กกต. เคาะวันสมัครชิง สว. 20-24 พ.ค. นี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2024.05.13
กรุงเทพฯ
กกต. เคาะวันสมัครชิง สว. 20-24 พ.ค. นี้ ภาพการประชุมวุฒิสภา ณ ห้องประชุมจันทรา สัปปายะสภาสถาน อาคารรัฐสภาแห่งใหม่ เป็นครั้งแรก วันที่ 5 ส.ค. 2562
วุฒิสภา

คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ประกาศวันรับสมัคร ผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) แล้วโดยสามารถสมัครได้ระหว่างวันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ขณะที่ ผู้มีความประสงค์จะสมัครลงรับเลือกตั้ง สว. เปิดเผยว่า ตัดสินใจไม่ลงสมัครเนื่องจากกติกาซับซ้อน เกรงว่าจะถูกลงโทษหากลงสมัครจริง เพราะทำผิดกติกาโดยไม่ตั้งใจ

นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. เปิดเผยหลังการประชุม กกต. ว่า กกต. ได้กำหนดวันสมัครรับเลือกตั้ง สว. จาก 20 กลุ่มอาชีพแล้วหลังพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา 2567 มีผลบังคับใช้

“มีพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลใช้บังคับ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมนั้น ที่ประชุม กกต. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้งกำหนดวันเลือก และวันรับสมัครรับเลือกสมาชิกวุฒิสภา ตามที่สำนักงานเสนอ ดังนี้ กำหนดวันรับสมัครรับเลือก สว. ตั้งแต่วันที่ 20-24 พฤษภาคม 2567 ระหว่างเวลา 08.30 – 16.30 นาฬิกา” นายอิทธิพร ระบุ เอกสารข่าว กกต. 

กกต. ระบุว่า ผู้ที่ประสงค์สมัครลงรับเลือกตั้ง สว. สามารถสมัครได้ที่ สถานที่ที่ผู้อำนวยการการเลือกตั้ง ระดับอำเภอกำหนด ไม่เว้นวันหยุดราชการ โดยหลังจากนั้นจะมีการให้เลือกตั้งจริงระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน 2567 ระดับจังหวัด วันที่ 16 มิถุนายน 2567 และระดับประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน 2567

“ผู้ที่ประสงค์สมัครรับเลือกเป็นสมาชิกวุฒิสภาจะสมัครได้เพียงกลุ่มเดียว อำเภอเดียว และจะถอนการสมัครไม่ได้ โดยสามารถติดต่อขอรับใบสมัคร (สว. 2) พร้อมแบบข้อมูลแนะนำตัว (สว. 3) และแบบหนังสือรับรองความรู้ ความเชี่ยวชาญ และประสบการณ์ หรือทำงานในกลุ่มที่สมัคร (สว. 4) ด้วยตนเอง ได้ที่สำนักทะเบียนอำเภอ (ที่ว่าการอำเภอ) ทุกแห่ง และสำนักทะเบียนท้องถิ่นสำหรับกรุงเทพมหานคร (สำนักงานเขต)” นายอิทธิพร เปิดเผย

สว. ชุดล่าสุด 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้หมดวาระลงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา หลังจากทำหน้าที่เป็นเวลา 5 ปี และมีโอกาสในการเลือกนายกรัฐมนตรีถึงสองคนตามอำนาจของบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ

สำหรับ สว. ชุดใหม่ 200 คน ที่กำลังจะมีการเลือกตั้งนั้น คุณสมบัติ และรูปแบบการเลือก สว. จะเป็นไปตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว. ฯ) ซึ่งนับเป็นการใช้รูปแบบนี้ครั้งแรก

ผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง สว. ต้องอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ต้องมีประสบการณ์ในสายอาชีพที่จะลงสมัครอย่างน้อย 10 ปี และต้องเกิด หรือมีทะเบียนบ้าน หรือเคยอาศัยทำงาน เรียนในอำเภอที่จะลงสมัครอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป 

มีกลุ่มอาชีพให้เลือกลงรับสมัคร 20 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง, กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก และกลุ่มอื่น ๆ โดยจะให้ผู้สมัครแต่ละคนลงคะแนนเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอ, จังหวัด และประเทศ รวม 3 ระดับ

ในระดับประเทศจะให้ผู้มีคะแนนมากที่สุด 40 คนแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกผู้สมัครจากต่างกลุ่มอาชีพ หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จากการเลือกโดยผู้สมัครต่างกลุ่มอาชีพ จะได้เป็น สว. รวม 200 คน และผู้ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอาชีพจะนับเป็นรายชื่อ สว. สำรอง 100 คน

กลไกที่บิดเบี้ยว

เนื่องจากกติกาที่ซับซ้อน นายสุริยัน กันทวงศ์ เจ้าของร้านลาบในจังหวัดเชียงใหม่ วัย 44 ปี ซึ่งตั้งเป้าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง สว. เปิดเผยว่า ตนเองได้ตัดสินใจล้มเลิกความตั้งใจที่จะลงสมัครหลังจากพบว่า กติกาการสมัครมีความซับซ้อนเกินที่จะทำความเข้าใจได้

“ตัดสินใจไม่ลงรับสมัครในท้ายที่สุด ตั้งแต่ กกต. ออกระเบียบต่าง ๆ มา จากความที่ไม่มีความเข้าใจในข้อกฎหมาย และกฎระเบียบของ กกต. ที่ดูเหมือนทำให้เป็นเรื่องยาก และซับซ้อนเกินไปสำหรับคนธรรมดา เราไม่รู้เลยว่าเราจะผิดกฎหมายข้อไหนบ้าง จะมีการร้องเรียนกลั่นแกล้งกันยังไงบ้าง นอกจากจะไม่ได้เป็น สว. แล้ว เผลอ ๆ อาจจะติดคุก ไม่เอาดีกว่า ความหวังจะเป็น สว. ร้านลาบคนแรกของโลกเลยต้องล้มไป” นายสุริยัน กล่าว

AP23195483116423.jpg
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลถือป้ายประท้วงให้มีการยกเลิก สว. ระหว่างการประท้วงในกรุงเทพฯ วันที่ 14 ก.ค. 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ก่อนหน้านี้ นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย เคยวิจารณ์ระบบการเลือกตั้ง สว. ว่ามีความซับซ้อนและไม่เป็นประชาธิปไตย 

“การเลือกตั้ง สว. ของไทยซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ จะไม่สามารถลบล้างมรดกของการปกครองโดยทหารได้ และยังจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” นายสุณัย เปิดเผยผ่านบทความบนเว็บไซต์ฮิวแมนไรท์วอทช์

นายสุณัย ระบุว่า ระบบการเลือกตั้ง สว. มีข้อบกพร่องในหลายจุด โดยเฉพาะมีความซับซ้อน และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วม ซึ่งอาจถูกตีความได้ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และประเด็นนี้มีปัญหามาก เนื่องจาก สว. มีบทบาทสำคัญในการรับรององค์กรอิสระ

ด้วยระเบียบการเลือกตั้ง สว. ที่มีปัญหาทำให้ นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท ซึ่งประกาศตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง สว. ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. เนื่องจากเห็นว่าทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม 

“คาดหวังจะให้มีการปรับแก้กระบวนการเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญว่า ประสงค์ให้ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ถูกกีดกันหรือคัดกรองจากองค์กรหรือพรรคการเมือง แต่ระเบียบนี้ มันกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทำให้เหมือนการเลือกกันเองในห้องมืด” นายเทวฤทธิ์ กล่าว

ศาลปกครองได้รับคำร้องและนัดไต่สวนนายเทวฤทธิ์ ผู้ร้อง และ กกต. ผู้ถูกร้อง ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 แต่ยังไม่กำหนดวันตัดสิน

ด้าน ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ระบบที่ซับซ้อน และกะทันหันเช่นนี้ อาจทำให้ได้ สว. ที่ไม่สะท้อนความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง

"ระบบการเลือก สว. ที่ซับซ้อน และให้เฉพาะตัวแทนกลุ่มอาชีพลงสมัครได้ อาจทำให้เราได้ สว. ที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน ซึ่งไม่เข้าใจหรือเข้าไม่ถึงกระบวนการ และอาจเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มผลประโยชน์บางกลุ่ม การปฏิรูประบบเลือก สว. ให้เป็นประชาธิปไตย ต้องเปิดกว้างให้ทุกคนมีสิทธิ์ลงสมัครและเลือกตั้งได้โดยตรง ไม่กีดกันคนบางกลุ่ม เรียบง่าย โปร่งใส และตรวจสอบได้” ดร. เอียชา ระบุ

วิทยากร บุญเรือง ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง