ผู้สมัคร สว. กล่าว อยากเปลี่ยนประเทศไทยและรับใช้ประชาชน

อีกไม่นานจะมีวุฒิสภาชุดใหม่ มาแทนชุดที่คณะรัฐประหารแต่งตั้งแล้ว
จิตต์สิรี ทองน้อย
2024.05.02
กรุงเทพฯ
ผู้สมัคร สว. กล่าว อยากเปลี่ยนประเทศไทยและรับใช้ประชาชน วุฒิสภาร่วมพิจารณากฎหมายสมรสเท่าเทียมที่รัฐสภา ในกรุงเทพฯ วันที่ 2 เมษายน 2567
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

พล คอนเทนต์ครีเอเตอร์ กล่าวว่าตนเองมีความอึดอัดใจกับสภาพการเมืองไทยมาโดยตลอด และมองว่าไม่มีหนทางใดที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงได้ นอกจากก้าวเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบ ณ ที่นี้คือวุฒิสภาไทย

พล คือหนึ่งในผู้ต้องการลงสมัคร สว. ชุดใหม่เพื่อทดแทนชุดเก่าที่แต่งตั้งโดยคณะรัฐประหารที่จะหมดวาระลงในวันที่ 10 พฤษภาคมนี้

“ถ้าต้องโหวตว่าต้องยกเลิก สว. ก็จะยกมือให้” ชายหนุ่มวัย 41 ปีกล่าว “ไม่เห็นด้วยกับระบบ แต่ก็เข้าร่วม ก็เป็นหนทางนี้ ก็ไม่รู้จะต่อสู้วิธีไหนจึงจะเปลี่ยนแปลงได้”

พลไม่ใช่ชื่อจริงของผู้ต้องการสมัคร สว. รายนี้ เนื่องจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ออกประกาศห้ามผู้ลงสมัคร สว. ในการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน

สว. ชุดเก่าที่กำลังจะหมดวาระลงสร้างข้อกังขาในสังคมมากมายทั้งการโหวตไม่เลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน อย่างไรก็แล้วแต่ สว. ชุดใหม่จะไม่มีหน้าที่ในการโหวตเลือกนายกฯ แล้ว

ผู้ต้องการลงสมัคร สว. กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่าความต้องการในการทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาคือการแก้รัฐธรรมนูญโดยเฉพาะในหมวดที่มาของ สว.

สว. ชุดใหม่จะผ่านการคัดเลือกจากกลุ่มอาชีพและสังคมทั้งหมด 20 กลุ่ม ทั้งกลุ่มอาชีพด้านการศึกษา สาธารณสุข การเกษตร ศิลปวัฒนธรรม กลุ่มผู้สูงอายุ และกลุ่มผู้มีความพิการเป็นต้น โดยจะมี สว. จำนวน 10 ราย จากแต่ละกลุ่มที่ได้รับการคัดเลือกเข้าไปทำหน้าที่ 

ผู้ลงสมัครรับการคัดเลือกจะต้องมีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยประชาชนทั่วไปจะไม่สามารถมีส่วนร่วมกับการคัดเลือกได้เลย นอกจากลงสมัครเป็น สว. เองเท่านั้น โดย สว. ชุดใหม่จะมีจำนวน 200 คน ลดลงจาก 250 คนในชุดก่อนหน้า

TH-senate-preview2.jpg
อดีตนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

ในสัปดาห์ที่ผ่านมา นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่ กกต. เสนอร่างพระราชกฤษฎีกาให้มีการเลือกสมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดยจะประกาศวันกำหนดและวันที่รับสมัครในวันที่ 13 พฤษภาคม ประกาศวันเลือกสมาชิกวุฒิสภาระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาจังหวัด 16 มิถุนายน วันเลือกสมาชิกวุฒิสภาประเทศ วันที่ 26 มิถุนายน และกำหนดวันที่ประกาศผลเลือกตั้งสมาชิกวุฒิสภาในวันที่ 2 กรกฎาคม

โดยระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้งว่าด้วยการแนะนำตัวในการเลือกสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2567 ได้ปรากฏข้อห้าม เช่น ผู้ประกอบอาชีพทางวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถหรือวิชาชีพดังกล่าวเพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว และห้ามการแนะนำตัวทางวิทยุโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียง เคเบิลทีวี หรือสื่อสิ่งพิมพ์รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าวหรือสื่อโฆษณาซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

นายแสวง บุญมี เลขาธิการกกต. ได้โพสต์ผ่านช่องทางเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า วุฒิสภาเป็นสภาผู้ทรงคุณวุฒิแต่สภาผู้แทนราษฎรเป็นสภาของนักการเมือง ดังนั้น สว. ต้องเป็นกลางทางการเมือง “ต้องเป็นอิสระ นั่นคือต้องไม่มีกลุ่มก้อน ไม่จัดตั้ง ไม่ฮั้ว ไม่ว่าจะกระทำโดยบุคคลหรือคณะบุคคลใด ๆ” และ “ด้วยลักษณะที่ให้ สว. เป็นผู้ทรงคุณวุฒิ และเป็นกลางทางการเมือง เพียงคุณสมบัติ 2 ข้อนี้ก็เป็นจุดเด่นของผู้เป็น สว. ที่จะทำหน้าที่แทนปวงชนชาวไทย จึงเพียงให้แค่แนะนำตัวไม่ต้องหาเสียงเหมือนพรรคการเมืองหรือนักการเมืองแต่อย่างใด”

สว. ชุดเก่า 

สว. ชุดที่กำลังจะหมดวาระได้ถูกแต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อเดือนพฤษภาคม 2562 โดยกว่า 100 คน เป็นกลุ่มคนในเครื่องแบบทั้งยังอยู่ในราชการหรือเกษียณไปแล้ว รวมไปถึงน้องชายของ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ส่วน สว. ที่เหลือมีจุดยืนทางการเมืองเป็นพันธมิตรกับคณะรัฐประหารและเป็นปฏิปักษ์กับฐานการเมืองของกลุ่มชินวัตร

สว. ชุดดังกล่าวมีเสียงครหาหนาหูทั้งที่มาและอำนาจหน้าที่ โดยในการลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งในปี 2566 ได้กระทำอย่างขัดสายตาคนดู โดยหลังจากพรรคก้าวไกลได้ชนะการเลือกตั้งและได้รวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้แล้วกว่า 312 เสียง กลับไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจาก สว. ให้นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ได้เป็นนายกรัฐมนตรี โดยต้องอาศัยเสียงรวมกัน 376 เสียง ทั้งสองสภา

“สว. ชุดที่คณะรัฐประหารตั้งขึ้นทำหน้าที่เป็นตรายางของกลุ่มอนุรักษ์นิยมเท่านั้น” พอล เชมเบอร์ส นักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าว

“อย่างไรก็แล้วแต่ สว. ได้โหวตรับรองนายเศรษฐาเพียงเพื่อจะไม่ให้นายพิธา ซึ่งมีจุดยืนสนับสนุนแนวคิดแบบก้าวหน้า ได้ดำรงตำแหน่ง” 

TH-senate-preview3.jpg
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ณ ที่ทำการพรรคเพื่อไทย หลังได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าให้ดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

ผู้ต้องการลงสมัคร สว. ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่าต้องการเปลี่ยนแปลงหน้าที่และบทบาทของสว. ซึ่งที่ผ่านมาไม่ได้สะท้อนเจตจำนงของประชาชน

พล กล่าวว่า “คิดว่าสถาบันใดจะมีอยู่ต้องรับใช้ประชาชน แต่ถ้าเข้ามาไม่ถูกต้องก็ไม่ควรต้องมีอำนาจหน้าที่ในสิ่งที่ประชาชนต้องการ”

นักดนตรีรายหนึ่งซึ่งต้องการลงสมัครเช่นกันกล่าวว่า “สาเหตุที่ลงสมัคร สว. เพราะเป็นหนึ่งในช่องทางเล็ก ๆ ที่ประชาชนจะสามารถมีสิทธิ์ในการเลือกสว. แต่ระบบการเลือก สว. คิดว่าซับซ้อนมาก ๆ ไม่แน่ใจว่าประชาชนได้ประโยชน์กับระบบแบบนี้จริง ๆ หรือไม่”

ส่วนนักวิชาการที่ปัจจุบันเกษียณแล้วกล่าวว่า “ระบบการคัดเลือกไม่ยึดโยงกับประชาชนแน่นอนอยู่แล้ว เพราะประชาชนทั่วไปไม่มีสิทธิเลือก ก็เท่ากับตัดสิทธิประชาชนคนอื่นทั้งหมด แต่ผมก็มีความหวังว่าน่าจะฝ่าฟันเข้าไปได้ ผมมีมิชชั่นของผม ผมต้องการเข้าไปแก้รัฐธรรมนูญ สว. เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งทำให้แก้รัฐธรรมนูญได้ ขึ้นอยู่กับว่า สว. กลุ่มไหนเข้าไป ถ้า สว. ที่ไม่ต้องการเปลี่ยนประเทศเข้าไปเป็นเสียงข้างมาก ก็เปลี่ยนไม่ได้อยู่แล้ว การเปลี่ยนประเทศคือแก้รัฐธรรมนูญ”

แก้รัฐธรรมนูญ

กระบวนการขั้นตอนการแก้รัฐธรรมนูญได้เริ่มต้นขึ้น โดยเมื่อวันที่ 23 เมษายน ครม. มีมติเห็นชอบการออกเสียงประชามติ 3 ครั้ง ตามมติของคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติที่นายเศรษฐาตั้งขึ้น

การใช้เสียงเห็นชอบในวาระที่หนึ่งและวาระที่สาม ต้องมี สว. เห็นชอบไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนทั้งหมดของ สว. ในการเสนอขอแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภา โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ถูกตีตกหลายครั้งโดย สว.

ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือไอลอว์ กล่าวว่า “คาดหวังให้ สว. สนับสนุนการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ไม่เหมือนที่ผ่านมา สองการเลือกสรรคนดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ เพราะที่ผ่านมาเหมือนสั่งได้ว่าต้องเป็นคนของใคร ถ้าเขาไม่พอใจเขาก็ไม่เอา สว. ชุดใหม่น่าจะมีความหลากหลาย และอยากให้เปลี่ยนที่มา สว.”

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา กกต. ได้มีการเตือนพฤติกรรมการเชิญชวนคนมาลงสมัคร สว. โดยเกิดขึ้นในช่วงเวลาเดียวกับที่ นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เดินสายรณรงค์การลงสมัคร สว. ในหลายพื้นที่ โดยได้มีเสียงวิพากษ์จากฝ่ายอนุรักษ์นิยมว่าอดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ต้องการส่ง “สว. สีส้ม” เข้าสภา

TH-senate-preview4.jpg
นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ปราศรัยหน้าทำเนียบรัฐบาลในกรุงเทพฯ โดยมีฉากหลังเป็นในงานศิลปะชาวกะเหรี่ยงจากชุมชนบางกลอย เมื่อเดือนมีนาคม 2564 (ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี)

ยิ่งชีพกล่าวว่าไม่สามารถคาดเดาผลการคัดเลือก สว.ได้เลย แต่น่าจะมีความหลากหลาย ไม่ได้ลงคะแนนเสียงไปในทางเดียวกันเหมือน สว. ชุด 2562-2567

อาจารย์เชมเบอร์ส จากมหาวิทยาลัยนเรศวรกล่าวว่า “การคัดเลือก สว. เป็นการเลือกตั้ง สว. แบบทางอ้อมทำให้กลุ่มหัวก้าวหน้าได้มีอิทธิพลในสภาสูงบ้าง แต่ สว. ก็ยังไม่ได้ผ่านการเลือกตั้งแบบเต็มตัวเหมือนชุดเมื่อปี 2543”

“สว. ชุดใหม่นี้อาจจะมีความก้าวหน้า มีความเป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง ซึ่งก็น่าจะทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยมเกิดความหวาดกลัว และบางคนก็อยากจะให้เกิดรัฐประหารอีกครั้งด้วยซ้ำไป”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง