ชาวเมียนมาประท้วงการประหารสี่ชีวิตฝ่ายประชาธิปไตย
2022.07.26
กรุงเทพฯ และกัวลาลัมเปอร์

ในวันอังคารนี้ ประชาชนชาวเมียนมาที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยหลายร้อยคนได้รวมตัวกันที่หน้าสถานทูตเมียนมา ในกรุงเทพฯ เพื่อประท้วงการที่รัฐบาลทหารเมียนมาได้ประหารชีวิตนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาล 4 ราย ไปเมื่อวานนี้
ด้าน กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้แสดงความเสียใจและความกังวลต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายลงในประเทศเพื่อนบ้าน ขณะที่ มาเลเซียประณามเหตุครั้งนี้ และจะหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดคุยในการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียน ที่จะมีขึ้นในกรุงพนมเปญในสัปดาห์หน้า
กลุ่มชาวเมียนมาบางคนชูธงชาติเมียนมา บ้างก็คาดศีรษะด้วยแถบผ้าแดงที่มีอักษร NLD เขียนไว้ และบางส่วนชูรูปของนางออง ซาน ซูจี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดี (National League for Democracy - NLD) เพื่อแสดงการสนับสนุนพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ที่โดนรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปีที่แล้ว
“ไม่มีใครทำใจได้ที่ผู้นำของ NLD ถูกประหารไป 4 นาย เพราะไม่มีใครรับได้ อีกอย่างหนึ่งตอนนี้พลเมืองชาวพม่าไม่มีสิทธิในชีวิตตัวเอง พวกเขาจะทำอะไรก็ทำ คิดอยากจะจับฆ่า ก็คือฆ่า ออกแนวข่มขู่ประชาชน ถ้าใครทำผิดก็ประหารชีวิตให้ดู แต่พวกผมไม่มีคำว่าเกรงกลัว” นายอ่อง ข่า พนักงานบริษัทแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวกับเบนาร์นิวส์
“ฝ่ายปกครองเราก็ไม่มี ศาลก็ไม่มีความยุติธรรม ทุกอย่างคือของรัฐบาลทหารหมดเลย ทุกวันนี้ เราสู้ก็ตายไม่สู้ก็ตาย พวกผมก็ต้องต่อสู้ที่ประเทศไทยเพื่อประเทศพม่า และท้ายที่สุด อยากให้นานาชาติกดดันรัฐบาลทหารพม่าทุกอย่าง เพราะทุกวันนี้ประเทศพม่าล่มจมไปแล้ว” อ่อง ข่า กล่าว
ตามรายงานของ Global New Light of Myanmar หนังสือพิมพ์ของรัฐบาลทหารเมียนมา เมื่อวานนี้ รัฐบาลทหารเมียนมา ที่นำโดย พลเอก มิน ออง ลาย ได้ประหารชีวิต นายจ่อ มิน ยู นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตย อายุ 53 ปี, นายเพียว เซ ยา ธอ อดีต ส.ส. พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย, นายฮลา เมียว อ่อง และนายอ่อง ธูรา ซอ
อ่อง ข่า กล่าวว่า รัฐบาลทหารเมียนมาไม่ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประหารชีวิตบุคคลทั้งสี่แต่อย่างใด
“ที่เจ็บใจช้ำใจที่สุดคือ ผู้นำของพวกผม 4 นายที่ถูกประหารชีวิตไปนั้น วันไหนก็ไม่บอก ทางญาติขอศพคืนก็ไม่ให้ ถามว่าประหารชีวิตแบบไหน ก็ไม่สามารถตอบได้ เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย” อ่อง ข่า กล่าว
ผู้ประท้วงชาวเมียนมา พร้อมรูปของนางอองซาน ซูจี ที่ปรึกษาพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย หรือพรรคเอ็นแอลดี ที่หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย ท่ามกลางชาวเมียนมากว่าร้อยคน (นาวา สังข์ทอง/เบนาร์นิวส์)
กต. ไทยเสียใจต่อครอบครัว, มาเลเซียประณามการประหารชีวิต
ในวันอังคารนี้ นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้แสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์
“เราเสียใจอย่างยิ่งต่อการสูญเสีย 4 ชีวิต ซึ่งสร้างความวุ่นวายใจที่มากขึ้นต่อปัญหาในเมียนมา และเรามีความกังวลอย่างมากต่อเหตุการณ์ใด ๆ ที่อาจขัดขวางหนทางสู่สันติภาพในเมียนมา” นายธานี กล่าวผ่านใบแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน
“การใช้กำลังและความรุนแรง ไม่สามารถแก้ไขความเห็นต่างทางการเมืองได้ เราขอเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในเมียนมาแสวงหาแนวทางแก้ไขและคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองนี้ เพื่อที่จะไม่ให้เกิดการสูญเสียชีวิต และธำรงไว้ซึ่งสิทธิในการดำรงชีวิตอย่างสันติของประชาชนเมียนมา เราขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวและผู้ใกล้ชิดของผู้ที่ถูกประหารชีวิตทั้ง 4 ราย” นายธานีกล่าวเพิ่มเติม
ส่วนที่อาคารรัฐสภาของมาเลเซีย ในวันนี้ นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะฮ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ได้แถลงข่าวประณามรัฐบาลเมียนมา โดยระบุว่าการประหารชีวิตนักโทษการเมืองเพียงสองสัปดาห์หลังจากที่ทูตพิเศษของอาเซียนกลับมาจากการเยือนเมียนมา ถือเป็นการเยาะเย้ยต่อฉันทามติ 5 ประการกลุ่มอาเซียน
“จุดยืนของมาเลเซียต่อเมียนมาก่อนหน้าเหตุการณ์นี้ คือไม่ควรได้รับเชิญให้ส่งผู้แทนทางการเมืองเข้าร่วมการประชุมอาเซียนซัมมิต เพราะไม่ได้มีพัฒนาการใด ๆ ต่อการปฏิบัติตามฉันทามติ 5 ประการ เราจึงได้ตัดสินใจที่จะแสดงจุดยืนนี้” นายไซฟุดดินกล่าว
นายไซฟุดดินกล่าวอีกว่า กลุ่มอาเซียนจะถือให้เรื่องนี้เป็นหนึ่งในหัวข้อสำคัญของการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอาเซียน ที่จะมีขึ้นในกรุงพนมเปญ ในวันที่ 3 สิงหาคมนี้ ซึ่งจะรวมถึงกรอบการดำเนินการเพื่อให้แน่ใจว่าเมียนมาจะเคารพฉันทามติ 5 ประการของอาเซียน
“เรารู้สึกว่านี่มันเป็นอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ผมเชื่อว่ารัฐมนตรีต่างประเทศที่จะร่วมประชุมจะต้องมาดูเรื่องนี้กัน เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเพียงแค่สองสัปดาห์ หลังจากทูตพิเศษอาเซียนกลับมาจากการเยือนเนปิดอว์ และเพียงหนึ่งสัปดาห์ก่อนการประชุมรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศอาเซียน ในพนมเปญ ดังนั้นเราจึงเห็นว่ามันเป็นเหมือนกันเยาะเย้ยฉันทามติ 5 ประการ และผมคิดว่าเราต้องพิจารณาเรื่องนี้อย่างจริงจัง” นายไซฟุดดินกล่าว
เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ กลุ่มประเทศอาเซียนได้มีมติเพื่อแก้ไขปัญหาทางการเมืองในเมียนมา 5 ประการ คือ หนึ่ง ให้ยุติความรุนแรงในเมียนมาทันที, สอง ให้ทุกฝ่ายร่วมหารืออย่างสร้างสรรค์เพื่อหาทางออกอย่างสันติวิธีเพื่อประโยชน์ของประชาชน, สาม ให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนทำหน้าที่อำนวยความสะดวก เป็นสื่อกลางของกระบวนการหารือภายใต้ความช่วยเหลือของประธานกลุ่มอาเซียน, สี่ อาเซียนให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมผ่าน ศูนย์ประสานงานเพื่อการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติของอาเซียน (AHA Center) และข้อที่ห้า ผู้แทนพิเศษ รวมถึงคณะผู้แทนพิเศษจะเดินทางเยือนเมียนมาเพื่อพบปะกับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
นาวา สังข์ทอง จากหน้าสถานทูตเมียนมา ในกรุงเทพฯ และมุซลิซา มุสตาฟา จากกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน