ศาลรับฟ้อง 3 นักเรียนฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฯ จัดชุมนุม 15 ต.ค. 63

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.01.28
กรุงเทพฯ
ศาลรับฟ้อง 3 นักเรียนฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฯ จัดชุมนุม 15 ต.ค. 63 นักเรียน 3 คน ขณะเดินทางมายังสำนักงานอัยการสูงสุด กรุงเทพฯ วันที่ 28 มกราคม 2564 เพื่อฟังคำสั่งฟ้องของอัยการ คดีชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อ 15 ตุลาคม 2563 ปีที่ผ่านมา
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพฤหัสบดีนี้ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางรับฟ้องคดีที่ แกนนำนักเรียน 3 คน เป็นผู้ต้องหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฯ จากการจัดชุมนุมที่แยกราชประสงค์เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 อย่างไรก็ตาม ศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยไม่มีเงื่อนไข ด้านนักวิชาการชี้ รัฐลุแกอำนาจ ไม่สนใจกติกาสากลด้านสิทธิเด็กและเยาวชน

นายลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือมิน อายุ 18 ปี, น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือพลอย อายุ 16 ปี แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว และ นายคณพศ แย้มสงวนศักดิ์ หรือภูมิ อายุ 16 ปี จากกลุ่มนักเรียนไท พร้อมด้วยผู้ปกครองและทนายความ ได้เดินทางมาตามนัดของอัยการ ในเวลา 10.00 น. ที่สำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อฟังคำสั่งของอัยการ โดยหลังจากใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง อัยการได้มีความเห็นสั่งฟ้อง ทำให้ผู้ต้องหาทั้งหมด ต้องเดินทางไปยังศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เพื่อฟังคำสั่งศาลในเวลา 13.00 น.

น.ส.คุ้มเกล้า ส่งสมบูรณ์ ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า นายคงศักดิ์ มาตังครัตน์ พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเด็กและเยาวชน 3 มีความเห็นสั่งฟ้อง เนื่องจากเห็นว่า ผู้ต้องหาทั้ง 3 คน กระทำความผิดในการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“คำฟ้องระบุว่า ทั้ง 3 คน ร่วมปราศรัยต่อต้านรัฐบาล กระทำการกีดขวางการจราจร บริเวณแยกราชประสงค์ จนทำให้ยวดยานพาหนะไม่สามารถสัญจรได้ตามปกติ และกระทบต่อการใช้ชีวิตโดยปกติสุขของประชาชนโดยทั่วไป ทั้งขัดขืนคำสั่งเจ้าพนักงานที่สั่งให้ยุติการชุมนุม อันเป็นการยุยง ทำให้เกิดความไม่เรียบร้อยและความวุ่นวายในบ้านเมือง และการชุมนุมยังอยู่ในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรง โดยถูกสั่งฟ้องในคดีเดียวกัน” น.ส.คุ้มเกล้า กล่าว

“หลังฟังคำสั่ง ทั้งหมดให้การปฏิเสธ จึงต้องเดินทางไปศาลเยาวชนฯ ตัวน้อง และผู้ปกครอง ขอปล่อยตัวชั่วคราว ศาลเห็นว่า ทั้ง 3 คนอายุยังน้อย และไม่เคยกระทำความผิดมาก่อน ประกอบโควิดระบาด ทั้ง 3 คน มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง ศึกษาอยู่ จึงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ไม่มีเงื่อนไข ไม่มีหลักประกัน แต่ให้ทำสัญญาประกันกับผู้ปกครอง โดยหากไม่มาตามนัด จะถูกปรับครั้งละ 5 พันบาท โดยนัดถามคำให้การต่อศาลวันที่ 19 เมษายน และ 10 มีนาคม มีนัดพบศูนย์ให้คำปรึกษาคุ้มครองสิทธิ ให้ข้อมูลกฎหมาย และพบนักจิตวิทยา” น.ส.คุ้มเกล้า กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายลภนพัฒน์ เปิดเผยว่า รู้สึกผิดหวังที่อัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง เนื่องจากตนเองและเพื่อน ยืนยันว่า ไม่ได้ทำผิดตามฟ้อง

