รายงาน : ภัยคุกคามต่อสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มรุนแรงขึ้นในรอบปี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2021.12.02
วอชิงตัน
รายงาน : ภัยคุกคามต่อสมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มรุนแรงขึ้นในรอบปี นักเคลื่อนไหวชุมนุมก่อม็อบ ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา เพื่อประท้วงรัฐบาลเผด็จการทหารอาวุโส มิน ออง ลาย วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
เอพี

สมาชิกรัฐสภาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้องเผชิญกับภัยคุกคามและการข่มขู่เพิ่มขึ้น ในปี 2564 โดยมีสมาชิกรัฐสภาจำนวน 91 คน ถูกควบคุมตัว ซึ่งในปีที่แล้วมีเพียง 1 คน กลุ่มรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดี

รายงานฉบับล่าสุดที่เผยแพร่โดย สมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน (APHR) เรื่อง “สมาชิกรัฐสภากำลังตกอยู่ในความเสี่ยง : ปฏิบัติการณ์ตอบโต้ ส.ส.ฝ่ายค้านในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในปี 2564” พบว่าจำนวน ส.ส. ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ถูกคุมขังเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ เนื่องมาจากการรัฐประหารในเมียนมา เมื่อวันที่ 1 ก.พ. นอกจากนี้ยังระบุถึงพัฒนาการที่น่าตกใจ ในประเทศไทย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์

“ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่มืดมนสำหรับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และในขณะที่ภูมิภาคถลำลึกเข้าไปทุกทีในลัทธิอำนาจนิยม สมาชิกรัฐสภาที่ได้รับการเลือกตั้งก็เป็นหนึ่งที่ตกเป็นเป้าหมายอย่างหนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ยืนหยัดเพื่อความถูกต้องขั้นพื้นฐาน สิทธิมนุษยชน และประชาธิปไตย” เท็ดดี บะกยลัต จูเนียร์ กรรมการบริหารของรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน และอดีตสมาชิกรัฐสภาฟิลิปปินส์ กล่าวแถลงในการเผยแพร่รายงาน

โดยในประเทศไทย รัฐบาลและแนวร่วมยังคงใช้วิธีการตั้งข้อหาในคดีอาญาต่อ ส.ส.พรรคก้าวไกล ขณะที่ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านถูกตกเป็นเป้าโจมตีทางออนไลน์ อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะจากการปฏิบัติการณ์ด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจัดทำโดยหน่วยงานรัฐ

โดย ส.ส.พรรคก้าวไกลถูกโจมตีจากโพสต์บนโซเชียลมีเดีย หลังร้องเรียนโดยอ้างว่า รัฐบาลพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและพรรคร่วม สงสัยมีส่วนเกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชันครั้งใหญ่

“การโจมตีอย่างต่อเนื่องต่อ ส.ส. และอดีต ส.ส. [พรรคอนาคตใหม่] ไม่ว่าจะเป็นการฟ้องคดี หรือถูกเป็นเป้าโจมตีทางออนไลน์ ดูเหมือนจะเป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการณ์อย่างเป็นระบบของรัฐเพื่อทำให้เสื่อมเสียชื่อเสียงและปิดปากพรรค” รายงานระบุ

“แม้จะมีการสูญเสียในส่วนบุคคลที่ถูกนำมาเกี่ยวข้อง และกาคุกคามจากการถูกับกุม และแม้กระทั่งต้องถูกคุมขัง ตลอดเวลานั้น ส.ส.ฝ่ายค้านก็ยังคงท้าทายการบริหารงานระบอบทหาร ในการเมืองไทย และมีการเสนอวาระต่าง ๆ ในประเด็นสิทธิมนุษยชนต่อรัฐสภา” รายงานกล่าว

ส.ส.หลายสิบคนเข้าร่วมกับพรรคก้าวไกล ในช่วงต้นปี 2563 หลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญไทยมีคำสั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ และเจ้าหน้าที่ระดับบริหารของพรรคถูกห้ามไม่ให้ร่วมพรรคการเมือง เป็นเวลาสิบปี โดยกล่าวหาว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรค ได้ให้เงินกู้ยืมแก่พรรค ก่อนการเลือกตั้งทั่วไปในปี 2562 ซึ่งผิดกฎหมายการเลือกตั้ง โดยพรรคอนาคตใหม่ ได้รับคะแนนโหวตสูงเป็นอันดับสาม ในการเลือกตั้งครั้งนั้น

กลุ่มรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้เสนอคำแนะนำแก่ผู้นำรัฐบาล ในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ไทย และกัมพูชา ซึงรวมถึง

- ยุติการคุกคามทางการเมืองทุกรูปแบบต่อสมาชิกรัฐสภาฝ่ายค้านในทันที และยกเลิกการสอบสวนและข้อกล่าวหาที่มีแรงจูงใจทางการเมืองทั้งหมดต่อสมาชิกรัฐสภาเหล่านั้น

- ตรวจสอบให้แน่ใจว่ามีการสอบสวนข้อกล่าวหาการคุกคามและการข่มขู่ดังกล่าวอย่างรวดเร็ว ละเอียดถี่ถ้วน และเป็นกลาง และมีการลงโทษผู้กระทำความผิด

- และ ยุติวาทะที่เป็นการคุกคาม กีดกันเพ และเหยียดหยามสมาชิกรัฐสภาตรี และกล่าวหาโดย "บิดเบือนข้อมูล" ต่อสาธารณะ โดยมุ่งเป้าไปที่สมาชิกรัฐสภา หรือ ส.ส. ฝ่ายค้าน

ท่ามกลางการบ่อนทำลายประชาธิปไตยที่เราได้เป็นประจักษ์พยานในทั่วทั้งภูมิภาค บุคคลที่ทำงานเพื่อปกป้องประชาธิปไตยต้องร่วมมือกันและส่งเสียงให้เป็นหนึ่งเดียวกัน เราเรียกร้องให้รัฐบาลของเราทั้งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ทำทุกวิถีทางภายใต้อำนาจของตน เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชนของ ส.ส. ทุกคน และกระตุ้นเตือนให้เพื่อน ส.ส. ของพวกเราออกมาเรียกร้องให้กับการถูกข่มเหงทุกกรณีที่พวกเขาพบ” เท็ดดี บะกยลต จูเนียร์ กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง