นักสิทธิ-นักวิชาการชี้ ระบบเลือกตั้ง สว. อาจไม่เป็นประชาธิปไตย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ รุจน์ ชื่นบาน
2024.05.07
กรุงเทพฯ
นักสิทธิ-นักวิชาการชี้ ระบบเลือกตั้ง สว. อาจไม่เป็นประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภาไทยเข้าร่วมการประชุมรัฐสภา ที่กรุงเทพฯ วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563
ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี

นักสิทธิมนุษยชน และนักวิชาการ ต่างเห็นตรงกันว่า ระบบเลือกตั้ง สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ที่จะเริ่มเปิดรับสมัครในวันที่ 13 พฤษภาคม 2567 นี้ อาจไม่เป็นประชาธิปไตย เนื่องจาก เป็นการเลือกกันเองเฉพาะกลุ่มอาชีพ และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทุกคนมีส่วนร่วม ด้าน คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) แจง เลือก สว. ประชาชนมีส่วนร่วมเต็มที่ในการสังเกตการณ์

“การเลือกตั้ง สว. ของไทยซึ่งมีกำหนดจะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้ จะไม่สามารถลบล้างมรดกของการปกครองโดยทหารได้ และยังจะเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูการปกครองในระบอบประชาธิปไตย” นายสุณัย ผาสุข ที่ปรึกษาองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ประจำประเทศไทย ระบุ

เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์ เผยแพร่บทความที่ระบุว่า ระบบการเลือกตั้ง สว. มีข้อบกพร่องในหลายจุด โดยเฉพาะมีความซับซ้อน และไม่เปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปได้มีส่วนร่วม ซึ่งอาจถูกตีความได้ว่า ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย และประเด็นนี้มีปัญหามาก เนื่องจาก สว. มีบทบาทสำคัญในการรับรององค์กรอิสระ

“แม้ว่า สว. ชุดใหม่จะไม่มีส่วนในการเลือกนายกรัฐมนตรีอีกแล้ว แต่ยังคงมีสิทธิในการรับรองผู้ดำรงตำแหน่งในหน่วยงานสำคัญ ๆ เช่น กกต. คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการยุบพรรคการเมือง และตัดสิทธิ์ สส. รวมทั้ง สว.ยังมีอำนาจเห็นชอบการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้” นายสุณัย กล่าว

สว. ชุดปัจจุบัน 250 คน ที่แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำลังจะหมดวาระลง และจะมีการเปิดรับสมัคร ผู้ลงสมัครรับเลือกเป็น สว. ในวันที่ 13 พฤษภาคมนี้ โดยคุณสมบัติ และรูปแบบการเลือก สว. จะเป็นไปตาม พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งวุฒิสภา พ.ศ. 2561 (พ.ร.ป. สว. ฯ) ซึ่งนับเป็นการใช้รูปแบบนี้ครั้งแรก

ผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง สว. ต้องอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป จ่ายเงินค่าสมัคร 2,500 บาท ต้องมีประสบการณ์ในสายอาชีพที่จะลงสมัครอย่างน้อย 10 ปี และต้องเกิด หรือมีทะเบียนบ้าน หรือเคยอาศัยทำงาน เรียนในอำเภอที่จะลงสมัครอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป 

มีกลุ่มอาชีพให้เลือกลงรับสมัคร 20 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มการบริหารราชการแผ่นดินและความมั่นคง, กลุ่มกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม, กลุ่มอาชีพทำนา ปลูกพืชล้มลุก และกลุ่มอื่น ๆ โดยจะให้ผู้สมัครแต่ละคนลงคะแนนเลือกกันเองในกลุ่มอาชีพตั้งแต่ระดับอำเภอ, จังหวัด และประเทศ รวม 3 ระดับ

ในระดับประเทศจะให้ผู้มีคะแนนมากที่สุด 40 คนแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ เลือกผู้สมัครจากต่างกลุ่มอาชีพ หลังจากนั้นผู้ที่ได้รับคะแนนมากที่สุด 10 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม จากการเลือกโดยผู้สมัครต่างกลุ่มอาชีพ จะได้เป็น สว. รวม 200 คน และผู้ที่ได้รับคะแนนเป็นอันดับ 11-15 ของแต่ละกลุ่มอาชีพจะนับเป็นรายชื่อ สว. สำรอง 100 คน

“สว. สำคัญกับประเทศชาติอย่างยิ่งโดยเฉพาะเดินหน้ารัฐธรรมนูญประชาชน ทั้งการเลือกผู้มาดำรงตำแหน่งในองค์กรที่จะต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ ทั้งการออกกฎหมายต่าง ๆ ดีไม่ได้ดีสำคัญกว่า สส. อีกในบางแง่มุม แต่กฎหมายเลือกตั้ง สว. เหมือนไม่ได้อยากให้ประชาชน มีส่วนร่วมสักเท่าไหร่” นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้อำนวยการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าว

หลังถูกวิจารณ์ นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. ยืนยันว่า การเลือก สว. ประชาชนสามารถมีส่วนร่วมได้ โดยการตรวจสอบและสังเกตการณ์ 

“กกต. ตระหนักถึงความสำคัญของประชาชน ดังนั้น ประชาชนมีสิทธิติดตาม ตรวจสอบ สังเกตการณ์ตั้งแต่หลังปิดสมัคร กกต.จะนำชื่อผู้สมัคร สว.ทุกคน เผยแพร่ลงในแอพพลิเคชั่นสมาร์ท โหวต และในเว็บไซต์ของสำนักงาน กกต. ผู้สมัคร สว.สามารถติดต่อกันได้ทางอีเมล์ หรือแอพพลิเคชั่นไลน์ เพื่อแนะนำตัวเอง คิดว่าระบบนี้เพียงพอจะทำให้ประชาชน และผู้สมัคร สว. มีข้อมูลในการพิจารณาเลือกผู้สมัครด้วยกันเองได้” นายแสวง กล่าว

กกต. ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สว. ไม่สามารถหาเสียงได้ โดยทำได้เพียงแนะนำตัวเอง และประสบการณ์การทำงานเท่านั้น 

AP23195483125548.jpg
ผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลชูแผ่นป้ายประท้วง เรียกร้องให้ สว. เคารพหลักการประชาธิปไตย วันที่ 14 กรกฎาคม 2566 หลังการโหวตเลือกนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกรัฐมนตรี ไม่ผ่าน (ศักดิ์ชัย ลลิต/เอพี)

"ในระบอบประชาธิปไตย สว. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชน หากให้สิทธิ์เฉพาะบางกลุ่ม ก็ยากที่ สว. จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนประชาชนได้อย่างแท้จริง การเลือกต้องเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนมีสิทธิ์ลงสมัครและเลือกตั้งได้โดยตรง ต้องปรับกระบวนการให้เรียบง่าย โปร่งใส และตรวจสอบได้” ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ 

ก่อนหน้านี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบให้กำหนดวันเลือกตั้ง สว. ระดับอำเภอ วันที่ 9 มิถุนายน 2567 ระดับจังหวัด 16 มิถุนายน 2567 ระดับประเทศ 26 มิถุนายน 2567 และประกาศผลการเลือกตั้งในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567 

ด้วยระเบียบการเลือกตั้ง สว. ที่มีปัญหาทำให้เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 นายเทวฤทธิ์ มณีฉาย บรรณาธิการบริหาร สำนักข่าวประชาไท ซึ่งประกาศตัวว่าจะลงสมัครรับเลือกตั้ง สว. ได้ยื่นฟ้องศาลปกครองให้เพิกถอนระเบียบ กกต. ว่าด้วยการแนะนำตัวผู้สมัคร สว. เนื่องจากเห็นว่าทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม 

“คาดหวังจะให้มีการปรับแก้กระบวนการเป็นไปตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญว่า ประสงค์ให้ประชาชนที่ต้องการมีส่วนร่วมทางการเมือง ไม่ถูกกีดกันหรือคัดกรองจากองค์กรหรือพรรคการเมือง แต่ระเบียบนี้ มันกีดกันการมีส่วนร่วมของประชาชน ซึ่งทำให้เหมือนการเลือกกันเองในห้องมืด” นายเทวฤทธิ์ กล่าว

นายเทวฤทธิ์ ระบุในคำร้องศาลปกครองว่า ระเบียบการเลือกตั้ง สว. ทำให้ 1. ขาดการมีส่วนร่วม 2. ขาดความเป็นตัวแทน และไม่เอื้อให้เกิดความรับผิดชอบของผู้ดำรงตำแหน่ง และ 3. กระทบต่อเสรีภาพในการประกอบอาชีพของกลุ่มสื่อสารมวลชน ผู้สร้างสรรค์วรรณกรรม และกลุ่มศิลปะ วัฒนธรรม ดนตรี การแสดง และบันเทิง นักกีฬา โดยศาลได้รับคำร้องและนัดไต่สวนผู้ร้อง และ กกต. ผู้ถูกร้อง ในวันที่ 15 พฤษภาคม 2567 แต่ยังไม่กำหนดวันตัดสิน

“หาก สว. ยังมาจากระบบการคัดเลือกที่จำกัดสิทธิ์ ไม่เปิดกว้าง และถูกครอบงำโดยกลุ่มผลประโยชน์ เราก็จะเห็นกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก สว. ดังขึ้นเรื่อย ๆ เพราะสวนทางกับเจตนารมณ์ประชาธิปไตยที่อำนาจต้องมาจากประชาชน” ดร. เอียชา กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง