สมาคมสื่อเรียกร้อง กสทช. ทบทวนคำสั่งปิดชั่วคราววอยซ์ทีวี
2017.03.28
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (28 มีนาคม 2560) นี้ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย และองค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) เรียกร้องให้ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทบทวนคำสั่งพักใช้ใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 21 ชั่วคราวซึ่งมีผลบังคับ 7 วันนับตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันนี้ เนื่องจากเห็นว่าเป็นคำสั่งที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเชื่อว่าเป็นคำสั่งที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชน
นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การออกแถลงการณ์ของสมาคมฯ ทั้ง 2 สมาคมเพื่อเป็นการกระตุ้นเตือนให้องค์กรอิสระ และสังคมรู้ว่า การใช้คำสั่งดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดขั้นผิดตอน และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจสื่อ
“อาวุธหนักที่สุดของสมาคม คือการออกแถลงการณ์เพื่อประกาศให้สังคมได้รู้ว่า การตัดสินใจอาจผิดขั้นตอน ผิดวิธีปกติ กระทบต่อธุรกิจ และจะทำให้ กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระถูกตั้งคำถามว่า ถูกแทรกแซงโดยภาครัฐอื่นหรือไม่ เราจึงเห็นสมควรให้มีการทบทวนคำสั่ง โดยได้นำเรื่องนี้เข้าไปพูดในเวทีปรองดองของ คสช. ด้วยว่า หากสถานีโทรทัศน์มีความผิดจริงก็ควรดำเนินการตามกฎหมายอื่นๆที่มีอยู่” นายปราเมศกล่าว
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยได้ออกแถลงการณ์ คัดค้านมติดังกล่าวของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) โดยให้เหตุผล 3 ข้อ ซึ่งสรุปได้ดังนี้ 1.คำสั่งดังกล่าวกระทบต่อธุรกิจของวอยซ์ทีวีอย่างรุนแรง และกระทบต่อเสรีภาพสื่อ 2.กสทช.เป็นองค์กรอิสระที่มีหน้าที่ปกป้องเสรีภาพสื่อ แต่มติครั้งนี้ เท่ากับ กสท.ยอมให้อำนาจอื่นเข้ามาทำลายความเป็นอิสระของ กสทช.เอง และ 3.มติดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญ
“มติของ กสท. ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญทั้งปี 2540, 2550 และฉบับที่ผ่านประชามติที่ให้การรับรองบุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และใช้เสรีภาพเสนอข่าวสารหรือแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ การสั่งปิดกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชนอื่นเพื่อลิดรอนเสรีภาพจะกระทำมิได้” ตอนหนึ่งจากแถลงการณ์ดังกล่าว
“หากรายการใดมีปัญหาก็ควรพิจารณาเป็นกรณีไป ไม่ควรใช้อำนาจพักใบอนุญาตทั้งสถานี หรือหากการเสนอเนื้อหาของวอยซ์ทีวี หรือทีวีช่องใด มีผลกระทบต่อความมั่นคง หรือละเมิดสิทธิบุคคล หมิ่นประมาทบุคคลอื่น ผู้เสียหายหรือผู้มีส่วนได้เสีย ก็ชอบที่จะใช้สิทธิแจ้งความดำเนินคดี หรือฟ้องร้องตามกฎหมายปกติได้อยู่แล้ว และในแง่ของผู้บริโภคข่าวสาร หากสื่อใดนำเสนอรายการที่ไม่มีความรับผิดชอบ หรือละเมิดสิทธิผู้คน กลไกตลาด ผู้บริโภคข่าวสารจะเป็นคนตัดสินสื่อนั้นได้เช่นกัน” ตอนท้ายของแถลงการณ์ระบุ
องค์กรพันธมิตรเพื่อเสรีภาพสื่อในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) ออกแถลงการณ์ประณามคำสั่งดังกล่าวเช่นกัน โดยระบุว่า คำสั่งมีความรุนแรง และไม่สมเหตุสมผล เป็นการปิดกั้นเสรีภาพสื่อ
“คำสั่งระงับใบอนุญาตวอยซ์ทีวี 7 วันของ กสทช. มีความรุนแรงเกินไป อำนาจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)มอบให้ กสทช.ในการปิดสื่อ ทำให้ กสทช.กลายเป็นหน่วยงานเซนเซอร์ช่องโทรทัศน์อย่างชัดเจน” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์ระบุ
แถลงการณ์ของซีป้า การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2557(ชั่วคราว) ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 41/2559 เรื่องการกํากับดูแลการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่อสาธารณะ ให้ กสทช.สามารถปิดสื่อได้โดยไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา วินัย แต่ไม่ตัดสิทธิเรียกค่าเสียหาย เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2559
ขณะที่ พล.ท.พีระพงษ์ มานะกิจ ประธานคณะอนุกรรมการกำกับผังรายการและเนื้อหารายการ กสทช. กล่าวแก่ตัวแทนสมาคมผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลและตัวแทนสถานีวอยซ์ทีวีที่เดินทางเข้าพบในช่วงเช้าวันเดียวกันยืนยันว่า คำสั่งของ กสทช. มีความชอบด้วยกฎหมาย และจำเป็นต้องใช้เนื่องจาก มีการกระทำผิดซ่ำซาก
“อันนี้มันการตัดสินใจภายใต้องค์กรที่ถูกคัดสรรมา ทำหน้าที่โปร่งใส ตรวจสอบได้ มีศาลคอยรับคำร้อง ถ้ากรณีตัดสินใจผิด เขาก็ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งในทางปกครอง ผมไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย ให้สบายใจ เป็นไปตามกระบวนการเป๊ะๆ รายการปกติถ้าเสนอแค่ข่าวมันไม่เป็นปัญหา แต่พอมากกว่าข่าวที่เป็นการวิเคราะห์มันจะเข้าข่ายแล้ว” พล.ท.พีระพงษ์กล่าว
“สรุปก็คือให้มั่นใจพวกผมว่าผมเป็นกลางเพียงพอ ผมอยู่ข้างกฎหมาย แล้วผมก็ไม่บ้าอำนาจ กว่าผมจะทำถึงขั้นนี้ ผมทำถึง 10-11 เคส ปีนี้อีก 2 เคส แล้วทำถึง 3 รายการพร้อมกัน” พล.ท.พีระพงษ์เพิ่มเติม
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา กสทช. มีคำสั่งตามมติ กสท. ให้ระงับใบอนุญาติของสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี ช่อง 21 เป็นเวลา 7 วัน เนื่องจาก มีข้อเรียกร้องจากหัวหน้าคณะทำงานติดตามสื่อ ส่วนงานรักษาความสงบเรียบร้อย สำนักงานเลขาธิการ คสช. ว่า รายการของช่องวอยซ์ทีวี มีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม ซึ่ง กสท. พิจารณาว่า เป็นจริงตามเรียกร้อง และมีความเห็นให้ลงโทษวอยซ์ทีวี เนื่องจากวอยซ์ทีวีเคยมีความผิดลักษณะนี้แล้ว 12 ครั้งในช่วงปี 2559-2560
4 รายการที่วอยซ์ทีวีถูกร้องเรียนในครั้งนี้ประกอบด้วย 1. รายการใบตองแห้ง เสนอเรื่อง จากธัมมี่ถึงทักกี้ประเทศนี้ยังปรองดองได้อยู่หรือ 15 มีนาคม 2560 2. รายการ In her View เสนอเรื่อง ไล่เรียงเหตุการณ์จังหวะแห่งข่าวโกตี๋กับอาวุธพร้อมแถลงการณ์แผนลอบสังหาร 3. รายการ Over View เสนอเรื่องกองทัพป้องทหารยันยิงทิ้งเด็กล่าหู่ถูกต้องทุกกรณี 4. รายการ Voice News ช่วง Voice News Report เสนอเรื่องนายวีระ สมความคิด แสดงความคิดเห็นกรณีบ่อนตาพระยา
ซึ่งในวันเดียวกัน สื่อท้องถิ่นหลายสำนักรายงานว่า กรมสรรพากรพื้นที่เขตบางพลัดพร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ตำรวจร้อยเวร สน.บางพลัด ได้นำหนังสือประเมินเรียกเก็บภาษีของนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จากการซื้อขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ให้กับกองทุนเทมาเส็กของประเทศสิงคโปร์ รวมเป็นเงินกว่า 73,271 ล้านบาท เมื่อปี 2549 ซึ่งจำนวนภาษีรวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มมูลค่ากว่า 17,000 ล้านบาท ไปติดที่หน้าบ้านจันทร์ส่องหล้า ตามที่อยู่ในทะเบียนราษฎรของนายทักษิณ
และเพื่อให้เป็นไปตามกฎหมายที่ต้องประเมินภาษี ภายใน 10 ปี ซึ่งจะหมดอายุความในวันที่ 31 มี.ค. 2560 หากผู้เสียภาษีไม่เห็นด้วยกับการประเมินภาษีของกรมสรรพากร สามารถทำเรื่องยื่นอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินภาษี