การเรียกร้องหนักขึ้นให้อาเซียนลงโทษเมียนมาฐานประหาร 4 ชีวิตฝ่ายประชาธิปไตย

อัฮหมัด สยัมสุดิน และแดนดี โคสวาราปุตรา
2022.07.27
จาการ์ตา
การเรียกร้องหนักขึ้นให้อาเซียนลงโทษเมียนมาฐานประหาร 4 ชีวิตฝ่ายประชาธิปไตย ชาวเมียนมาตะโกนคำปลุกใจเพื่อต่อต้านรัฐบาลทหารพม่า ระหว่างการประท้วงนอกสถานทูตเมียนมา ในกรุงเทพฯ หลังการประหารชีวิต โก จิมมี่ และนักโทษการเมืองอีก 3 คน นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย ในเนปิดอว์ วันที่ 26 กรกฎาคม 2565
สุเบล ราย บันดารี/เบนาร์นิวส์

การเรียกร้องมีมากขึ้นที่จะให้อาเซียนลงโทษรัฐบาลทหารเมียนมา ฐานประหารชีวิตนักโทษการเมืองสี่คน นักวิเคราะห์รายหนึ่งเสนอให้อาเซียนระงับสมาชิกภาพของเมียนมา ซึ่งเป็นการคาดโทษที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

ขณะเดียวกัน เมื่อวันพุธ นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศอินโดนีเซีย เห็นเช่นเดียวกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศมาเลเซีย โดยเรียกร้องให้มีการหารือพิเศษเกี่ยวกับกรณีเมียนมา ในการประชุมระดับรัฐมนตรีของอาเซียน ซึ่งจะมีขึ้นในสัปดาห์หน้านีเมื่อวันอังคาร อาเซียนได้ออกแถลงการณ์ตำหนิรัฐบาลทหารพม่าอย่างรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดรัฐประหาร โดยเรียกการประหารนักโทษการเมืองสี่คนนี้ว่าเป็น “สิ่งที่น่าประณามอย่างยิ่ง” ขณะที่นายไซฟุดดิน อับดุลละฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ประณามการแขวนคอนักโทษทั้งสี่ว่าเป็น “อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ”

แต่นักวิจารณ์การเมืองทั่วภูมิภาคนี้บอกว่า หลังคำตำหนิอย่างรุนแรงนี้แล้ว อาเซียน ซึ่งดำเนินการโดยฉันทามติ จำเป็นต้องลงมือดำเนินการอย่างแข็งกร้าวขึ้นกับเมียนมา ฐานละเมิดฉันทามติห้าข้อที่ได้ตกลงกันไว้เมื่อเดือนเมษายน 2564 หนึ่งในห้าข้อนั้นคือ ยุติการใช้ความรุนแรงในเมียนมา

ชารอน เซียห์ นักวิชาการที่สถาบัน ISEAS-Yusof Ishak ในสิงคโปร์ กล่าวว่า การประหาร ‘โกจิมมี’ นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย และนักโทษการเมืองคนอื่นอีกสามคน “อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ” สำหรับอาเซียน

“อาเซียนจำเป็นต้องทบทวนแนวทางในการจัดการกรณีเมียนมาอย่างจริงจัง รวมถึงการระงับเมียนมาเป็นการชั่วคราวจากสมาชิกภาพอาเซียน แม้กฎบัตรอาเซียนจะไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนให้ทำเช่นนั้นได้ก็ตาม” เซียห์ เจ้าหน้าที่ประสานงานของศูนย์อาเซียนศึกษาและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สถาบันดังกล่าว เขียนไว้บนทวิตเตอร์

“ถ้าอาเซียนไม่ดำเนินการที่แข็งกร้าวขึ้น อาเซียนจะดูอ่อนแอและขาดความน่าเชื่อถือ แต่ถ้าอาเซียนดำเนินการรุนแรง ก็เสี่ยงที่จะปิดโอกาสเป็นการถาวรในการเจรจากับ SAC” เธอกล่าว โดยหมายถึงสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administrative Council) ชื่อทางการของรัฐบาลทหาร ภายใต้การนำของ พลเอกอาวุโส มิน ออง ลาย

ตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นมานาน 55 ปี อาเซียนไม่เคยถอนหรือขับสมาชิกออกจากอาเซียนเลย ในปี 2540 เมื่อ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีร่วมของกัมพูชา ก่อรัฐประหารโค่นอำนาจสมเด็จกรมพระนโรดม รณฤทธิ์ กัมพูชามี “สถานะผู้สังเกตการณ์” ในอาเซียนเท่านั้น

การก่อรัฐประหารนั้นทำให้อาเซียนชะลอการรับกัมพูชาเข้าเป็นสมาชิกภาพ และส่งรัฐมนตรีต่างประเทศจากอินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ ไปยังกัมพูชา เพื่อไกล่เกลี่ยหาทางออกอย่างสันติ เช่นเดียวกับที่อาเซียนได้พยายามทำโดยการส่งผู้แทนพิเศษเข้าไปในเมียนมา

กฎบัตรอาเซียนระบุว่า “กรณีการละเมิดกฎบัตรอย่างรุนแรงหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติ จะส่งเรื่องให้ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนพิจารณาตัดสิน”

ไอซัต ไครี อาจารย์มหาวิทยาลัยกัวลาลัมเปอร์ เห็นว่า จำเป็นต้องมีการลงโทษเมียนมาบางอย่าง ฐานประหารชีวิตนักโทษการเมืองเหล่านั้น

“เป็นไปได้ยากที่จะขับเมียนมาจากสมาชิกภาพของอาเซียน แต่ถ้าอาเซียนทำเช่นนั้นจริง ก็จะเป็นการเตือนรัฐบาลทหารเมียนมาว่า อาเซียนกลมเกลียวกันจริง ๆ และไม่ยอมรับอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ” เขาบอกเบนาร์นิวส์

ไอซัตกล่าวว่า อาเซียนสามารถยื่นฟ้องผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาต่อศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ เพื่อให้ออกมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ

อาเซียนยังจำเป็นต้องเริ่มพูดคุยกับรัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Government - NUG) และสภาที่ปรึกษาเพื่อเอกภาพแห่งชาติ (National Unity Consultative Council - NUCC) รัฐบาลเงา ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลทหารพม่า เขากล่าว

รัฐบาลทหารพม่าได้ประหาร ‘โกจิมมี’ (ชื่อจริงคือ จอ มิน ยู) นายเพียว เซยา ธอ อดีตส.ส. พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ตลอดจน นายฮลา เมียว ออง และนายออง ธูรา ซอ นักเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นไปได้ว่าการประหารทำขึ้นเมื่อวันเสาร์ แต่ประกาศออกมาในวันจันทร์

ศาลทหารได้ตัดสินพิพากษานักโทษการเมืองทั้งสี่ว่า มีความผิดฐาน “ก่อการร้าย” และศาลไม่อุทธรณ์โทษประหารชีวิตให้ รัฐบาลทหารเมียนมายังไม่ยอมให้ชายทั้งสี่ขออภัยโทษด้วย การแขวนคอประหารชีวิตนักการเมืองทั้งสี่ทำให้เมียนมาถูกประณามจากทั่วโลก

เซียห์ แห่งสถาบัน ISEAS กล่าวว่า แม้เมียนมาจะถูกห้ามไม่ให้ส่งผู้แทนทางการเมืองไปร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนก็ตาม แต่ได้รับอนุญาตให้ส่งผู้แทนทางการเมืองไปร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีอื่น ๆ

เธอเสนอว่าควรปลดเมียนมาจากบทบาทและหน้าที่ต่าง ๆ ในอาเซียน

“อาเซียนไม่มีอำนาจต่อรองในการเผชิญหน้ากับ SAC ฉะนั้น ในตอนต้น อาเซียนจำเป็นต้องมีความเห็นเป็นเสียงเดียวกันเกี่ยวกับแนวทางของอาเซียน” เธอกล่าว

ในอินโดนีเซีย ที่ตั้งสำนักงานใหญ่อาเซียน จาการ์ตาโพสต์ หนังสือพิมพ์ภาคภาษาอังกฤษ เขียนเรียกร้องให้ “ดำเนินการอย่างแข็งกร้าวต่อรัฐบาลเลือดเย็นเมียนมา”

“ตอนนี้ ประธานาธิบดี [โจโก] โจโกวี [วิโดโด] ควรแสดงให้โลกเห็นว่า อาเซียนไม่สามารถทนการกระทำอันป่าเถื่อนของ พล.อ. [มิน ออง] ลาย ได้” จาการ์ตาโพสต์เขียนอย่างไม่ยั้งถ้อยคำในบทบรรณาธิการ

“ถ้าอาเซียนนิ่งเฉย จะทำให้เชื่อกันอย่างผิด ๆ ว่าอาเซียนยอมรับความทารุณโหดร้ายนั้น” บทบรรณาธิการนั้นกล่าว

จาการ์ตาโพสต์ได้เรียกร้องให้นางเร็ตโน รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย จัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนวาระฉุกเฉินขึ้น “เพื่อหารือถึงการดำเนินการร่วมต่อรัฐบาลทหารเมียนมา ฐานดูหมิ่นฉันทามติห้าข้ออย่างโจ่งแจ้ง”

หลังจากถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าอินโดนีเซียไม่ออกมาประณามการกระทำของเมียนมา นางเร็ตโนกล่าวเมื่อวันพุธว่า การประหารนักโทษการเมืองของเมียนมาส่งผลเสียต่อฉันทามติห้าข้อของอาเซียน

“ท่านประธานาธิบดี [โจโก “โจโกวี” วิโดโด] ได้แสดงความผิดหวังที่ขาดความคืบหน้าในการดำเนินการ [ตามฉันทามติ]” นางเร็ตโนกล่าวในการแถลงข่าว

“ดิฉันได้เสนอว่า การประชุมรัฐมนตรีอาเซียนในต้นเดือนสิงหาคม ที่กรุงพนมเปญ ควรมีการหารือกันเฉพาะถึงสถานการณ์ล่าสุดในเมียนมา”

มุซลิซา มุสตาฟา ในกัวลาร์ลัมเปอร์ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง