รัฐไม่ได้ปกป้องเสรีภาพคนต่างศาสนา-ชาติพันธุ์ ตามรัฐธรรมนูญ
2021.05.12
วอชิงตัน

แม้ว่ารัฐธรรมนูญในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะให้ความเท่าเทียมกันทางศาสนา แต่รัฐบาลก็ไม่ได้ปกป้องสิทธิของกลุ่มชาติพันธุ์เสมอไป กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ กล่าวเมื่อวันพุธ ขณะที่เผยแพร่ รายงานว่าด้วยเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ ประจำปี 2563
นายแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ ได้เผยแพร่รายงาน 2,397 หน้า ที่ครอบคลุม 200 ประเทศและเขตปกครองพิเศษ
“เสรีภาพทางศาสนาก็เหมือนกับสิทธิมนุษยชน ทุกคนมีสิทธิจะได้รับ ในทุกที่ ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ใด มีความเชื่ออะไร หรือไม่เชื่ออะไรก็ตาม” นายบลิงเคน กล่าวกับผู้สื่อข่าว
“เสรีภาพทางศาสนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเต็มที่ เว้นแต่จะมีการเคารพสิทธิมนุษยชน และเมื่อรัฐบาลละเมิดสิทธิของประชาชน ในความเชื่อและการนับถืออย่างเสรี ก็จะมีความเสี่ยงให้เกิดอันตรายต่อมนุษยชาติ”
ในประเทศไทย รัฐธรรมนูญได้รับรองกลุ่มศาสนา 5 กลุ่ม อย่างเป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มพุทธ กลุ่มมุสลิม กลุ่มพราหมณ์-ฮินดู กลุ่มซิกข์ และกลุ่มคริสต์ โดย “ห้ามมิให้เลือกปฏิบัติด้วยเหตุความเชื่อทางศาสนา” และ “ปกป้องเสรีภาพในการถือศาสนา ตราบเท่าที่การปฏิบัติตามเสรีภาพในการถือศาสนานั้นไม่เป็นอันตรายต่อความปลอดภัยของรัฐ”
ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประกอบด้วยจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ยังมีเหตุการณ์รุนแรงเกิดขึ้นเนือง ๆ โดยกลุ่มก่อความไม่สงบแบ่งแยกดินแดนมุสลิมมาเลย์ ที่นับว่ามีกองกำลังที่ใหญ่ที่สุด คือ “กลุ่มบีอาร์เอ็น” ซึ่งในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ได้เกิดสถานการณ์ความไม่สงบ เกิดเหตุโจมตีชาวพุทธและมุสลิมในพื้นที่ ตามรายงานของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ฯ ในช่วงปีนี้ อย่างน้อย 116 ราย ในจำนวนนี้เป็นมุสลิม 83 ราย ชาวพุทธ 29 ราย และราษฎรอีก 4 ราย ที่ไม่มีความเกี่ยวข้องทางศาสนา
ความรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบยังคงเกิดขึ้น ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมาเลย์มุสลิม ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีความขัดแย้งแบ่งแยกดินแดนมายาวนาน โดยที่อัตลักษณ์ทางศาสนาและทางชาติพันธุ์ มีส่วนสัมพันธ์ใกล้เคียงกับปัญหาดังกล่าว
เมื่อปีที่แล้ว สำนักงานตำรวจแห่งชาติขอข้อมูลการจัดตั้งกลุ่มของนักศึกษามุสลิมจากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ หลังจากชาวมุสลิมมาเลย์ 3 คน จากจังหวัดนราธิวาสถูกจับกุมด้วยเหตุเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ระเบิดหลายครั้งระหว่างการประชุมรัฐมนตรีสมาคมประชาชาติอาเซียน ที่กรุงเทพฯ ซึ่งส่งผลให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3 ราย ซึ่งการร้องขอดังกล่าวก่อให้เกิดการประท้วงในกลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ทำให้เจ้าหน้าที่ล้มเลิกการร้องขอข้อมูลดังกล่าว
ชุมชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังคงแสดงความคับข้องใจ เนื่องจากรู้สึกว่าถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงเลือกปฏิบัติ และเห็นว่าระบบศาลยุติธรรมขาดการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจที่เพียงพอ รายงานฯ ระบุ
นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า ทางการยังจับกุมและกักตัวผู้อพยพที่ไม่มีตราอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักร รวมไปถึงผู้ลี้ภัยบางรายที่ลงทะเบียนกับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และผู้แสวงหาที่พักพิง เหมือนเช่นที่เคยปฏิบัติมาในปีก่อน ๆ โดยรัฐบาลมักจะให้เหตุผลว่าการจับกุมเหล่านี้ไม่ได้เป็นผลจากการถือศาสนาใดศาสนาหนึ่ง และผู้ที่ถูกกักตัวมาจากหลากหลายกลุ่มศาสนา
ในบางกรณี ผู้ลี้ภัยที่ UNHCR รับรองสถานะ ที่รวมทั้งผู้ที่หลบหนีจากการถูกกดขี่ข่มเหงทางศาสนา รายงานว่าตนพักอยู่ที่สถานกักตัวคนต่างด้าวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ในสภาพแออัดเป็นเวลานานหลายปี
สื่อและองค์กรนอกภาครัฐรายงานในระหว่างปีว่า ชาวมุสลิมอุยกูร์หลายสิบคนที่หลบหนีมาจากประเทศจีน ยังคงพำนักอยู่ในสถานกักตัวคนต่างด้าวทั่วประเทศไทย โดยส่วนใหญ่ถูกกักตัวมานานกว่า 5 ปี รายงานฯ กล่าว
ปลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลเห็นชอบให้ใช้กลไกการคัดกรองแบบใหม่ ซึ่งคุ้มครองบุคคลที่รัฐบาลพิจารณาเห็นว่าเป็น “ผู้ได้รับการคุ้มครอง” ไม่ให้ถูกส่งกลับประเทศเป็นการชั่วคราว UNHCR และองค์กรนอกภาครัฐบางแห่งพอใจกับข้อบังคับดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บางองค์กรแสดงความกังวลว่ากระบวนการคัดกรองนี้อาจถูกแทรกแซงทางการเมืองได้
รายงานยังระบุว่า ด้านเอกอัครราชทูตผู้แทนพิเศษของสหรัฐฯ ในประเด็นเสรีภาพทางศาสนานานาชาติ ได้พบกับผู้นำทางศาสนาและประชาสังคมของชาวพุทธ มุสลิม และคาทอลิก เพื่อหารือถึงโอกาสและความท้าทายในการทำให้มีการยอมรับกันระหว่างความเชื่อและมีเสรีภาพทางศาสนาในประเทศมากขึ้น
รัฐบาลสหรัฐฯ ประมาณการ เมื่อกลางปี 2562 ว่า ประชากรทั้งหมดในประเทศไทยมีจำนวน 68.8 ล้านคน จากข้อมูลการสำรวจสำมะโนประชากรล่าสุด เมื่อปี 2553 ร้อยละ 93 ของประชากรนับถือศาสนาพุทธ ส่วนอีกร้อยละ 5 เป็นชาวมุสลิม
กระทรวงยุติธรรมอนุญาตให้นำหลักชะรีอะฮ์มาใช้ เป็นกระบวนการตามกฎหมายแบบพิเศษ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้บังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งแห่งประเทศไทยได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายครอบครัว ซึ่งรวมถึงมรดก และใช้บังคับกับชาวมุสลิมใน “จังหวัดชายแดนภาคใต้” รายงานดังกล่าวระบุ
โดยอิสลาม เป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ชาวมุสลิมส่วนใหญ่ในจังหวัดเหล่านี้มีเชื้อสายมาเลย์ แต่ประชากรมุสลิมทั่วประเทศมีหลายเชื้อชาติ ซึ่งรวมทั้งลูกหลานของผู้อพยพจากเอเชียใต้ จีน กัมพูชา และอินโดนีเซีย รวมทั้งเชื้อสายไทยด้วย จากข้อมูลของกรมการศาสนา กระทรวงวัฒนธรรม ชาวมุสลิมร้อยละ 99 นับถือนิกายสุหนี่