ศาลสั่งจำคุก 3 ปี อดีต ผอ. สำนักงานพุทธฯ ในคดีเงินทอนวัด

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.02.19
กรุงเทพ
200219-TH-monk-1000.jpg นายโฆษิต สุวินิจจิต (ขวามือ) ตัวแทนคณะศิษย์ฯ ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนโดยระบุว่า อดีตพระพรหมสิทธิฯ ไม่ได้รู้เห็นกับการทุจริต วันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2563
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช/เบนาร์นิวส์

ในวันนี้ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง มีคำพิพากษาให้จำคุกนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นเวลา 3 ปี ในคดีทุจริตการจัดสรรเงินงบประมาณของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งเป็นคดีที่สองของจำเลย  และยังได้ตัดสินจำคุกนายธงชัย สุขโข หรืออดีตพระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข เจ้าอาวาสวัดสระเกศราชวรมหาวิหาร จำนวน 36 เดือน แต่ให้รอลงอาญา ส่วนข้าราชการที่เกี่ยวข้องมีความผิดจริงตามฟ้อง

ในคดีนี้ อัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายพนม ศรศิลป์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 1 นายชยพล พงษ์สีดา อดีตรองผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เป็นจำเลยที่ 2 นายณรงค์เดช ชัยเนตร อดีตผู้อำนวยการกองส่งเสริมเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นจำเลยที่ 3 นายพัฒนา สุอำมาตย์มนตรี อดีตนักวิชาการศาสนาชำนาญการ กองส่งเสริมงานเผยแผ่พระพุทธศาสนา เป็นจำเลยที่ 4 และ นายธงชัย สุขโข หรือพระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข เป็นจำเลยที่ 5 ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานมีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการ หรือรักษาทรัพย์ใด ร่วมกันเบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์สินนั้นเสีย, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต, เป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 147, 157 ประกอบมาตรา 83, 86, 91 ซึ่งจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ

ทั้งนี้ จำเลยที่หนึ่งถูกตัดสินว่ามีความผิดในวาระการกระทำตามสำนวนคดีอื่นไปแล้วสองสำนวน ซึ่งนายพนมถูกศาลสั่งจำคุก 20 ปี และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพร้อมด้วยจำเลยที่สามถึงสี่ โดยทั้งหมดได้เดินทางมาฟังคำพิพากษาในวันนี้

“ศาลพิเคราะห์จากพยานหลักฐานแล้วเห็นว่า จำเลยที่ 1 - 4 มีความผิดจริงตามฟ้อง ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83” ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา

คำพิพากษาระบุว่า เนื่องจากจำเลยทั้งสี่ไม่ดำเนินการตามหลักเกณฑ์การอนุมัติจัดสรรเงินงบประมาณ โดยพบว่ามีการจัดสรรงบประมาณจำนวนกว่า 69 ล้านบาท ให้กับวัดสระเกศราชวรมหาวิหารเพียงวัดเดียว แม้ว่าวัดสระเกศฯ จะไม่สามารถดำเนินโครงการให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายหลักที่แจ้งไว้คือ ต้องมีเกณฑ์ผู้เข้าอบรมจำนวน 60,000 คน ขณะที่พบว่าผู้เข้าร่วมโครงการมีเพียง 22,000 คนเท่านั้น

“ส่วนจำเลยที่ 5 มีความผิด ฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานให้กระทำความผิด หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 86” ผู้พิพากษาอ่านคำพิพากษา

คำพิพากษาระบุว่า นายธงชัย หรืออดีตพระพรหมสิทธิ ธงชัย สุขโข ได้ทำหนังสือขออนุมัติการจัดสรรงบประมาณ เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการอบรมคุณธรรม จริยธรรม และโครงการศูนย์กลางเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา จำนวนเงินรวมกว่า 69 ล้านบาท แต่ไม่สามารถดำเนินโครงการได้ตามวัตถุประสงค์ที่แจ้งไว้อย่างครบถ้วน

โดยศาลมีคำสั่งให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 รวมเป็นเวลา 2 ปี 12 เดือน ส่วนจำเลยที่ 2 - 4 ให้จำคุกเป็นเวลา 3 ปี 18 เดือน และจำเลยที่ 5 จำคุกเป็นเวลา 36 เดือน ปรับเป็นเงิน 27,000 บาท แต่เมื่อคำนึงถึงอายุ ประกอบกับคุณงามความดีที่ผ่านมา รักษาธรรมวินัย เป็นพระชั้นผู้ใหญ่ที่ได้ปฏิบัติหน้าที่ในการเผยแผ่ศาสนามาอย่างต่อเนื่อง และไม่เคยมีประวัติเกี่ยวข้องกับการทุจริตหรือคดีอาญามาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี

ภายหลังจากที่ศาลมีคำพิพากษา อดีตข้าราชการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติในชุดผู้ต้องขัง ได้ยกมือไหว้อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศฯ ที่สวมชุดขาวมาฟังคำพิพากษา โดยมีพระสงฆ์จำนวน 6 รูป และคณะศิษย์จำนวนกว่า 20 คน ร่วมรับฟังคำพิพากษาในห้องพิจารณาคดีด้วย ซึ่งทุกคนมีสีหน้ายิ้มแย้มด้วยความสบายใจ

นายโฆษิต สุวินิจจิต ตัวแทนคณะศิษย์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนระบุว่า อดีตพระพรหมสิทธิฯ เซ็นหนังสือขอรับการสนับสนุนงบประมาณต่าง ๆ ตามหน้าที่ของประธานศูนย์คุณธรรมจริยธรรมที่ได้รับแต่งตั้งจากมหาเถรสมาคม และไม่ได้เกี่ยวข้องรู้เห็นกับการทุจริตตามที่ถูกกล่าวหา

“การเซ็นเอกสารเป็นขั้นตอนการทำงานของทางราชการ ไม่มีการทุจริตเกิดขึ้นแต่อย่างใด การเซ็นเอกสารเป็นเพียงการสนับสนุนการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าพนักงานเท่านั้น การตัดสินวันนี้ไม่ได้ตัดสินว่าพระเถระชั้นผู้ใหญ่ไปทำการทุจริต” นายโฆษิตกล่าว

นายโฆษิตกล่าวต่อด้วยว่า คณะศิษย์จะมีการยื่นอุทธรณ์ในคดีนี้ต่อไปเพื่อพิสูจน์ควาบริสุทธ์ของพระพรหมสิทธิฯ อย่างไรก็ตาม อดีตพระพรหมสิทธิฯ ยังคงถือศีล ปฏิบัติธรรม เหมือนตอนเป็นพระสงฆ์อยู่ตลอดเวลา แม้ว่าไม่ได้ครองผ้าเหลือง ตั้งแต่จำคุกอยู่ในเรือนจำ เนื่องจากไม่เคยเปล่งวาจาลาสิกขา ซึ่งถือว่ายังไม่ขาดจากความเป็นพระ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง