในก่อนหน้านี้ สื่อมวลชนบางฉบับรายงานโดยอ้างแหล่งข่าวว่า ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์การเกษตร โน้มน้าวให้ ส.ส. ในพรรคไม่ลงคะแนนให้พลเอก ประยุทธ์ แต่เมื่อวันพุธที่ผ่านมานี้ เจ้าตัวได้ออกมาปฏิเสธว่าไม่เป็นความจริง
“การจะมาแก่งแย่งชิงดีชิงเด่นกันในรัฐบาล ไม่ใช่พฤติกรรมของผม ผมยืนยันว่าผมจะนำพาพรรคพลังประชารัฐให้เป็นพรรคการเมืองที่มีความเข้มแข็งเป็นที่พึ่งของพี่น้องประชาชน ผมไม่ได้ถูกใช้ให้ล็อบบี้ใคร หรือโหวตคว่ำใครคนใดคนหนึ่ง ผมไม่ทำ” ร.อ. ธรรมนัส กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
นอกจากนั้น ในวันพุธที่ผ่านมานี้ นายวิสาร เตชะธีราวัฒน์ ส.ส. เชียงราย พรรคเพื่อไทย ได้กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จ่ายเงินให้กับ ส.ส. เพื่อให้ยกมือสนับสนุนตนเอง
“ณ ขณะนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา จ่ายเงินให้ ส.ส. 5 ล้านบาทอยู่ชั้น 3 ขอเถอะครับ การทำอย่างนี้อุกอาจมาก ทุจริต ต้องการอยู่ในตำแหน่งถึงขนาดนี้เหรอครับ จะอยู่กับความตายของพี่น้องประชาชนแบบนี้เหรอครับ” นายวิสาร กล่าว
ด้าน พล.อ. ประยุทธ์ ได้ชี้แจงปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยระบุว่า มีเพียง ส.ส. เข้าไปทักทายและให้กำลังใจตนเอง และไม่ได้มีการจ่ายเงินตามที่ถูกกล่าวหา
คณะรัฐมนตรีในรัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจมาแล้ว 2 ครั้ง ในเดือนกุมภาพันธ์ ของปี 2563 และปี 2564 ซึ่ง พล.อ. ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี ได้รับความไว้วางใจจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั้ง 2 ครั้ง
สำหรับการอภิปรายครั้งนี้ คาดว่ารัฐบาลจะมีเสียงสนับสนุน 275 เสียง ขณะที่ ฝ่ายค้านมีเสียง 212 เสียง จากจำนวน ส.ส. ทั้งหมด 487 คน
ด้าน น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ชี้ว่า การรวมตัวของประชาชนเพื่อให้รัฐบาลลาออกจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของรัฐบาล เป็นทางหนึ่งที่ช่วยกดดันรัฐบาลผ่านสื่อ
“แม้ว่าจะไม่สามารถทำให้รัฐบาลยอมลาออกได้ แต่เชื่อว่ากดดันได้ในทางใดก็ทางหนึ่ง และจะมีผลในอนาคต ส่วนความรุนแรงที่คิดว่าไม่ควรมี ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ควรเจรจากับผู้ชุมนุม เพราะเด็กที่เข้ามาร่วมขบวนการนี้ เขาอาจได้รับผลกระทบจากการบริหารที่ผิดพลาด และไม่มีประสิทธิภาพของรัฐ” น.ส. นวพร ระบุ
คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน