ประยุทธ์และซูจี สานความร่วมมือไทย-เมียนมา
2016.06.24
กรุงเทพฯ

ในวันศุกร์ (24 มิถุนายน 2559) นี้ ที่ทำเนียบรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนามความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและเมียนมา ด้านการคุ้มครองแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาความร่วมมือด้านแรงงาน และอำนวยความสะดวกให้แรงงานในการเดินทางข้ามแดน
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวหลังจากเสร็จสิ้นการลงนามว่า การเดินทางมาเยือนประเทศไทยของนางซูจี ครั้งนี้เป็นมิติใหม่ของความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเมียนม่า ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้ทั้ง 2 ประเทศ สามารถเดินหน้าไปพร้อมกันได้
“การเดินทางมาเยือนของท่านที่ปรึกษาแห่งรัฐฯ ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนมิติใหม่ของความสัมพันธ์ไทย-เมียนมา ซึ่งประเทศไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับรัฐบาลชุดใหม่ของเมียนมาในทุกๆ ด้าน เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของประชาชนทั้งสองประเทศ และขอให้คำมั่นว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน” นายกรัฐมนตรีไทยกล่าว
ด้านนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนกล่าวว่า ขอบคุณประเทศไทยในการลงนามความร่วมมือ และความช่วยเหลือที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อตกลงในการที่จะช่วยเหลือแรงงานเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย
“เราขอบคุณสำหรับความช่วยเหลือทุกๆ ด้านจากประเทศไทย... สิ่งที่เราจะทำต่อจากนี้ไม่ใช่แค่เพื่อปัจจุบัน แต่สำหรับอนาคตด้วย โดยเราจะสร้างอนาคตที่ดี แต่การสร้างอนาคตที่ดี ในวันนี้ เราต้องตัดสินใจให้ถูกต้อง ซึ่งดิฉันเชื่อว่าเราได้ตัดสินใจอย่างถูกต้องแล้ว และเชื่อว่าประเทศของเราจะสามารถร่วมมือกันได้ด้วยความเข้าใจและไว้ใจ ซึ่งเราจะเดินหน้าไปด้วยกัน ไม่ใช่เฉพาะ 2 ประเทศ แต่ทั้งประชาคมอาเซียน” นางซูจีกล่าว
การลงนามครั้งนี้ โดยฝ่ายไทยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เป็นผู้ลงนามร่วมกับนายเต็ง ส่วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ตรวจคนเข้าเมืองและประชากรเมียนมา โดยรายละเอียดบันทึกความเข้าใจและบันทึกความตกลง 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1. บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ซึ่งทั้งสองฝ่ายยอมรับในหลักการของความเท่าเทียมและผลประโยชน์ระหว่างกัน ในการสร้างความเข้มแข็ง และความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การปฏิบัติด้านแรงงานที่เป็นสากล ป้องกันการจ้างงานผิดกฎหมายและการค้ามนุษย์ การประกันสังคม และการคุ้มครองแรงงาน การทำงานในเรือเดินทะเล และการประกันการว่างงาน
2. บันทึกความตกลงเพื่อพัฒนาและขยายความร่วมมือระหว่างกันในการจัดทำกรอบการดำเนินการ เพื่ออำนวยความสะดวกในการจ้างแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพ และจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายของประเทศภาคี ครอบคลุมทั้งกระบวนการส่งและรับ การคุ้มครอง สัญญาจ้าง การรับรองเอกสาร การอบรมและการให้ความรู้แรงงานก่อนการเดินทาง รวมทั้งความร่วมมือในการป้องกันและปราบปรามการข้ามแดนผิดกฎหมาย การค้ามนุษย์เพื่อการจ้างงาน และการจ้างแรงงานต่างชาติผิดกฎหมายที่สำคัญ เมียนมาจะต้องจัดให้มีการอบรมก่อนการเดินทางให้กับคนงาน โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย และหากมีข้อพิพาทใดๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างนายจ้างและลูกจ้างอันเนื่องมาจากการจ้างงาน จะได้รับการระงับตามกฎหมายและระเบียบของประเทศไทย
3. บันทึกข้อตกลงว่าด้วยการผ่านแดนระหว่างไทยกับเมียนมา ทั้งนี้ บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้มีระยะเวลา 5 ปี ในส่วนบันทึกข้อตกลงการจ้างงานฯ จะมีระยะเวลา 2 ปี ซึ่งจากการลงนามในครั้งนี้ นอกจากแสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างกันแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือและการแก้ไขปัญหาด้านแรงงานให้เป็นไปตามหลักสากล และมีความรับผิดชอบร่วมกันด้วย
ซูจีเชื่อเยาวชนคนรุ่นใหม่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค
นางอองซาน ซูจี ในการปาฐกถาพิเศษ “เรื่องการเดินหน้าเมียนมา อาเซียน และโลก” (Myanmar, ASEAN and the World: The Way Forward) ที่กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 24 มิถุนายน 2559 (เบนาร์นิวส์)
ในช่วงเช้าวันเดียวกันที่กระทรวงการต่างประเทศ นางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาแห่งรัฐสาธารณรัฐประชาชนเมียนมา ได้ขึ้นปาฐกถาพิเศษ “เรื่องการเดินหน้าเมียนมา อาเซียน และโลก” (Myanmar, ASEAN and the World: The Way Forward)
ในการปาฐกถาต่อนักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย ประมาณ 300 คน ในครั้งนี้ นางอองซาน ซูจี ได้ชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของคนหนุ่ม-สาว และเยาวชนคนรุ่นใหม่ โดยบอกว่า คนกลุ่มนี้จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศและภูมิภาคในอนาคต
“สิ่งที่พวกคุณต้องจำคือ ข้อได้เปรียบของคนหนุ่ม-สาว คือเวลา คุณเสียเวลาไปเพียงไม่นาน และเหลือเวลาอีกมากมายในชีวิตที่รอคุณอยู่ คุณจะรู้ซึ้งถึงความหมายของเวลาดีที่สุด เมื่อคุณทำผิด พวกเราต่างเคยทำผิดพลาดหลายต่อหลายครั้ง และยังมีโอกาสที่จะผิดพลาดอีกมาก ความจริงคือคุณยังเหลือเวลาอีกมากมายในชีวิต ซึ่งมากพอที่จะแก้ไขความผิดพลาดต่างๆ ที่พวกเราได้ทำ คุณยังเหลือเวลาอีกมากที่จะเป็นคนดี” นางซูจีกล่าว
“ในโลกยุคปัจจุบันเราทุกคนต่างต้องร่วมมือกัน ซึ่งการร่วมมือนั้นต้องมีสันติ เราจะไม่สามารถพัฒนาได้เลย ถ้าขาดความสันติ ความสันติมีความสำคัญมากกับเรา เพราะเมื่อครั้งที่เรา[พม่า]รวมเป็นประเทศเมื่อ ค.ศ.1948 [พ.ศ.2491] เราไม่สามารถบอกได้เลยว่าเรามีสันติ เป็นปึกแผ่น เพราะมันยังมีปัญหาภายในและอคติ” นางซูจีกล่าวเพิ่มเติม
“ปัจจุบัน เราพยายามที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้ง และอคติที่เป็นอยู่ และเปลี่ยนความขัดแย้ง อคติให้เป็นสันติภาพ เปลี่ยนความขัดแย้งเป็นความไว้ใจ ความไว้ใจเป็นพื้นฐานของความสำเร็จระหว่างกลุ่มที่แตกต่าง และความไว้ใจถูกสร้างได้ดีที่สุดโดยคนหนุ่มสาว เพราะคนหนุ่มสาวยังปราศจากความอคติ” นางซูจี กล่าวถึงความได้เปรียบของการเป็นวัยหนุ่ม-สาว