แรงงานพลิกชีวิต รีไซเคิลขยะเป็นเสื้อผ้ามือสอง
2024.05.01
กรุงเทพฯ
ผู้ใช้แรงงานในบางสายงานและบางอาชีพ ยังคงทำงานอย่างไม่มีวันหยุด อย่างเช่นแรงงานในอุตสาหกรรมจัดการขยะเทศบาลในกรุงเทพฯ ได้ค้นพบวิธีใหม่ในการลดขยะของประเทศไทยและช่วยเหลือสิ่งแวดล้อม ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างรายได้เพื่อเลี้ยงชีวิตและครอบครัวจากการเก็บขยะ
“แต่ก่อนเราทำอาชีพรับจ้างทั่วไป แล้วก็เก็บของเก่า แต่รายได้มันก็ไม่พอใช้ ไม่พอให้ลูก จนวันนึงเราสังเกตว่า มีคนชอบเอาเสื้อผ้า ของใช้ดี ๆ มาฝากทิ้งกับรถเก็บขยะ กทม. เราเลยเกิดความคิดว่า ทำไมเราไม่เอาของที่สภาพดี ๆ อย่างนั้นมาทำความสะอาด แล้วเอามาขายเป็นของมือสอง ซึ่งสร้างรายได้มากขึ้น แล้วก็ช่วยลดขยะเหลือทิ้งด้วย” ฉลวย สายอุทา หรือป้าต้น เล่าที่มาของอาชีพปัจจุบัน
ไม่รู้ว่าเป็นความจงใจหรือไม่ แต่สิ่งที่ป้าต้นใช้ในการเลี้ยงดูครอบครัวได้สอดคล้องกับบางส่วนของแผนปฏิบัติการด้านการจัดการขยะของประเทศ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2565–2570) คือ 1. ขยะมูลฝอยชุมชนได้รับการจัดการอย่างถูกต้อง 80% และนำไปรีไซเคิล 36% และ 2. เพิ่มการเอาขยะกลับมาใช้ประโยชน์หรือรีไซเคิล 74%-100%
“ความขัดสนทำให้ด้านสภาพแวดล้อมครอบครัวเราไม่ดีไปด้วย จนลูกสาวหันไปพึ่งยาเสพติด พอเราเริ่มอาชีพขายเสื้อผ้ามือสอง ชีวิตมันก็ดีขึ้น เราสามารถพาลูกสาวให้มีชีวิตที่ดีขึ้น เลิกยาเสพติด จนเขาได้แต่งงานแล้วย้ายไปสร้างครอบครัวที่ต่างจังหวัด” ป้าต้น กล่าว
10 กว่าปีที่ผ่านมา เมื่อภาครัฐยังจัดการได้ไม่ดี ภาระการดูแลสิ่งแวดล้อมจึงตกถึงมือแรงงานตัวเล็กตัวน้อยอย่างป้าต้น แรงงานผู้พลิกชีวิตครอบครัวจากกองขยะ และเปลี่ยนโลกด้วยการคัดแยก ทำความสะอาด และนำมันกลับมาขายในทุกสัปดาห์
กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สถานการณ์ขยะมูลฝอยของไทยมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2562 ที่ 28.71 ล้านตัน หรือเฉลี่ยประชาชนหนึ่งคนผลิตขยะมูลฝอย 1.18 กิโลกรัมต่อวัน ขณะที่ปี 2565 ลดเหลือ 25.70 ล้านตัน เฉลี่ย 1.07 กิโลกรัมต่อคนต่อวัน
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลเดียวกันระบุว่า ปี 2565 มีขยะที่ถูกคัดแยกและใช้ประโยชน์เพียง 4.8 ล้านตันเท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยยังขาดแคลนสถานที่กำจัดขยะมูลฝอยอย่างถูกต้องในเกือบ 20 จังหวัด เช่น ชัยภูมิ นครนายก นครศรีธรรมราช ปทุมธานี ปราจีนบุรี พะเยา พัทลุง แพร่ มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ระนอง ลพบุรี เลย สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สิงห์บุรี สุราษฎร์ธานี อ่างทอง และอำนาจเจริญ