กรมควบคุมมลพิษ : คุณภาพอากาศกรุงเทพฯ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.12.21
กรุงเทพฯ
181221-TH-pollution-1000.jpg ประชาชนใส่หน้ากากอนามัย ในวันที่อากาศเต็มไปด้วยฝุ่นละออง ขณะเดินทางบนท้องถนน กรุงเทพฯ วันที่ 21 ธันวาคม 2561
รอยเตอร์

ในวันศุกร์นี้ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ออกประกาศว่า คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ เข้าสู่ระดับที่เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพแล้ว จึงเตือนให้ประชาชนลดการใช้ยานพาหนะส่วนตัว และลดการเผาในที่โล่งแจ้ง

สืบเนื่องจากสถานการณ์ที่คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ต่ำลงอย่างต่อเนื่องช่วงเดือนธันวาคม 2561 นี้ กรมควบคุมมลพิษ จึงได้ทำการติดตามและรายงานสถานการณ์ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน (PM2.5 ) แบบรายวัน โดยฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5 นี้ เป็นขนาดฝุ่นที่สามารถลอดผ่านรูจมูกเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและส่งผลต่อสุขภาพได้ ซึ่งหากมีค่าเฉลี่ยตลอด 24 ชั่วโมงสูงกว่า 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในระดับที่สูงกว่ามาตรฐาน จนเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ

“รายงานสถานการณ์พีเอ็ม2.5 พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ประจำวันที่ 21 ธันวาคม 2561 มีค่าเฉลี่ย 59-116 มคก./ลบม. ในพื้นที่ริมถนน อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 20 พื้นที่ ส่วนในพื้นที่ทั่วไปเฉลี่ย 61-102 มคก./ลบม. อยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลต่อสุขภาพ 14 พื้นที่” แถลงการณ์ของกรมควบคุมมลพิษ ระบุ

“สาเหตุมาจากสภาพอุตุนิยมวิทยา ที่มีหมอกในตอนเช้า อากาศนิ่ง และมีสภาพอากาศปิด คาดการณ์ว่าคุณภาพอากาศจะอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพอีก 1-2 วัน ควรหลีกเลี่ยงหรือลดเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมใส่หน้ากากอนามัยขณะอยู่กลางแจ้ง งดใช้รถยนต์ที่มีควันดำอย่างเด็ดขาด งดการเผาในที่โล่งทุกประเภท และลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล” ตอนหนึ่งของรายงานในวันที่ 21 ธันวาคม 2561 ระบุ

เขตที่อากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพได้แก่ เขตบางนา เขตบางกะปิ เขตดินแดง เขตธนบุรี เขตวังทองหลาง เขตพญาไท และเขตวังทองหลาง เป็นต้น

นายเพ็ชรสยาม พรหมงอย พนักงานบริษัท อายุ 27 ปี ซึ่งอาศัยอยู่ในเขตหลักสี่ กล่าวว่า รู้สึกได้ถึงสภาพคุณภาพอากาศที่เปลี่ยนไปในช่วงเวลา 1-2 วันที่ผ่านมา

“ออกจากบ้านมีความรู้สึกระคายเคืองตา ทำให้น้ำตาไหล ตอนออกจากที่พักในช่วงเช้า รู้สึกได้ว่าหมอกควันมากขึ้นจนเห็นบรรยากาศรอบข้างเป็นสีส้ม จนต้องไปซื้อหน้ากากอนามัยมาเพื่อใส่ป้องกันฝุ่นละออง เพราะรู้สึกตั้งแต่ช่วงเลิกงานเมื่อคืนวานแล้ว” นายเพ็ชรสยาม กล่าว

ด้าน น.ส.มณีนุช เสียงหวาน พนักงานบริษัท อายุ 29 ปี อาศัยอยู่ในเขตพระราม 9 และใช้รถจักรยานยนต์ในการเดินทางมาทำงาน กล่าวว่า รู้สึกได้รับผลกระทบอย่างมากจากสภาพอากาศแบบนี้ เนื่องจากอาศัยอยู่ในย่านกลางเมือง ซึ่งมีการก่อสร้างเยอะ

“รู้สึกปวดจมูกตั้งแต่เมื่อวาน เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือไซนัส เวลาอากาศแบบนี้ จะหายใจไม่สะดวก ปกติหายใจลึก แต่ถ้าอากาศไม่ดีจะหายใจสั้นลง แก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการใส่หน้ากาก กลับบ้านก็ต้องล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ ถ้าอาการหนักต้องไปหาหมอ” น.ส.มณีนุช กล่าว

ตามการเปิดเผยของ กรมควบคุมมลพิษ ระบุว่า สาเหตุที่ทำให้คุณภาพอากาศในกรุงเทพฯ ต่ำกว่ามาตรฐาน เนื่องจากสภาพอากาศปิด มลพิษจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม ควันบุหรี่ และการเผาขยะและวัชพืช โดยฝุ่นละอองพีเอ็ม2.5 เป็นฝุ่นที่มีขนาดเล็กกว่าเส้นผม 20 เท่า มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยทำให้ผู้ที่ได้รับมีอาการไอ จาม แสบจมูก หายใจติดขัด แน่นหน้าอก

ประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศนี้คือ ผู้สูงอายุ เด็ก ผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับระบบหายใจ ระบบหัวใจ และหลอดเลือด

การป้องกัน คือ ผู้ที่มีความเสี่ยงจะได้รับผลกระทบ ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในบริเวณที่มีคุณภาพอากาศต่ำ หากจำเป็นต้องเข้าไปในพื้นที่มลพิษให้ใช้หน้ากากปิดจมูกเพื่อป้องกัน และหากพบว่าร่างกายมีอากาศผิดปกติ ให้รีบปรึกษาแพทย์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง