สภาผ่าน ร่าง พ.ร.บ. ป้องกันซ้อมทรมาน-อุ้มหายแล้ว
2022.08.24
กรุงเทพฯ

สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบในวันพุธนี้ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย ซึ่งวุฒิสภาได้แก้ไขเพิ่มเติม ส.ส. ชายแดนใต้ชี้ หลังกฎหมายบังคับใช้การสอบสวนคดีต่างๆ ต้องถูกบันทึกภาพเคลื่อนไหว และเสียง ด้านนักสิทธิมนุษยชนดีใจที่กฎหมายสำคัญถูกพัฒนาใกล้มาตรฐานสากล
นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 2 ทำหน้าที่ประธานสภาผู้แทนราษฎร ได้เปิดโอกาสให้ ส.ส. ได้อภิปรายถึงร่างกฎหมายดังกล่าว ก่อนที่ในช่วงบ่ายจะให้ ส.ส. ลงมติต่อการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและกระทำให้บุคคลสูญหาย พ.ศ. .… ของวุฒิสภา
“คะแนนเสียงเห็นด้วย 287 เสียง ไม่เห็นด้วย 1 เสียง และ งดออกเสียง 1 เสียง” นายศุภชัย ระบุ
ก่อนลงคะแนนเสียง นายรังสิมันต์ โรม ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ตนเองไม่เห็นด้วยกับรายละเอียดบางส่วนของกฎหมายที่ถูก ส.ว. ตัดออกไป และเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย แต่โดยรวมยังเห็นชอบกับกฎหมายฉบับนี้
“วันนี้ด้วยเวลาที่สภานี้มี สิ่งที่เราทำได้ก็คือ ต้องยอมรับสิ่งที่วุฒิฯ แก้มา ซึ่งหลายเรื่องก็ต้องชื่นชมวุฒิฯ เช่นกันว่าท่านได้คงรักษาบางเรื่องที่เราคิดว่าสำคัญ และยังอยู่ในกฎหมายฉบับนี้อยู่ ชั่งน้ำหนักกันแล้วผมในฐานะที่เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากฝั่งของพรรคก้าวไกล ก็คงต้องยืนยันว่า เราคงต้องให้ผ่าน สำหรับกฎหมายฉบับนี้ และไม่เห็นควรที่จะไปตั้งกรรมาธิการร่วมอีกแล้ว” นายรังสิมันต์ กล่าว
พล.ต.ต. สุรินทร์ ปาลาเร่ ส.ส. สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า “รีบออกกฎหมายนี้เสีย การจับก่อนแล้วเอาไปทรมาน ไปหาหลักฐาน มันจะไม่มีขึ้น เราเสียหายมามากแล้ว ในปี 2547 ช่วงนั้นช่วงทนายสมชาย (นีละไพจิตร) ก็ดี ตั้งแต่มีการปล้นปืนมา มีคนสูญหายเป็นจำนวนมาก ไม่ต้องตั้งกรรมาธิการร่วมอะไรทั้งหมดแล้ว เพราะโอกาสมันมีน้อยนิด และเราเสียหายมาก ถ้าคิดเป็นเงินเป็น ล้านล้านล้าน ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งเศรษฐกิจ และทุกอย่าง โดยเฉพาะเงินงบประมาณแผ่นดินในการปราบปราม”
ในปี 2562 ได้มีการผลักดันให้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ มาแล้ว แต่ยังไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในปี 2564 ผ่านความเห็นชอบของ ส.ส. มีการส่งให้ ส.ว. พิจารณาแก้ไขในปี 2565 และส่งกลับมาให้ ส.ส. ลงมติอีกครั้งจนผ่านความเห็นชอบในวันพุธนี้
การลงมติในวันพุธนี้จะทำให้ กฎหมายดังกล่าวถูกส่งไปให้ นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯ ในหลวงทรงลงพระปรมาภิไธย และเมื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาจะมีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายหลังจากนั้น 120 วัน
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ป้องกันการอุ้มหายฯ มีสาระสำคัญ ประกอบด้วย 1. กำหนดนิยามการทรมานและการอุ้มหายตามพันธกรณีของอนุสัญญา 2. กำหนดนิยามผู้เสียหายให้กว้างขวางขึ้น 3. กำหนดให้ผู้บังคับบัญชาโดยตรงต้องรับผิดทางอาญา 4. การคุมขังในที่ลับหรือที่ไม่เปิดเผยจะกระทำไม่ได้ 5. คณะกรรมการตามกฎหมายฉบับนี้มีอำนาจในการสืบสวนสอบสวน คดีซ้อมทรมานและบังคับสูญหาย คุ้มครองพยาน และเยียวยาญาติ และ 6. กำหนดให้การร้องเรียนในคดีการซ้อมทรมานและบังคับสูญหายได้รับความคุ้มครอง ไม่อาจถูกฟ้องแพ่ง-อาญาในคดีอื่นใด
หลังทราบผลการลงมติ น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่กฎหมายสำคัญฉบับนี้ผ่านความเห็นชอบ และจะบังคับใช้เป็นกฎหมาย โดยต้องขอบคุณ ส.ส. ส.ว. ภาคประชาชน รวมถึงกระทรวงยุติธรรม ที่ช่วยผลักดันกฎหมายฉบับนี้
“กฎหมายซึ่งประชาชนมีส่วนร่วมฉบับนี้ มีความใกล้เคียงกับกฎหมายสากล น่าจะเป็นกฎหมายที่ช่วยปกป้องและเยียวยาเหยื่อ รวมถึงผู้เสียหายได้จริง และเชื่อว่าจะปราบปรามเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำการทรมานต่อประชาชนได้ อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าต้องมีการอบรมเจ้าหน้าที่ให้เข้าใจถึงรายละเอียดของกฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้มีการนำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่ต้องถูกนำมาตีความในภายหลัง” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว
สหประชาชาติ (UN) ระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2523 ถึงปัจจุบัน มีคนไทยถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 82 คน ขณะที่ มูลนิธิผสานวัฒนธรรม ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2547 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีผู้ที่ถูกบังคับให้สูญหายอย่างน้อย 31 ราย ส่วนศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ระบุว่า หลังการยึดอำนาจของคณะรักษาความสงบแห่งชาติในปี 2557 มีประชาชนอย่างน้อย 104 ราย ต้องหนีออกนอกประเทศไปเป็นผู้ลี้ภัยทางการเมือง เนื่องจากถูกไล่ล่า
“สิ่งที่ประชาชนจังหวัดชายแดนภาคใต้จะได้แน่ ๆ คือ การคุ้มครองสิทธิ กรณีการควบคุมตัวบุคคลซึ่งตามกฎหมายฉบับนี้จะต้องมีการบันทึกภาพ เคลื่อนไหว และเสียง บันทึกว่า ผู้ถูกควบคุมเป็นใคร ควบคุมเพื่ออะไร ที่ไหน ทำเป็นสารบบชัดเจน การควบคุมโดยตำรวจต้องแจ้งอัยการและฝ่ายปกครองให้ทราบด้วย ซึ่งถือเป็นการถ่วงดุลอำนาจซึ่งกันและกันว่า เจ้าหน้าที่ก็ต้องระมัดระวังมากขึ้น และถ้าเจ้าหน้าที่ทหารถูกดำเนินคดีจากเดิมที่จะต้องขึ้นศาลทหารก็จะถูกพิจารณาคดีในชั้นศาลอาญา คดีทุจริตและประพฤติมิชอบแทน ก็จะมีความโปร่งใสมากขึ้น” นายอาดิลัน อาลีอิสเฮาะ ส.ส. ยะลา พรรคพลังประชารัฐ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ผ่านโทรศัพท์