นักเรียนประท้วงชุดนักเรียน ใส่ไปรเวทเข้าเรียน
2020.12.01
กรุงเทพฯ

ในวันอังคารนี้ นักเรียนในหลายโรงเรียนทั่วประเทศนัดกันใส่ชุดไปรเวทไปเรียน เพื่อประท้วงกฎที่ต้องให้นักเรียนใส่ชุดนักเรียนเพื่อเข้าเรียน เนื่องจากนักเรียนเห็นว่า การใส่ชุดไปรเวทไปเรียนสามารถทำได้ เพราะเป็นสิทธิในเนื้อตัวร่างกาย และไม่กระทบต่อการเรียน ด้านนายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการชี้ การใส่ชุดไปรเวทไปเรียนผิดระเบียบ และมีโทษ
การนัดแต่งชุดไปรเวทไปโรงเรียนของนักเรียนหลายโรงเรียนทั่วประเทศ เริ่มขึ้นจากการเชิญชวนบนโลกอินเทอร์เน็ตของกลุ่มภาคีนักเรียน KKC จังหวัดขอนแก่น และกลุ่มนักเรียนเลว โดยนัดให้ทำกิจกรรมนี้ ในวันที่ 1 ธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นวันเปิดเทอมของหลายโรงเรียน นำไปสู่การตอบรับจากโรงเรียนหลายสิบโรงเรียนทั่วประเทศ เช่น เตรียมอุดมศึกษา เซนต์โยเซฟคอนเวนต์ ขอนแก่นวิทยายน มงฟอร์ตวิทยาลัย (เชียงใหม่) สกลราชวิทยานุกูล (สกลนคร) นครนายกวิทยาคม เป็นต้น
“นักเรียนทุกคนจงอย่ากลัวที่จะตั้งคำถามกับการมีอยู่ของเครื่องแบบนักเรียน เราขอเชิญชวนให้พี่น้องนักเรียนใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน เพื่อเป็นการตั้งคำถามว่าชุดนักเรียนนั้นสำคัญจริงหรือ หากใส่ชุดไปรเวทไป ครูจะไม่ให้เราเข้าเรียน เพียงเพราะเราไม่ได้ใส่เครื่องแบบ? สุดท้ายแล้วเราไปเรียนเพื่ออะไรกัน หากสิ่งที่ครูและผู้ใหญ่ให้ความสนใจมากกว่าการเรียน คือเครื่องแบบนักเรียน? ถ้าปล่อยให้ 10 คนใส่ชุดไปรเวท 10 คนนั้นอาจถูกทำโทษ แต่หากนักเรียนทั้งโรงเรียนใส่ชุดไปรเวท ทุกคนลองคิดภาพว่าจะเกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นบ้าง” เฟซบุ๊กแฟนเพจภาคีนักเรียน KKC ระบุ
โดยในเย็นวันอังคาร กลุ่มนักเรียนเลวได้จัดชุมนุมที่หน้ากระทรวงศึกษาธิการ โดยไม่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้า เพื่อประท้วงเรื่องเครื่องแบบนักเรียน
“เราไม่ได้ต้องการจะยกเลิกชุดนักเรียน แต่เราต้องการให้ยกเลิกการบังคับใส่ชุดไปเรียน เราควรมีสิทธิในการเลือกว่าในทุก ๆ วัน เราจะใส่อะไรไปโรงเรียน ทั้งเครื่องแบบและทรงผม ไม่ได้ช่วยให้ใครดีขึ้นหรอกค่ะ” ตอนหนึ่งของการปราศรัย โดยแกนนำกลุ่มนักเรียนเลว ระบุ
ต่อกิจกรรมวันนี้ น.ส.เบญจมาภรณ์ นิวาส หรือ พลอย แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ถึงเหตุผลที่ผลักดันให้มีการใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน เนื่องจากต้องการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงเสรีภาพ
“ก็เราอยากจะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงมากยิ่งขึ้น ในเรื่องของการบังคับให้ทุกคนใส่ชุดนักเรียน แต่เราอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงโดยให้เปิดเสรีเครื่องแต่งกาย คือใครอยากใส่ชุดนักเรียนใส่ ใครอยากใส่ไปรเวทใส่ ไม่ต้องมีการมาบังคับอะไรทำนองนี้” น.ส.เบญจมาภรณ์ ระบุ
ขณะที่ น.ส.ธนาภรณ์ พรหมภัทร์ หรือขิม นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ร.ร.สาธิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เปิดเผยว่า ตนเองใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียน ตั้งแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 แล้วเพราะเห็นว่า การใส่ชุดไปรเวทไปเรียนเป็นการเคลื่อนไหวที่สามารถทำได้ทันที และจากวันนั้นถึงปัจจุบัน ก็ทำให้ในห้องเรียนมีนักเรียนใส่ชุดไปรเวทเข้าเรียนถึง 60 เปอร์เซ็นต์