“เราได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมไปแล้วรอบนึง ขอให้อัยการไม่ฟ้องในคดีนี้ เนื่องจากคดีนี้มันไม่มีประโยชน์ต่อสาธารณชนเลย อีกทั้งพวกเราก็ไม่ได้มีฐานความผิดจริงตามที่เจ้าพนักงานแจ้งคดีกับเรา เราหวังว่า อัยการจะผดุงความยุติธรรมด้วยการไม่สั่งฟ้อง ให้การปฏิเสธมาตลอด เรารู้สึกผิดหวังกับสิ่งที่เราได้พยายามเรียกร้อง และขอความเป็นธรรม เพราะเราคาดหวังว่าการฟ้องจะไม่เกิดขึ้น” นายลภนพัฒน์ กล่าว

ขณะที่ น.ส.เบญจมาภรณ์ ระบุว่า การฟ้องดำเนินคดีจะไม่ทำให้ตนเอง และกลุ่มนักเรียนเลวหยุดการเคลื่อนไหวทางการเมือง

“เราจะไม่หยุดเคลื่อนไหว ต่อให้มีอีกกี่คดี เราก็จะเคลื่อนไหวต่อไปเรื่อยๆอยู่ เพราะสิ่งที่ต้องการ เขายัดคดีมาให้เรา เขาอยากทำให้เรากลัว และหยุดเคลื่อนไหว แต่มันไม่ได้ทำให้เรากลัวหรือจะหยุดการเคลื่อนไหวเราได้” น.ส.เบญจมาภรณ์ กล่าว

การฟ้องครั้งนี้ สืบเนื่องจาก การจัดชุมนุมของประชาชนในนาม “ราษฎร” เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2563 ซึ่งมีการปิดถนนบริเวณสี่แยกราชประสงค์ และตั้งเวทีด้วยรถขยายเสียง มีประชาชนร่วมกว่าพันคน ซึ่งนายลภนพัฒน์, น.ส.เบญจมาภรณ์ และนายคณพศ เป็นส่วนหนึ่งของผู้ที่ขึ้นปราศรัยในวันดังกล่าว

ขณะที่ กลุ่ม “นักเรียนเลว” คือ กลุ่มนักเรียนมัธยมที่รวมตัวกันจัดกิจกรรมโดยมีเป้าหมายเพื่อเรียกร้องสิทธิในโรงเรียน และการปฏิรูประบบการศึกษา มุ่งเป้าการเรียกร้องไปที่ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ โดยให้เงื่อนไขว่า หากนายณัฏฐพลไม่สามารถปฏิบัติตามข้อเรียกร้องดังกล่าวได้ ก็ควรลาออก เพื่อเปิดทางให้คนที่มีความสามารถมากกว่ามาทำงานแทน โดยทั้งกลุ่มนักเรียนเลว และนักเรียนไท เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลในปี 2563 ที่ปัจจุบัน เรียกตัวเองว่า “ราษฎร” และมีข้อเรียกร้องให้ 1. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่ง 2. แก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อนำไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร. ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และ 3. ปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ โดยผู้ที่ ร่วมชุมนุมในปี 2563 ถูกฟ้องร้อง รวมถึงออกหมายเรียก และหมายจับแล้วทั่วประเทศกว่า 100 ราย มีการแจ้งว่า นักเรียนถูกคุกคามจากการร่วมชุมนุมอย่างน้อย 103 ครั้ง

นักวิชาการ : รัฐลุแก่อำนาจ เมินกติกาสากลด้านสิทธิเด็กและเยาวชน

น.ส.นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การที่อัยการสั่งฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินร้ายแรงฯ กลุ่มนักเรียนเลว แสดงให้เห็นว่า รัฐพยายามที่จะบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่เห็นต่างอย่างเข้มข้น โดยไม่สนใจว่าเป็นเด็กและเยาวชนหรือไม่ รัฐใช้อำนาจแบบลุแก่อำนาจ โดยไม่ได้คำนึงถึงความสมเหตุสมผลแต่อย่างใด

