แม่ทัพภาคสี่ ระบุ ไม่อยากให้เกิดการสูญเสียช่วงรอมฎอน
2024.03.26
ปัตตานี

พล.ท. ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวในการประชุมร่วมทหาร, ตำรวจ และฝ่ายปกครองว่า เจ้าหน้าที่พยายามปฏิบัติการตามหลักสิทธิมนุษยชน และไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสียในช่วงเดือนถือศีลอด หรือรอมฎอน แม้เพิ่งมีเหตุวิสามัญผู้ต้องสงสัยที่ปัตตานีเมื่อกลางเดือน ด้านนักสิทธิมนุษยชนชี้ ความรุนแรงในการปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ทำให้สถานการณ์ชายแดนใต้คุกรุ่น
“เราเน้นย้ำทุกหน่วย ทุกครั้งให้ปฏิบัติตามหลักกฎหมาย หลักสิทธิมนุษยชน ให้ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำศาสนามีส่วนร่วม ไม่ต้องการให้เกิดการสูญเสีย กำชับให้เจ้าหน้าที่พูดคุยและสร้างความเข้าใจ แก่ครอบครัว และญาติของผู้ต้องสงสัยให้ทราบ ถึงขั้นตอนการทำงานของเจ้าหน้าที่ รวมทั้งให้ปฏิบัติด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนให้มากที่สุด” พล.ท. ศานติ กล่าวที่จังหวัดยะลา
ด้าน พ.ต.ท. วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการ ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เปิดเผยว่า ศอ.บต. พยายามใช้มาตรการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในพื้นที่ชายแดนใต้ เพื่อหวังลดความโกรธแค้นจากเหตุการณ์
“การช่วยเหลือเยียวยา ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม แก่ผู้ได้รับผลกระทบ เป็นการแสดงว่า ไม่ทอดทิ้งผู้สูญเสียและผู้ได้รับผลกระทบฯ ทุกกรณี และมุ่งให้เกิดความรักความสามัคคี ลดความโกรธแค้น ชิงชัง โดยเจตนารมณ์และหลักคิดของการเยียวยา คือ การคืนความสันติสุขกลับคืนสู่จังหวัดชายแดนภาคใต้” พ.ต.ท. วรรณพงษ์ กล่าว
การประชุมร่วมครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากเมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2567 เกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิด-วางเพลิง ทำลายทรัพย์สินของราชการและเอกชนกว่า 60 จุด ในพื้นที่ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย และบาดเจ็บอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเชื่อว่าคนร้ายก่อเหตุ เพื่อตอบโต้การวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 2 รายในปัตตานี เมื่อ 14 มีนาคม 2567
ปัจจุบัน พล.ต.ท. ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ระบุว่า ตำรวจกำลังพยายามรวบรวมข้อมูลหลักฐาน เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดีตามกฎหมายแล้ว
กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร ภาคที่ 4 สรุปรายงานเหตุความไม่สงบในวันที่ 22 มีนาคมที่ผ่านมาว่า พบเหตุความไม่สงบทั้งหมดอย่างน้อย 60 จุด ในยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสงขลา
ซึ่งเป็นการวางเพลิงอาคารของเอกชน ทำลายทรัพย์สินของราชการ เสาโทรศัพท์ และกล้องวงจรปิด
ต่อมาในวันที่ 23 มีนาคม เจ้าหน้าที่ได้ควบคุมผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง 6 ราย ในพื้นที่ จ.นราธิวาส และนำตัวไปยัง หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 46 (ฉก.ทพ.46) อ.เมือง จ.นราธิวาส ขณะที่ในวันอังคารนี้เกิดเหตุ อาสาสมัครทหารพราน (อส.ทพ.) เจ๊ะมาฮาดี เจ๊ะแล สังกัดกองร้อยทหารพรานที่ 4513 (ร้อย ทพ.4513) เหยียบกับระเบิดได้รับบาดเจ็บสาหัส ขณะลาดตระเวนบนภูเขาในพื้นที่ ต.บองอ อ.ระแงะ จ.นราธิวาส
ด้าน น.ส.อัญชนา หีมมิหน๊ะ ประธานกลุ่มด้วยใจ และกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาศึกษาและเสนอแนวทางการส่งเสริมกระบวนการสร้างสันติภาพ เพื่อแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สภาผู้แทนราษฎร มีความเห็นในประเด็นนี้
“ทหารควรมองว่า การบังคับใช้กฎหมายด้วยความรุนแรง เป็นหนึ่งสาเหตุของความรุนแรงช่วงเดือนรอมฎอนเช่นกัน เพราะหลังการวิสามัญฆาตกรรม เมื่อวันที่ 14 มีนาคม (ที่ปัตตานี) ก็มีการใช้ความรุนแรงตอบโต้การวิสามัญ ถ้าอยากให้เกิดประโยชน์กับประชาชนจริง ๆ ทั้งฝ่ายความมั่นคงและบีอาร์เอ็นต้องแสดงให้ประชาชนเห็นว่า ทั้งสองฝ่ายจริงใจที่จะเจรจากัน เพื่อลดการบาดเจ็บและเสียชีวิต”
กรณีที่เกิดขึ้นอยู่ในห้วงเดือนแห่งการถือศีลอด ตามที่นายอรุณ บุญชม จุฬาราชมนตรี ได้ประกาศว่า วันที่ 1 ของเดือนรอมฎอน ฮิจเราะห์ศักราช 1445 ตรงกับวันอังคารที่ 12 มีนาคม 2567 ซึ่งฝ่ายความมั่นคงระบุว่า จะใช้แผน “รอมฎอนสันติสุข” ที่เป็นแนวทางสืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 6-7 กุมภาพันธ์ 2567 คณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ฝ่ายไทย ได้หารือกับตัวแทนกลุ่มบีอาร์เอ็น ที่ประเทศมาเลเซีย และระบุว่า ฝ่ายไทยจะทดลองปลดประกาศจับผู้ต้องหาคดีความมั่นคง ลดการปิดล้อม และตั้งด่านตรวจ ช่วงเดือนรอมฎอน และสงกรานต์ แต่ก็ยังมีเหตุวิสามัญฆาตกรรม
สำหรับแผนการดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของแผนปฏิบัติการร่วมเพื่อสร้างสันติสุขแบบองค์รวม (Joint Comprehensive Plan towards Peace - JCPP) มีแนวทางหลัก 3 ข้อ คือ 1. การลดความรุนแรงในพื้นที่ และลดการเผชิญหน้า 2. การจัดการปรึกษาหารือกับประชาชน และ 3. การแสวงหาทางออกทางการเมือง ซึ่งฝ่ายไทยคาดหมายว่า บีอาร์เอ็นจะร่วมลงนามรับรอง JCPP ภายในปีนี้ และสามารถนำไปสู่ข้อตกลงสันติสุขร่วมกันในอนาคต
ฝ่ายความมั่นคงระบุว่า ช่วงวันที่ 11 กุมภาพันธ์-11 มีนาคม 2567 หรือหนึ่งเดือนก่อนเดือนรอมฎอน มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น 13 ครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิต 6 ราย และบาดเจ็บ 9 ราย
ในปี 2565 คณะพูดคุยฯ เคยริเริ่มกำหนดช่วงหยุดยิง “รอมฎอนสันติสุข” เมื่อวันที่ 31 มีนาคม-1 เมษายน โดยอนุญาตให้ผู้มีหมายจับคดีความมั่นคงเดินทางกลับบ้าน เพื่อประกอบศาสนกิจกับครอบครัวได้โดยไม่ถูกคุมตัว ในห้วงเวลาการถือศีลอด และทั้งสองฝ่ายจะไม่ใช้กำลังปะทะกัน ซึ่งปีนั้น คณะพูดคุยฯ แถลงว่า แนวทางดังกล่าวประสบความสำเร็จ เพราะลดเหตุความรุนแรงได้ อย่างไรก็ตาม รอมฎอนสันติสุขไม่ได้ถูกปฏิบัติในปี 2566
ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ระบุว่า ตั้งแต่มกราคม 2547 ถึงพฤศจิกายน 2566 มีเหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นกว่า 22,200 ครั้ง มีผู้เสียชีวิตกว่า 7,540 ราย และมีผู้บาดเจ็บอีกกว่า 14,000 ราย