“ข้อเสียของการมีชุดนักเรียน ทำให้เราแทบไม่ต้องคิดอะไรเลยในการมาโรงเรียน ไม่รู้ว่าเราเหมาะกับเสื้อสีไหน ชอบสีอะไร มันพันธนาการเรา ถือว่าเป็นการถูกครอบงำทางอุดมการณ์ ทำให้เราไม่ตั้งคำถาม ทั้งที่มันเป็นสิ่งที่แนบชิดกับเนื้อตัวร่างกายเรา ถ้าเราตั้งคำถามกับเรื่องนี้ไม่ได้ มันก็เป็นเรื่องยากที่จะตั้งคำถามกับเรื่องอื่นที่เป็นประเด็นทางสังคม” น.ส. ธนาภรณ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ขณะเดียวกัน แม้จะมีนักเรียนจากหลายโรงเรียนสามารถร่วมกิจกรรมใส่ชุดไปรเวทไปเรียน แต่บางโรงเรียน นักเรียนไม่สามารถร่วมกิจกรรมนี้ได้ เนื่องจากกลัวจะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหว นายสมชาย (สงวนนามสกุล) ครูจากโรงเรียนหญิงล้วนแห่งหนึ่ง ในจังหวัดนครปฐม เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า นักเรียนหลายคนในโรงเรียนต้องการที่จะร่วมกิจกรรมใส่ชุดไปรเวทเข้าเรียน แต่ตัดสินใจไม่ร่วม เพราะกลัวถูกต่อว่า หรือทำโทษจากครู
“มีนักเรียนถามผมมาว่า ใส่ชุดไปรเวทไปเรียนได้ไหม ผมบอกให้นักเรียนลองดู แต่นักเรียนก็กลัวต้องเข้าห้องปกครอง ผมบอกว่าห้องปกครองไม่น่าจะขังเด็กทั้งโรงเรียนพอ วันนี้ เด็กบางคนเลยร่วมกิจกรรมด้วยการใส่เสื้อกันหนาวแทนเสื้อนักเรียน แต่ก็ไม่ถึงขั้นใส่ชุดไปรเวท เด็กบางคนไม่พร้อมใส่ชุดไปรเวทก็มี เด็กบางคนกลัวผู้ปกครอง กลัวครู พวกเขาอาจจะอยู่ในจังหวัดที่ถูกกดขี่ จนไม่รู้ว่าเสรีภาพเป็นยังไงก็ได้ เขาเลยไม่กล้าเหมือนเด็กกรุงเทพฯ” นายสมชาย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
การเคลื่อนไหวใส่ชุดไปรเวทไปโรงเรียนครั้งนี้ เป็นหนึ่งในการเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับ การชุมนุมต่อต้านรัฐบาล ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคม 2563 โดยการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียน มีกลุ่มที่ใช้ชื่อ “นักเรียนเลว” เป็นแกนนำ ขณะเดียวกันก็มีความเคลื่อนไหวในลักษณะเดียวกันของนักเรียนเกิดขึ้นในหลายจังหวัดทั่วประเทศ เช่น จังหวัดขอนแก่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดอุดรธานี เป็นต้น
รมว. ศึกษาฯ ชี้ แต่งชุดไปรเวทไปเรียนผิดกฎ ต้องถูกลงโทษ
นายณัฎฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนถึงกรณีที่นักเรียนทั่วประเทศนัดกันแต่งชุดไปรเวทไปเรียนว่า การกระทำของนักเรียนเข้าข่ายผิดกฎกระทรวงศึกษาธิการ และจะต้องได้รับการลงโทษ แต่การลงโทษจะไม่ถึงขั้นไล่ออกจากโรงเรียน
“เราอยู่ในสังคม หรือว่าหน่วยงานที่มีระเบียบข้อบังคับอยู่ เราก็คงต้องทำตาม ไม่ทำตาม ก็คงจะมีผลกระทบ ก็พยายามทำความเข้าใจว่า ถ้าหากทำต่อไป มันมีผลกระทบที่ตามมา ที่มันรุนแรงไปกว่าเดิม ก็คือการเชิญผู้ปกครองมาทำความเข้าใจว่า ทำไม่ได้ ก็อาจมีการตัดคะแนน ไม่โทษนักเรียน ผมคิดว่า แกนนำหรือคนที่คิดเรื่องนี้ขึ้นมา ต้องบอกตรง ๆ ว่าใจร้าย การที่เอานักเรียนมายืนเผชิญหน้ากับสถานศึกษา” นายณัฎฐพล กล่าว
“ทุก ๆ ปัญหาผมรับฟัง และพยายามแก้ไขอยู่ ผมมั่นใจว่ามีเด็กจำนวนนึงที่ยังสบายใจใส่ชุดนักเรียน ผู้ปกครอง จำนวนมากเกิน 50 เปอร์เซ็นต์แน่นอนที่คิดว่าชุดนักเรียนยังมีความเหมาะสมอยู่สำหรับลูก ๆ ของท่าน… ไม่ใช่เขามาใส่ชุดไปรเวทแล้วเราต้องยอมทำตรงนี้ มันไม่ใช่ เพราะในอนาคตเด็ก ๆ ออกมาบอกว่า ขอไม่เล่นกีฬา เพราะในชีวิตจริงไม่ได้เล่นกีฬา เราก็ต้องทำตามเหรอครับ มันไม่ใช่ ผมว่ามันเป็นเรื่องที่ เราต้องใช้ความระมัดระวังในการพูดคุยกัน” นายณัฎฐพล กล่าวเพิ่มเติม
