อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ประณามรัสเซียบุกยูเครน
2022.02.24
จาการ์ตา และวอชิงตัน

สิงคโปร์และอินโดนีเซียประณามรัสเซียที่ละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน อดีตสาธารณรัฐโซเวียต แต่ประเทศส่วนใหญ่ที่เหลือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์นี้
เช้าวันพฤหัสบดี กองกำลังรัสเซียได้บุกเข้าไปในยูเครน นายโจเซฟ บอเรลล์ หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป เขียนบนทวิตเตอร์ว่า “เป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง”
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขีปนาวุธได้ถล่มเป้าหมายต่าง ๆ ในยูเครน ขณะที่ขบวนกองทหารเคลื่อนตัวข้ามพรมแดนทั้งสามด้าน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทหารยูเครนอย่างน้อย 40 นาย ถูกสังหารเมื่อวันพฤหัสบดี
สิงคโปร์กล่าวว่า รู้สึก “เป็นวิตกอย่างยิ่ง” เมื่อได้ฟังคำประกาศของรัสเซียถึงสิ่งที่รัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน
“สิงคโปร์ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการบุกรุกโดยปราศจากการสาเหตุใด ๆ ที่กระทำต่อประเทศอธิปไตย ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตาม เราขอย้ำว่าจะต้องเคารพอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน” กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าวในแถลงการณ์
“เราหวังว่าการดำเนินการทางทหารจะยุติลงทันที และขอเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยสันติ โดยปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ”
กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ว่า อินโดนีเซียวิตกเกี่ยวกับ “การขัดแย้งด้วยการใช้อาวุธที่ทวีความรุนแรงขึ้นในยูเครน” เนื่องจากเป็นอันตรายต่อผู้คนและสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย
“ขอยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ และขอประณามการกระทำใดก็ตามที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการละเมิดอาณาเขตและอธิปไตยของประเทศหนึ่ง ๆ” นายเตกู ไฟซัสยาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อ่านในแถลงการณ์
ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วีโดโด โพสต์บนทวิตเตอร์ โดยไม่เอ่ยถึงรัสเซียหรือยูเครนว่า “หยุดสงครามเสีย สงครามนำความทุกข์ยากมาสู่มนุษยชาติ และทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในอันตราย”
ทูตยูเครนประจำอินโดนีเซียเรียกร้องให้อินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก แสดงท่าทีและคำพูดที่แข็งกร้าวกว่านี้
“[เ]รายังคาดหวังให้อินโดนีเซีย (เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในโลก) ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซีย ตลอดจนตำหนิติเตียนและประณามการรุกรานของรัสเซีย” นายวาซิล ฮาเมียนิน ทูตยูเครน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี ในกรุงจาการ์ตา
“ผมคิดว่าถ้าอินโดนีเซียพูดออกมา ไม่มีใคร ไม่มีประเทศไหน ไม่มีภูมิภาคไหน ไม่มีผู้นำคนไหนในโลกที่จะกล้าเพิกเฉยต่อคำพูดของอินโดนีเซีย”
ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วย 19 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และสหภาพยุโรป นี่ทำให้อินโดนีเซียตกอยู่ในฐานะลำบากที่จะแสดงท่าทีเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นักวิเคราะห์รายหนึ่งบอกกับเบนาร์นิวส์
อินโดนีเซีย “จะงดออกความคิดเห็น เพราะเราต้องการให้ G20 ดำเนินไปด้วยดี” นายเตกู เรซัสยาห์ อาจารย์วิชาการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปัดจัดจารัน ในเมืองบันดุง บอกกับเบนาร์นิวส์
“การประชุม G20 ในบาหลีจะมีผู้นำจากสหรัฐฯ รัสเซีย และสหภาพยุโรปเข้าร่วม ดังนั้น อินโดนีเซียจึงต้องออกแถลงการณ์ที่จะไม่ถูกตีความว่าเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง... ในฐานะประธาน G20 อินโดนีเซียมีฐานะที่สำคัญยิ่ง แต่ก็เกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วย”
‘เราไม่ยุ่งเกี่ยว’
ขณะเดียวกัน สมาชิกประเทศอื่นของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีปฏิกิริยาที่อ่อนกว่า คงเป็นเพราะหลักการของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขารู้สึกเสียใจกับ “เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยูเครน”
“ในฐานะองค์กรของประเทศเสรี อาเซียนเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของต่างประเทศ” เขากล่าวในงานแถลงข่าวขณะกำลังเยือนประเทศกัมพูชา
“ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี [กัมพูชา] ยังเห็นด้วยว่า เราจะไม่ออกแถลงการณ์ใด ๆ เว้นเสียแต่ว่าบรรดาสมาชิกอาเซียนจะหารือกันถึงเรื่องนี้และลงมติเป็นเอกฉันท์”
ฟิลิปปินส์กล่าวว่า สิ่งที่ฟิลิปปินส์เป็นห่วงมากคือความปลอดภัยของชาวฟิลิปปินส์ในยูเครน ขณะที่ไทยกล่าววว่า กำลังติดตามเหตุการณ์ในยูเครน “ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง”
เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ รายงานว่า เวียดนาม สมาชิกรายหนึ่งของอาเซียน และเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใกล้ชิดที่สุดกับรัสเซีย ยังคงนิ่งเฉย และไม่แสดงความเห็นที่มีนัยยะใด นอกจากเรียกร้องให้ยับยั้งชั่งใจตามสูตรสำเร็จทั่วไป
อย่างไรก็ตาม สื่อเวียดนามกำลังรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน โดยไม่เข้าข้างรัสเซียอย่างที่เคย ซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา เรดิโอฟรีเอเชียกล่าว รัสเซียเป็นคู่ค้าด้านอาวุธที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม และเป็นผู้จัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์รายสำคัญให้แก่กองทัพเวียดนาม
ส่วนอาเซียน ก็ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในยูเครน แม้สำนักข่าวรอยเตอร์จะได้เห็นเอกสารที่เรียกกันว่า เป็นแถลงการณ์ฉบับร่างของอาเซียนก็ตาม ข้อความในฉบับร่างนั้นระบุว่า สถานการณ์ต้องพบ “ทางออกอย่างสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ”
อดีตและผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต
บทวิเคราะห์ของนายแซคคารี อบูซา ที่เขียนให้แก่เบนาร์นิวส์ในวันอังคารที่ผ่านมา กล่าวว่า แม้จะน่าแปลกใจที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีท่าทีตอบสนองอย่างหนักในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นายอบูซาได้ยกตัวอย่างกรณีที่รัสเซียบุกไครเมียเมื่อปี 2557 ว่า
“เหตุผลเดียวที่ดึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นคือ การที่เครื่องบินของมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17 ถูกขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ BUK ที่ผลิตโดยรัสเซีย ยิงตกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 และคร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 298 คน” แซคคารี อบูซา อาจารย์ประจำเนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ (National War College) ในกรุงวอชิงตันดีซี เขียนในบทความ
กระนั้นก็ตาม ในตอนนั้นก็มี “ไม่กี่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการจะเผชิญหน้ารัสเซียเรื่องเครื่อง MH-17 ที่ถูกยิงตก” เขากล่าว
บทความของนายอบูซายังกล่าวอีกว่า ส่วนเหตุผลที่ไม่กระตือรือร้นที่จะติดตามเป็นเพราะว่ารัสเซียอยู่ไกลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองกับภูมิภาคนี้เพียงเล็กน้อย
อีกทั้งนายอบูซา ยังกล่าวแย้งต่อว่า แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีจุดยืนที่แข็งกร้าวกว่านี้
“[นี่] ทำให้เกิดแบบอย่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรงมาก โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ไม่เกรงกลัวใครอย่างจีน ซึ่งได้พยายามผลักดันซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มีการตีความกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่ตนต้องการ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ กรณีพิพาททะเลจีนใต้”
ประเทศในเอเชียทั้งหกประเทศอ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตหรือเขตแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้ ซึ่งทับซ้อนกับการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทั้งหมดของจีน แม้อินโดนีเซียจะไม่ถือว่าตนเองเป็นภาคีในข้อพิพาททะเลจีนใต้ แต่จีนก็อ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ในส่วนต่าง ๆ ของทะเลจีนใต้ที่ทับซ้อนกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย
จีนไม่เคยยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก ซึ่งกล่าวว่า “การอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์” ของจีนต่อการขยายอาณาบริเวณในทะเลจีนใต้นั้น ขาดมูลฐานทางกฎหมาย
เมื่อไม่นานมานี้ เรือของจีนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนับเป็นการคุกคามเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ, สุกัญญา ลิงเก็น และมุซลิซา มุสตาฟา ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และ เจฟฟรีย์ ไมเต็ม และ บาซิลิโอ เซเป ในกรุงมะนิลา ร่วมรายงาน