ไทย, มาเลเซีย ไม่พบข้อมูลก่อการร้ายช่วงนี้ แม้ว่าญี่ปุ่นจะออกคำเตือน
2021.09.13
วอชิงตัน กัวลาลัมเปอร์ และกรุงเทพฯ

ทางการไทยและมาเลเซีย ระบุว่ายังไม่พบข้อมูลยืนยันว่าจะเกิดเหตุระเบิดฆ่าตัวตาย ตามที่รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศเตือนพลเรือนของตนเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมานี้ ในขณะที่ตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายแห่งอินโดนีเซียกล่าวว่าจะสืบสวนหาความจริงในกรณีนี้
รัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกคำเตือนพลเมืองของตนเองให้เพิ่มการระมัดระวัง หากเดินทางหรืออาศัยอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สืบเนื่องมาจากรายงานของกลุ่ม ไซต์ อินเทลลิเจนส์ ที่มีสำนักงานอยู่ในสหรัฐฯ ที่บอกว่ากองกำลังที่มีความเกี่ยวเนื่องกับกลุ่มหัวรุนแรงที่เรียกตัวเองว่า รัฐอิสลาม หรือ ไอเอส (Islamic State – IS) ในอัฟกานิสถาน ได้ประกาศว่า “ถึงเวลาแห่งสงคราม” ซึ่งหมายถึงว่าอาจจะมีปฏิบัติการก่อการร้ายรุนแรงใน 6 ประเทศ อันประกอบด้วย ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เมียนมา ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์
นอร์มาห์ อิสชัค ผู้บัญชาการตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายของมาเลเซีย ระบุว่า การเตือนของญี่ปุ่นเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจที่ทำเป็นประจำอยู่แล้ว
นอร์มาห์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ทางเรายังไม่ได้รับข้อมูลอันน่าเชื่อได้ว่าจะมีปฏิบัติการก่อการร้ายขึ้นในช่วงเวลานี้ ทางรัฐบาลญี่ปุ่นอธิบายว่าเป็นงานปกติที่จะต้องออกคำเตือนในห้วงรำลึกเหตุการณ์ 9/11 และปีนี้ มีเหตุการณ์ในอัฟกานิสถานเพิ่มขึ้นอีกด้วย
เขายังได้ระบุด้วยว่าสถานการณ์ความมั่นคงของมาเลเซียยังไม่มีปัญหาอะไร และหน่วยงานยังคงระมัดระวังอยู่ตลอด
ส่วนกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซียระบุว่า “เราจริงจังกับเรื่องนี้” และก็ได้ติดต่อหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ในประเทศแล้ว ขณะที่สถานทูตญี่ปุ่นในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และในกรุงเทพ ได้เตือนพลเมืองของตนที่อาศัยอยู่ในประเทศนั้น ๆ ให้ระมัดระวังเรื่องการก่อการร้าย รวมทั้งการปฏิบัติตัวเพื่อไม่ให้เกิดความเสี่ยง
ในคำเตือนระบุว่า “มีข้อมูลว่ามีความเป็นไปได้ที่มีระเบิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้นในสถานที่ที่คนไปรวมตัวกัน อย่างเช่น สถานที่ทางศาสนา” รวมทั้ง “หากว่าจำเป็นต้องไปสถานที่ที่มีลักษณะว่าจะเป็นเป้าหมายการโจมตีของกลุ่มก่อการร้าย ให้ระมัดระวังสอดส่องดูบริเวณรอบ ๆ ตลอดเวลา และหากพบเห็นสิ่งผิดปกติให้ออกมาจากสถานที่ดังกล่าวทันที”
‘คำเตือนปกติ’
ขณะที่ พ.ต.อ. กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยแก่สื่อมวลชนในการแถลงข่าวในวันจันทร์นี้ว่า จากข้อมูลยังไม่พบการเคลื่อนไหวของขบวนการก่อการร้ายในประเทศไทย
“การแจ้งเตือนลักษณะแบบนี้ ก็คงจะเป็นการแจ้งเตือนตามวงรอบปกติ แต่ว่าได้รับคำยืนยันจากฝ่ายความมั่นคง และได้รับคำยืนยันจากตำรวจสันติบาลว่ายังไม่มีสิ่งใดที่จะเป็นสิ่งบ่งเหตุที่จะก่อให้เกิดลักษณะของการก่อการร้ายขึ้นมา... ในปัจจุบันนี้เองก็มีความเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้ก่อการร้ายขึ้นในประเทศตะวันออกกลาง ก็จะเป็นการนำเรื่องสถานการณ์เพื่อเป็นการแจ้งเตือน” พ.ต.อ. กฤษณะ กล่าว
“เราเฝ้าระวังอยู่แล้วเนื่องจากเรามีการประสานงานด้านการข่าว ทั้งหน่วยงานความมั่นคงทั้งในประเทศและต่างประเทศ… ส่วนของการรักษาความปลอดภัยสถานที่ตั้ง รวมถึงสถานที่พำนักของเอกอัครราชทูต ก็ได้มีการประสานตำรวจพื้นที่” พ.ต.อ. กฤษณะ กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ชี้แจงต่อสื่อมวลชนเมื่อเช้าวันจันทร์ว่า การแจ้งเตือนดังกล่าวของญี่ปุ่นเป็นการแจ้งเตือนโดยรวมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
“กระทรวงการต่างประเทศได้ ตรวจสอบเบื้องต้นกับสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทยแล้ว ได้ความว่า 1. เป็นการส่งอีเมลนี้ไปยังคนญี่ปุ่นในไทย เป็นคำสั่งที่ได้รับมาจากกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น ก็ไม่ได้ระบุที่มาของข้อมูล และสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นไม่ได้ทราบข้อมูลที่มากไปกว่านี้ 2. กระทรวงการต่างประเทศญี่ปุ่น สั่งการให้ส่งข้อมูลเหล่านี้ไปยังคนญี่ปุ่นที่อยู่ในภูมิภาคแถบนี้ ไม่ใช่เฉพาะไทย” อธิบดีกรมสารนิเทศ กล่าว
ส่วนเจ้าหน้าที่ของเดนซัส 88 ซึ่งเป็นหน่วยงานตำรวจต่อต้านการก่อการร้ายที่สำคัญของอินโดนีเซียก็กำลังตรวจสอบคำเตือนนี้อยู่เช่นกัน
“เรายังไม่ได้รับคำเตือนมาจากหน่วยงานอื่น ๆ เลย... แต่เราก็กำลังตรวจสอบอยู่” อัสวิน ซิเรการ์ หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการของเดนซัส 88 กล่าวกับเบนาร์นิวส์
รายงานความเป็นไปได้ของการก่อการร้าย
ก่อนหน้านี้ไม่นาน ทางการสหรัฐฯ ก็ได้ออกคำเตือนเกี่ยวกับการก่อการร้ายในอินโดนีเซียมาแล้ว โดยในคำเตือนการเดินทางมาอินโดนีเซียของพลเมืองสหรัฐฯ ที่ออกมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม ระบุว่า “อาจมีการโจมตีโดยฉับพลันหรืออาจมีการเตือนล่วงหน้าบ้าง เป้าหมายก็คือ สถานีตำรวจ, ศาสนสถาน, โรงแรม, บาร์หรือไนต์คลับตลาด/ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร”
ส่วนเมื่อวันที่ 10 กันยายน กลุ่มไซต์ อินเทลลิเจนซ์ รายงานถึงข้อความในภาษามาเลย์ที่โพสต์ไปบนแพลตฟอร์มของกลุ่มที่ชื่นชอบไอเอส เรียกร้องให้คนที่เชื่อในกลุ่มไอเอสออกมาปฏิบัติการโจมตีสถานที่ที่ไม่ใช่ของคนมุสลิม อย่างเช่น ศาสนสถาน หรือพิธีทางศาสนาต่าง ๆ ที่อยู่ในเอเชียตะวันออก ข้อความดังกล่าวยังบอกด้วยว่า นักรบทั้งหลายพร้อมที่จะใช้วิธีการระเบิดพลีชีพในภูมิภาคนี้และในอัฟกานิสถานด้วย
กลุ่มไซต์ อินเทลลิเจนซ์ ให้รายละเอียดเกี่ยวกับผู้ที่เขียนข้อความดังกล่าวว่า ใช้ชื่อเดียวกันกับบุคคลที่เชื่อว่าเป็นรองหัวหน้าหน่วยของมูจาฮีดินในเอเชียตะวันออก ที่อยู่ในเมืองโคราซัน หรืออีกนัยหนึ่งเป็นหน่วยงานของไอเอสในระดับจังหวัดที่อยู่ในอัฟกานิสถานนั่นเอง
และเมื่อวันที่ 8 กันยายน ผู้เขียนข้อความรายนี้ก็ได้โพสต์ว่า “ถึงเวลาแห่งสงคราม” ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย เมียนมา ฟิลิปปินด์ สิงคโปร์ และไทย แล้ว และ “มีโบสถ์คริสต์ วัด รวมทั้งวัดพุทธ และศูนย์กลางของพวกยิวทุกหนแห่ง ซึ่งควรจะระเบิดให้หมด เพราะสถานที่เหล่านี้เป็นพื้นที่คาฟีร์ (KAFIR)” ซึ่งในภาษาอารบิกหมายถึงพวกคนบาป หรือผู้ไม่เชื่อถือในอิสลาม
เบนาร์นิวส์ ได้ติดต่อไซต์ อินเทลลิเจนซ์ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
กลุ่มอิสลามแห่งจังหวัดโคราซัน (ISKP) ประกาศว่าระเบิดฆ่าตัวตายสองครั้งซ้อนที่สนามบินคาบูล เมื่อวันที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา เป็นฝีมือของกลุ่มตนเอง เหตุการณ์นี้คร่าชีวิตประชาชนไปถึง 170 ราย รวมทั้งทหารสหรัฐฯ อีก 13 นาย
ภาพบุคคลที่ต้องสงสัยว่าเป็น “ผู้ก่อการร้ายชาวต่างชาติ” ที่ศาลมาเลเซียระบุว่ามีความสัมพันธ์กับกลุ่มรัฐอิสลาม วันที่ 13 ตุลาคม 2560 (สำนักงานตำรวจแห่งชาติมาเลเซีย)
อิทธิพลจากตาลีบัน
รามลี ดอลเลาะห์ นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญเรื่องความมั่นคงของมหาวิทยาลัยมาเลเซีย ซาบาห์ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า สถานการณ์ในอัฟกานิสถาน หลังจากที่กลุ่มตาลีบันได้ครองอำนาจทำให้เกิดความกังวลว่า ชัยชนะครั้งนี้อาจเป็นแรงบันดาลใจให้กลุ่มหัวรุนแรงต่าง ๆ โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ออกมาปฏิบัติการ
เจ้าหน้าที่ของอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ที่เบนาร์นิวส์ได้คุยด้วยเมื่อเดือนที่แล้ว ก็แสดงความกังวลในทำนองเดียวกันว่าการกลับมาสู่อำนาจของตาลีบันอาจส่งแรงกระตุ้นมายังพวกก่อการร้ายที่ฝังตัวอยู่ในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้
แซคคารี อาบูซา นักวิชาการของเนชั่นแนล วอร์ คอลเลจในกรุงวอชิงตัน สหรัฐฯ ที่ได้เขียนบทความให้กับเบนาร์นิวส์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ อธิบายว่ากลุ่มที่มีสายสัมพันธ์กับอัลกออิดะห์เริ่มแข็งแกร่งมากขึ้นในสองสามปีที่ผ่านมา ในขณะที่พวกชื่นชอบแนวทางของไอเอสยังคงอ่อนแอ
“เจมาห์ อิสมามิยาห์กำลังรอให้องค์ประกอบเล็ก ๆ เริ่มรวมกันเข้ามา ซึ่งกลุ่มนี้มีทรัพยากรทางการเงินเพียงพอที่จะทำได้”
นอกจากนี้ เขายังได้บอกด้วยว่า กลุ่มเจมาห์ อิสลามิยาห์ ที่ก่อเหตุระเบิดใหญ่ที่บาหลี ในอินโดนีเซีย ก็กำลังฟื้นตัวขึ้น ซึ่งเกิดขึ้นก่อนหน้าที่ของตาลีบันจะมีชัยชนะในอัฟกานิสถานเสียด้วยซ้ำ
“อัฟกานิสถานมักมีบทบาทในพัฒนาการของเครือข่ายก่อการร้ายในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้” แซคคารี สรุป
นิชา เดวิด ที่กัวลาลัมเปอร์, ทริอา ดิอันติ ในจาการ์ตา และ มาริแอลล์ ลูซินิโอ ในมะนิลา มีส่วนให้ข้อมูลกับบทความนี้