มารดาสองนักโทษเมียนมา คดีฆ่านนท.อังกฤษ ยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ
2019.10.24
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดีนี้ ทนายความของมารดาของนายซอ ลิน และนายเว พิว นักโทษประหาร ในคดีฆาตกรรมสองนักท่องเที่ยวหนุ่มสาวชาวอังกฤษ บนเกาะเต่า เมื่อปี 2557 ได้ยื่นถวายฎีกาฯ ผ่านทางกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอพระราชทานอภัยโทษต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
นางเม เทียน และนางพิว ชเว นู มารดาของนายซอ ลิน และนายเว พิว (ตามลำดับ) ได้เดินทางพร้อมด้วยญาติ และนางณัฐาศิริ เบิร์กแมน ทนายความ และกงสุลใหญ่ประเทศเมียนมา ไปยังเรือนจำกลางบางขวาง นนทบุรี ในตอนเช้าของวันนี้ เพื่อดำเนินตามขั้นตอนการยื่นเอกสารขอพระราชทานอภัยโทษ
ทั้งนี้ เมื่อปลายเดือนสิงหาคมนี้ ศาลฎีกา ได้พิพากษายืนตัดสินประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันฆาตกรรม-ข่มขืน น.ส.ฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ อายุ 23 ปี และฆ่านายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ อายุ 24 ปี สองนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษ ที่มาท่องเที่ยวจนประสบชะตากรรมอันเลวร้าย ที่บริเวณหาดทรายรี บนเกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อวันที่ 15 ก.ย. 2557
“ทุกวันนี้ กำลังใจยังไม่ดี ได้แต่ขอพรพระให้ลูกสบายดี ขอให้ได้ความเมตตาจากพระ ขอให้ได้รับพระราชทานอภัยโทษ” นางเม เทียน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ เมื่อมาถึงยังเรือนจำกลางบางขวาง
ขณะที่นางพิว ชเว นู มารดาของนายเว พิว กล่าวว่า ตนเชื่อมั่นว่าบุตรชายของตนไม่ได้เป็นผู้ร่วมข่มขืนและฆ่า
“ถึงตอนนี้ ฉันยังเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของลูก ว่าไม่ได้ทำ ทุกวันนี้ ก็ได้แต่สวดมนต์ขอพรจากพระให้เมตตาลูก และครอบครัวของฉัน” นางพิว ชเว นู กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ด้านทนายความณัฐาศิริ เบิร์กแมน ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางสถานทูตได้มีการประชุมกับทีมทนายหลายครั้ง ถึงเรื่องวิธีการยื่นขอพระราชทานอภัยโทษ ซึ่งมีสามทาง คือ ให้ทนาย ญาติ หรือสถานทูต เป็นผู้ยื่น ซึ่งทางสถานทูตเห็นว่าทางทนายมีเอกสารทุกอย่างอยู่แล้ว จึงให้ทางทนายเป็นผู้ดำเนินการ ส่วนทางสถานทูตจะช่วยเหลือด้านเอกสาร เช่น เอกสารการระบุตัวตน เอกสารต่างๆ ที่ทางราชการ รัฐบาลพม่าต้องออกให้
“วันนี้ เป็นการยื่นจดหมายให้ทางผู้ต้องหาเซ็นเอกสาร เพื่อยื่นผ่านทางผู้บังคับการเรือนจำ เพื่อนำเสนอต่อไป” นางณัฐาศิริ กล่าว
เจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ผู้ไม่ประสงค์ออกนามรายหนึ่ง กล่าวชี้แจงขั้นตอนว่า ในวันนี้ ทนายความได้ทำเรื่องขอให้ผู้ต้องหาเซ็นเอกสารขอพระราชทานอภัยโทษแล้ว จากนั้น จะได้ส่งให้ผู้บังคับการเรือนจำ กรมราชทัณฑ์ และกระทรวงยุติธรรม ตามลำดับชั้น เพื่อส่งต่อไปยังสำนักราชเลขาธิการ เพื่อพิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ ทีมทนายกล่าวว่า หากสำนักราชเลขาธิการ รับคำร้องถวายฎีกาฯ ไว้เพื่อพิจารณา ในระหว่างนี้ จำเลยทั้งสองยังไม่ถูกประหารชีวิต จนกว่าจะมีการพิจารณาว่าพระราชทานอภัยโทษ หรือลดโทษ หรือไม่
ลำดับเหตุการณ์
ในวันที่ 15 กันยายน 2557 มีผู้พบศพนายเดวิด วิลเลียม มิลเลอร์ และ น.ส.ฮานนาห์ วิคตอเรีย วิทเธอริดจ์ ซึ่งเสียชีวิตจากการถูกของแข็งทุบตี ที่หาดทรายรี ม.1 ต.เกาะเต่า อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งผู้เสียชีวิตเพศหญิง มีร่องรอยการถูกข่มขืน และในเวลา 2 สัปดาห์ต่อมา เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้หลักฐานจากกล้องวงจรปิดควบคุมตัว นายซอ ลิน และนายเว พิว ซึ่งเป็นแรงงานชาวเมียนมา ที่เคยทำงานอยู่บนเกาะเต่า
ในวันนี้ 24 ธันวาคม 2558 ศาลจังหวัดเกาะสมุย ได้อ่านคำพิพากษาว่า นายซอ ลิน จำเลยที่ 1 และนายเว พิว จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 289 (7), 276 วรรคสาม ประกอบมาตรา 83 และจำเลยที่ 2 ยังมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (1) วรรคแรก และ พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 12 (1), 18 วรรคสอง, 62 วรรคหนึ่ง อีกกระทงหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายที่ 1 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง ฐานร่วมกันฆ่าผู้ตายที่ 2 เพื่อปกปิดความผิดอื่นของตน ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสอง โดยทนายฝ่ายจำเลยได้ยื่นขออุทธรณ์ในวันที่ 23 พฤษภาคม 2559
จากนั้น ในวันที่ 1 มีนาคม 2560 ศาลอุทธรณ์ มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ประหารชีวิตทั้งคู่ เนื่องจากพยานหลักฐานที่จำเลยใช้อุทธรณ์ ไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาตัดสินประหารชีวิต นายซอ ลิน และนายเว พิว โดยเป็นการพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์
ศาลฎีการะบุในคำพิพากษา มีความตอนหนึ่งว่า “ตรวจดีเอ็นเอจากเยื่อบุกระพุ้งแก้มจำเลย ตรงกับการตรวจหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ จึงไม่เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสร้างพยานหลักฐานเท็จเพื่อปรักปรำจำเลย เพราะในการสอบสวนต้องใช้เวลา บุคลากรจำนวนมาก รวมทั้งงบประมาณ หากจะสร้างพยานหลักฐานคงไม่ต้องให้สิ้นเปลืองทั้งบุคลากรและงบประมาณ พยานหลักฐานโจทก์จึงรับฟังได้ปราศจากข้อสงสัย ข้อฎีกาของจำเลยทั้งสองจึงฟังไม่ขึ้น พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ภาค 8 ให้ประหารชีวิตจำเลยทั้งสองสถานเดียว”
ในระหว่างการต่อสู้คดี คณะทนายของจำเลยทั้งสอง ได้แย้งว่ากระบวนการเก็บดีเอ็นเอของจำเลยเป็นที่คลางแคลงใจ และจำเลยยังบอกว่า จำเลยโดนซ้อมทรมานในชั้นสอบสวน เพื่อให้รับสารภาพ