หลังจากมีการนัดทำกิจกรรมใส่ชุดไปรเวทไปเรียน โรงเรียนบางโรงเรียน เช่น บดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) หอวัง ได้ออกประกาศเป็นหนังสือของโรงเรียนที่ระบุว่า นักเรียนที่ไม่ใส่ชุดนักเรียนเข้าเรียน จะถูกเชิญผู้ปกครองด้วย
ต่อกิจกรรมที่เกิดขึ้น ดร. ยุพเทพ บุญฤทธิ์รักษา ผู้อำนวยการโรงเรียนมณีอนุสรณ์ศึกษา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า โรงเรียน ผู้บริหารสถานศึกษา หรือครูจำเป็นต้องพูดคุยกับนักเรียน เพื่อหาทางออกร่วมกัน ในเรื่องการศึกษา รวมถึงเรื่องชุดนักเรียน
“สำหรับผม ชุดนักเรียนเป็นแค่เรื่องแบรนด์ของโรงเรียนเท่านั้น ถ้านักเรียนอยากลอง ก็มาคุยกันว่าจะใส่ชุดไปรเวทกี่วันดู มีเหตุผลอะไรที่อยากใส่ แล้วถ้าลองใส่แล้ว กฎระเบียบอื่น ๆ ของโรงเรียนยังดีอยู่ การเรียนดีขึ้น หรือไม่กระทบการเรียน ก็โอเคเลย ถ้าเรามองถึงประสิทธิผลทางการศึกษา แล้วมันไม่กระทบก็ลุยเลย โรงเรียนอื่น ๆ ก็น่าจะลองดู เพราะการศึกษาควรจะข้ามเรื่องชุดนักเรียนไปสู่คุณภาพการศึกษาแล้ว แต่บางที่ เรื่องชุดนักเรียนบางทีเป็นความต้องการของผู้ปกครองไม่ใช่โรงเรียน เพราะเห็นว่าเรียบร้อยดี” ดร. ยุพเทพ กล่าวผ่านโทรศัพท์
ด้าน น.ส.นวพร สุนันท์ลิกานนท์ ศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านเด็กและเยาวชน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลวครั้งนี้ เป็นการปะทะกันทางความคิด โดยใช้โรงเรียนเป็นสถานที่เพื่อแสดงการต่อต้าน เพราะโรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของทั้งภาครัฐและการใช้อำนาจในเชิงวัฒนธรรม แม้นักเรียนบางรายอาจอยู่ในภาวะที่สับสน แต่การปะทะกันทางวัฒนธรรมนี้หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว
“ถ้านักเรียนประกาศชัดเจนว่าจะใส่ชุดไปรเวทต่อไปอีก สิ่งที่น่าเป็นห่วงหลังจากนี้ คือบรรยากาศในโรงเรียน เจ้าหน้าที่และครูในโรงเรียนจะประคับประคองบรรยากาศนั้นไปอย่างไร สำหรับคนที่เห็นด้วย และคนที่ไม่เห็นด้วย เพราะเป็นการปะทะกันแบบคู่ตรงข้าม รวมถึงจะสร้างข้อถกเถียง และนำไปสู่ทางออกกันได้อย่างไร เป็นคำถามที่สำคัญกว่า” นางสาวนวพร ให้สัมภาษณ์ทางโทรศัพท์
พลเอกประยุทธ์ไม่กังวล ก่อนที่จะมีการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ พรุ่งนี้
อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกัน พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนต่อกรณีศาลรัฐธรรมนูญนัดอ่านคำวินิจฉัย เรื่องบ้านพักทหาร ในวันที่ 2 ธันวาคม ว่าเป็นเรื่องวินิจฉัยของศาล ไม่รู้สึกกังวลกับการอ่านคำวินิจฉัย กรณีคุณสมบัตินายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของตน จากคดีที่เกี่ยวข้องกับการพักอาศัยในบ้านพักข้าราชการหลังเกษียณ ระบุ พร้อมยอมรับคำวินิจฉัย
“ที่ผ่านมาผมก็เคยมีคดีความ ก็ชี้แจงไป มีผู้ที่เข้ามาตรวจสอบ ก็เท่านั้น ผิดก็คือผิด ไม่ผิดก็ไม่ผิด ก็จบ เหมือนคดี ๆ ทั่ว ๆ ไป” พลเอกประยุทธ์ ระบุ ก่อนที่จะมีการวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญในวันพรุ่งนี้
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ มีส่วนร่วมรายงาน