“ในช่วงปีที่ผ่านมา เราจะเห็นว่า เด็กและเยาวชนมีส่วนร่วมทางการเมืองมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ และการแสดงออกดังกล่าวก็ถูกต้องตามหลักสิทธิมนุษยชนสากล มากไปกว่านั้น ประเทศไทยเองก็ได้ลงนามเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ที่พูดถึงสิทธิการมีส่วนร่วมในด้านต่าง ๆ ของสังคมเอาไว้อย่างชัดเจน ฉะนั้นแล้วการเลือกที่จะใช้กฎหมายในลักษณะนี้ เพื่อจัดการกับเด็กและเยาวชน จึงแสดงให้เห็นว่ารัฐไทยไม่ได้สนใจหรือใส่ใจต่อสิทธิและเสรีภาพของเด็กเลย” น.ส.นวพร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงต่อจากนี้คือ ความปลอดภัยของเด็กที่มีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่เฉพาะแกนนำเท่านั้น แต่สังคมจะต้องเร่งรีบที่จะเรียนรู้ได้แล้วว่า การแสดงออกทางการเมืองของเด็ก มันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน มันต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัวด้วยซ้ำ เพราะบางครอบครัวแทนที่ให้ความรู้สึกปลอดภัย แต่พบว่ามีไม่น้อยที่เด็กเองไม่รู้สึกปลอดภัยเมื่ออยู่ในบ้าน นอกจากนี้ระหว่างการเดินทางจากบ้านไปโรงเรียน รวมถึงพื้นที่ในโรงเรียน ก็ต้องมีความปลอดภัย และสร้างความมั่นใจให้กับเด็ก ๆ ได้ว่า หากเขาต้องการพูดหรือแสดงความคิดเห็นใด ๆ เขาจะปลอดภัยอยู่ในสังคมนี้” น.ส.นวพร กล่าวเพิ่มเติม

ขณะเดียวกัน นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ได้แสดงความเห็นผ่านแถลงการณ์ว่า การฟ้องร้องดำเนินคดีของเจ้าหน้าที่รัฐไทยต่อผู้ต้องหาทั้ง 3 ราย ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ และควรยกเลิกการดำเนินคดีดังกล่าว

“รัฐยังมีพันธกิจเชิงรุกในการปกป้องสิทธิเด็ก และจะต้องดำเนินการโดยตระหนักว่า อาจมีเด็กอยู่ในพื้นที่ชุมนุมและปกป้องพวกเขาจากอันตรายใด ๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งปฏิบัติตามพันธกิจที่จะลดความตึงเครียดของสถานการณ์ โดยต้องยุติการใช้กฎหมายในสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างมิชอบ ยุติการจับกุมและการใช้กฎหมายคุกคามผู้ชุมนุม” นางปิยนุช ระบุ

คดีของผู้ต้องหา และจำเลยการเมืองรายอื่น ๆ ในวันเดียวกัน

ในวันเดียวกัน นายอานนท์ นำภา ทนายความของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะผู้ต้องหา ได้เดินทางไปพบอัยการจังหวัดพะเยา ตามนัดในคดี ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากร่วมปราศรัยในกิจกรรมคนพะเยาบ่เอาแป้ง เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2563 โดยอัยการได้นัดฟังคำสั่ง ในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2564


ศาลจังหวัดนนทบุรี ได้พิพากษายกฟ้อง คดี ม.112 ที่ น.ส.ณัฎฐธิดา มีวังปลา หรือแหวน พยาบาลอาสาในการชุมนุมคนเสื้อแดง เมื่อปี 2553 ซึ่งเป็นจำเลย เนื่องจากถูกกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2558 กระทำผิดโดยการส่งต่อข้อความเข้าไปในกลุ่มไลน์ โดยเป็นข้อความที่อาจเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ โดยคดีนี้ ศาลเห็นว่า พยานหลักฐานไม่เพียงพอที่จะเอาผิด จึงยกประโยชน์ให้กับจำเลย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง