รมว. ศึกษา : ห้าจังหวัดชายแดนใต้อาจเปิดเรียนหลังจังหวัดอื่น
2020.05.18
ปัตตานี

ในวันจันทร์นี้ นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า โรงเรียนในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ กรุงเทพ และภูเก็ต อาจจะยังไม่สามารถเปิดทำการเรียนการสอนพร้อมกับโรงเรียนอื่น ๆ ทั่วประเทศได้ ในเดือนกรกฎาคม เพราะยังมีการระบาดของโรคโควิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ส่วนหลาย ๆ ครอบครัวประสบปัญหาความไม่พร้อมกับการเรียนหนังสือทางไกลผ่านระบบโทรทัศน์ และอินเทอร์เน็ต ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่เริ่มขึ้นในวันนี้
ทั้งนี้ หลังจากประเทศไทยเช่นเดียวกับทั่วโลก ต้องประสบปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) กระทรวงศึกษาธิการได้เลื่อนการเปิดภาคเรียนการศึกษาแรกจากกลางเดือนพฤษภาคม ไปเป็นวันที่ 1 กรกฎาคม และหันมาทดลองใช้การศึกษารูปแบบใหม่นี้ เพื่อไม่ให้นักเรียนเสียโอกาสในการศึกษา
“อาจจะมีบางโรงเรียนในบางพื้นที่ เช่น กรุงเทพ จังหวัดภูเก็ต ห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล) ที่มีการระบาดของโรคโควิดอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งยังต้องควบคุมและยังไม่เปิดเรียนที่โรงเรียน” นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว
กระทรวงศึกษาธิการจัดการศึกษาทางไกล และออนไลน์ ให้นักเรียนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 ผ่าน 6 ช่องทางการรับชม คือ ทีวีดิจิทัล ช่อง 37-51, ทีวีดาวเทียม Ku-Band ช่อง 186-200, ทีวีดาวเทียม C-Band ช่อง 337-351, เว็บไซต์ www.dltv.ac.th, แอปพลิเคชัน DLTV ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และ Youtube ช่อง DLTV1 ถึง DLTV15 ทั้งนี้ เป็นการเรียนการสอนก่อนที่จะมีการเปิดภาคเรียนจริง อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ทุกครอบครัวได้รับความสะดวกในการเรียนรูปแบบนี้
“ฉันมีลูก 6 คน กำลังเรียนอยู่ 5 คน ชั้นประถมศึกษา 4 คน ชั้นมัธยม 1 คน ทำงานแล้ว 1 คน เมื่อทราบว่าลูกต้องเรียนออนไลน์ ก็ไม่รู้ว่าคืออะไร ไปถามคนที่เขารู้เรื่อง เขาบอกว่าต้องมีทีวี ใช้อินเตอร์เน็ต ถ้ามีโทรศัพท์ก็เรียนได้ แต่เราไม่มีอะไรเลย คุยกับแฟนพยายามคิดจะหาทางออก ก็ไม่รู้จะทำยังไง ไม่มีทางออกเลยมืดไปหมด วันนี้ลูกคนอื่นได้เรียน ลูกเราคงไม่ได้เรียน ก็รู้สึกกังวล เครียดมากเลยตอนนี้ ทั้งเรื่องจะกินอะไรแต่ละวัน และเรื่องเรียนออนไลน์ของลูก ตัวเองก็มีโรคหัวใจ แฟนก็ร่างก่ายไม่ค่อยแข็งแรง เจ็บออดแอด ๆ มาตลอด” นายสือแม แวหะมะ อายุ 45 ปี ชาวยะลาที่ทำอาชีพกรีดยาง มีรายได้ก่อนแบ่งกับเจ้าของสวนเพียงวันละ 50 บาท กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“จะให้มาซื้อทีวี เงินเยียวยาก็ไม่ได้... ปกติลูก ๆ จะอ่านภาษาไทยไม่ค่อยออก เขียนไม่ค่อยได้ ครูต้องเข้มงวด คิดว่าถ้าให้พวกเขาเรียนออนไลน์ ก็จะไม่ได้อะไร เพราะฟังภาษาไทยได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่” นายสือแม กล่าวเพิ่มเติม
ด้าน ด.ช. มูฮัมหมัด อัสมิง แวหะมะ นักเรียนชั้นประถมปีที่ 5 โรงเรียนบ้านพงกูแว อำเภอยะหา จังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนเองไม่ได้เรียนทางไกล เพราะที่บ้านไม่มีทีวี และไม่มีอินเทอร์เน็ต
“ผมอ่านภาษาไทยไม่ค่อยได้ พูดภาษาไทยไม่ได้เลย ฟังภาษาไทยไม่เข้าใจ ถ้าไม่มีการอธิบายจากครู ไม่มีทีวี ไม่มีอินเทอร์เน็ต จะเรียนออนไลน์ ก็ไม่ได้เรียน กลัวเหมือนกันว่า ถ้าโรงเรียนเปิดจะเรียนไม่ทันเพื่อน ๆ แต่ก็ไม่รู้จะทำยังไง เครียดเหมือนกัน” ด.ช. มูฮัมหมัด กล่าว
ด้านนางพาตีเมาะ สาแต ครูในพื้นที่จังหวัดยะลา กล่าวว่า ตนกังวล และยังสับสนในข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนการสอนทางไกล เนื่องจากนักเรียนหลายคนไม่มีอุปกรณ์โทรทัศน์ โทรศัพท์มือถือ หรืออินเทอร์เน็ต และยังไม่มีข้อสรุปว่า รูปแบบการเรียนที่ถูกต้องควรเป็นอย่างไร
“รู้สึกกังวล เมื่อทราบข่าวว่าการเรียนออนไลน์ เพราะนักเรียนหลายคน ไม่มีทีวี และมือถือ รวมทั้งอินเทอร์เน็ต นักเรียนสอบถามหลายเรื่อง ทั้งต้องใส่ชุดนักเรียนในขณะที่เรียนหรือไม่ เด็กบางคนถามว่า โรงเรียนจะเข้มงวดกับการเรียนออนไลน์ จะส่งผลถึงเกรดไหม หลายคนตั้งคำถามมา เราก็ไม่แน่ใจจะตอบยังไง ส่วนตัวมองว่าการเรียนออนไลน์จะเป็นปัญหาต่อเด็กมาก ที่ผ่านมา ครูดูแลเด็กอย่างใกล้ชิด บางคนสอนตัวต่อตัว แต่เด็กบางคนก็ยังไม่รู้เรื่อง เพราะยังอ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่แน่ใจว่าเรียนออนไลน์จะได้ประโยชน์ อาจเหมาะสมเฉพาะคนที่พร้อม” นางพาตีเมาะ กล่าว
ด.ญ. วานีตา ดอเลาะ นักเรียนชั้นมัธยมปีที่ 4 จากจังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวแสดงความกังวลในทำนองเดียวกัน
“เครียดมากตอนนี้ ไม่รู้จะเอายังไง เข้าระบบยังไม่เป็น ตั้งแต่เช้าพอเข้าได้ เว็บล่มอีก บางกระแสบอกว่า ต้องแต่งชุดนักเรียนเวลาเรียน และต้องเข้าไปเช็คชื่อในไลน์กลุ่มของห้อง ซึ่งถ้าใครไม่ผ่านก็จะมีผลต่อเกรด เป็นการบังคับให้เรียนเลย เพราะยังไม่มีห้องเรียน ไลน์กลุ่มห้องไหนที่เราจะส่งการบ้านก็ไม่รู้เลย ครูประจำชั้นคนไหนก็ไม่รู้ จะปรึกษาใครไม่ได้เลย เราอยู่โรงเรียนเดิมก็จริง แต่โรงเรียนยังไม่เปิดเทอม จึงยังไม่รู้ว่าใครเป็นครูประจำชั้น หาข้อมูลในกูเกิลและเว็บโรงเรียน ก็ไม่สามารถให้คำตอบอะไรเราได้เลย” ด.ญ. วานีตา กล่าว
เด็ก 30 เปอร์เซ็นต์ ไม่พร้อมเรียนรูปแบบใหม่
นายสุพจน์ มณีรัตนโชติ ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานราธิวาส เขต 2 กล่าวว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศทดลองเรียนผ่านระบบทางไกล โดยมูลนิธิการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV โรงเรียนวังไกลกังวลในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้มีการมอบหมายให้ทุกโรงเรียนจัดแผนการสอนให้เหมาะสม และสอดคล้องแล้ว อย่างไรก็ตาม ยังพบว่ามี นักเรียนจำนวนหนึ่งไม่พร้อม
“30 เปอร์เซ็นต์ ยังไม่พร้อมกับระบบนี้ เพราะไม่มีจานดาวเทียม ไม่มีกล่องรับสัญญาณ ไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีโทรทัศน์ ประกอบกับผู้ปกครองก็ต้องออกไปประกอบอาชีพไม่มีเวลามาเฝ้าเด็กระหว่างเรียนได้ อีกทั้งไม่สามารถช่วยสอนเพื่อเสริมการเรียนรู้ให้บุตรหลานได้ สำหรับผู้บริหารศึกษาและบุคลากรครู ไม่สามารถละเลยเด็กกลุ่มใดได้ จึงมีมาตรการที่อาจให้ระยะต่อไป เปิดสอนเป็นรายชั้น ชั้นละ 1 ชั่วโมง เน้นเรียนทฤษฎีแล้วนำใบงานกลับไปทำที่บ้าน งดเว้นการทำกิจกรรมร่วมกัน แต่มาตรการดังกล่าวต้องพิจารณาเรื่องสุขภาพเป็นสำคัญ” นายสุพจน์ กล่าวเพิ่มเติม
นายสุพจน์ กล่าวอีกว่า ครูจะนัดเจอกับผู้ปกครองสัปดาห์ละครั้ง เพื่อส่งมอบใบงานให้เด็กได้ทำแบบฝึกหัด จะส่งมอบการบ้านและรับใบงานใหม่ เป็นแนวทางของกระทรวงศึกษาธิการเพื่อทดลองระบบก่อน การเปิดภาคเรียนวันที่ 1 กรกฎาคม 2563 ซึ่งหากในห้วงนั้นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลาย ทุกโรงเรียนก็จะกลับมาสอนที่โรงเรียนตามเดิม
ด้าน นายเชาวลิต เพ็ชรหวล รองผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษายะลา เขต 3 กล่าวว่า หากการเรียนทางไกลไม่สามารถทำได้จริง โรงเรียนในพื้นที่อาจจัดการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่จำเป็นต้องจัดรูปแบบใหม่ เพื่อสุขภาพของนักเรียน
“จากการตรวจเยี่ยมพบปัญหา ผู้ปกครองไม่อยู่ ให้พี่และน้องเรียนกันเอง ปัญหาอินเทอร์เน็ตสัญญาณไม่ค่อยดี บางครอบครัวไม่สามารถเข้าถึงการเรียน การสอนออนไลน์ได้ เพราะไม่มีไฟฟ้า ไม่มีทีวี ไม่มีอุปกรณ์เชื่อมสัญญาณโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือแท็บเล็ต อนาคตอาจให้กลุ่มนักเรียนที่ไม่มีอุปกรณ์ มาเรียนที่โรงเรียนแทน แต่ต้องไม่เกินห้องละ 10-20 คน อาจจะเรียนน้อยวันลง มีการสลับเวลาเรียนกันเช้าบ่าย รวมถึงให้งดกิจกรรมการแสดง การแข่งขันกีฬา โดยยึดสุขภาพของนักเรียนเป็นหลัก” นายเชาวลิตกล่าว
นอกจากนั้น นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุว่า การแก้ปัญหาเบื้องต้นจะมีการประสานกับกระทรวงดิจัทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อขอกล่องสัญญาณโทรทัศน์ 2 ล้านกล่อง นำไปแจกนักเรียนที่มีความต้องการ หารือกับผู้ประกอบการอินเทอร์เน็ต เพื่อหาทางช่วยแบ่งเบาภาระนี้ออกจากนักเรียน และประสานอาชีวศึกษา ให้ดำเนินการเข้าแก้ไขตามบ้านที่มีกล่องรับสัญญาณ แต่ไม่สามารถเปิดช่องเรียนทางไกลได้