เอ็นจีโอแนะรัฐดูแลลูกแรงงานข้ามชาติเท่าเทียมเด็กไทย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.11.20
กรุงเทพฯ
181120-TH-children-800.jpg ครูโรงเรียนวัดศรีสุทธาราม จังหวัดสมุทรสาคร สอนภาษาไทยให้กับเด็กนักเรียนข้ามชาติ เพื่อปรับพื้นฐานความรู้ วันที่ 15 มิถุนายน 2560
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันสิทธิเด็กสากล อังคารนี้ กลุ่มภาคประชาสังคม นำโดยมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เรียกร้องให้รัฐบาลไทยพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมสิทธิเด็ก เน้นความเท่าเทียมในการดูแลเด็กอย่างไม่เลือกสัญชาติ โดยเฉพาะเรื่องการศึกษาและสุขภาพ

ภาคประชาสังคมร่วมด้วยภาครัฐ จัดงานเสวนาที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เรื่อง “การขับเคลื่อนเชิงนโยบาย และการพัฒนาตั้งต้นที่เด็ก และ การคุ้มครองทางสังคมเด็กข้ามชาติในเชิงปฏิบัติและทิศทางนโยบายการศึกษาอาเซียน” โดยมีข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในด้านการปกป้องสิทธิเด็ก เนื่องจากเชื่อว่ายังต้องมีการปรับปรุงพัฒนาในเรื่องการดูแลเด็กในประเทศไทย

นายสุรพงษ์ กองจันทึก รองประธานกรรมการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า การแก้กฎหมายที่ทำให้ลูกของแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเกิดในประเทศไทยสามารถขอสัญชาติไทยได้ การที่เด็กมีโอกาสเข้าเรียนในระบบการศึกษาจนจบปริญญาเอก และการแก้กฎหมายที่ทำให้บุตรของแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ไม่เป็นผู้กระทำผิดกฎหมาย ถือเป็นความก้าวหน้าของประเทศไทย แต่ยังมีอีกหลายประเด็นที่รัฐบาลไทยควรพัฒนาเพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเด็กอย่างเต็มที่

“มีข้อเสนอแนะ คือ เด็กทุกคนต้องได้เข้าเรียนในการศึกษาขั้นพื้นฐาน 15 ปี จาก อนุบาล 1 ถึงมัธยม 6 เพราะเราพบว่า ลูกแรงงานต่างด้าว และผู้ลี้ภัยจำนวนมาก ยังเข้าไม่ถึงการศึกษา… ต้องส่งเสริมหลักสูตรแบบพหุวัฒนธรรม… แรงงานเด็กต้องไม่มี ถ้าอายุไม่ถึง 18 ปี ต้องไม่อนุญาตให้ทำงานได้ เพื่อให้เขาเรียนได้อย่างเต็มที่ และมวยเด็กต้องอายุ 18 ปีขึ้นไปเท่านั้น” นายสุรพงษ์กล่าว

“เด็กแรกเกิดถึง 7 ปี ต้องได้รับการรักษาฟรี ไม่ว่าเขาจะมีบัตรหรือไม่ และเด็ก 7-18 ปี ต้องซื้อประกันสุขภาพราคาถูก 365 บาทต่อปีได้ ต้องบังคับให้โรงพยาบาลขายเพื่อคุ้มครองพวกเขา… ต้องส่งเสริมให้เด็กได้อยู่กับพ่อแม่ ถ้าพ่อแม่ไม่มีความสามารถ รัฐต้องดูแลเขาเหมือนพ่อแม่” นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุรพงษ์ ระบุว่า รัฐต้องทำให้บุตรของแรงงานข้ามชาติที่เกิดในประเทศไทย สามารถเข้าถึงการแจ้งเกิดโดยง่าย และการออกเอกสารยืนยันสำหรับเด็กต้องมีความสะดวก เพื่อให้เด็กทุกคนมีเอกสารยืนยัน ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติไทยหรือสัญชาติอื่นๆ เพื่อให้เขาได้รับสิทธิและการคุ้มครองอย่างเท่าเทียม ซึ่งที่ผ่านมา การออกเอกสารในประเทศไทยยังทำได้ยาก เนื่องจากต้องได้รับการยินยอมจากนายจ้าง ซึ่งระบบนี้ควรยกเลิก

ด้าน น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวว่า เด็กไม่ว่าจะสัญชาติใด ควรได้รับการส่งเสริมให้เข้าถึงการศึกษาและคุ้มครองความปลอดภัย

“ปัจจุบัน เด็กหลายหมื่นคน (ในประเทศไทย) ขาดโอกาสทางการศึกษา และอีกหลายหมื่นคนต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ด้วยปัญหาต่างๆ ยาเสพติด กระทำความผิด ถูกล่วงละเมิดทางเพศจนตั้งครรภ์ เด็กบางคนถูกพ่อทำร้าย เแต่แจ้งความไม่ได้ เพราะกลัวว่าถ้าแจ้งความแล้วพ่อจะต้องออกจากงาน กลไกแจ้งเหตุมันไม่เป็นมิตรกับเขา” น.ส.ปฏิมากล่าว

“สิบปีที่แล้ว เวลาบุกโรงงาน เจอเด็กต้องทำงาน ไม่ได้ค่าแรง เราต้องพยายามดึงเด็กไม่ให้ทำงาน พยายามให้เรียนหนังสือ ปี 2004-2017 แอลพีเอ็นช่วยให้เด็กเข้าถึงการศึกษา 4,519 คน การได้รับการศึกษาส่งผลให้เขาได้รู้ถึงสิทธิของตัวเอง บางรายเมื่ออายุถึงสามารถทำงานในประเทศไทยได้” น.ส.ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายออง ซาน อายุ 22 ปี ชาวเมียนมา เป็นหนึ่งในผู้ได้รับโอกาสเรียนหนังสือในประเทศไทย จนทำให้ปัจจุบัน สามารถประกอบอาชีพอย่างถูกต้องตามกฎหมายได้ กล่าวว่าการศึกษาจะช่วยพัฒนาเด็กและทำให้เขากลับมาเป็นแรงงานที่สำคัญ

“ตอนแรกอยู่ในแคมป์ก่อสร้าง จนได้เรียน ปัจจุบัน จบ ม.3 แล้วกำลังต่อ กศน. ให้จบ ม.6 ต้องการเรียนต่อด้านวิศวะฯ ปัจจุบัน ทำงานเป็นเสมียนไซด์งานก่อสร้าง… ตอนยังไม่ได้เรียนก็อยู่แต่ในบ้าน พ่อแม่เขาไม่ให้ออกไปไหน กลัวตำรวจจับ การได้เรียนทำให้ได้รู้จักอีกโลกนึง มีพื้นที่ให้เรียนรู้ ได้เพื่อน เป็นความรู้ที่หาไม่ได้ในแคมป์ก่อสร้าง” นายออง ซาน กล่าว

ต่อข้อเรียกร้องและข้อแนะนำดังกล่าว น.ส.อัญชนา หิรัญพฤกษ์ ผู้ตรวจราชการกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน กล่าวในการเสวนา ระบุว่า ปัญหาทั้งหมด กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญ และจะนำข้อเสนอจากทุกฝ่ายไปพัฒนาอย่างแน่นอน

“ประเทศเราจำเป็นต้องพึ่งพาแรงงานพวกนี้ แม้ปัจจุบัน เรายังไม่ได้เปิดโอกาสให้มีการเอาลูกแรงงานจากต่างประเทศเข้ามา แต่ถ้าอยู่ในประเทศไทย เราก็ดูแล เรื่องเด็กเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานให้ความสำคัญ ไม่ทอดทิ้ง เรื่องแรงงานข้ามชาติ มีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ในการดำเนินนโนบายใด หรือการประชุม ผลที่ออกมาจากการประชุม อาจจะไม่ถูกใจกับทุกฝ่ายได้” น.ส.อัญชนา กล่าว

“อย่างไรก็ตาม กระทรวงแรงงานให้ความสำคัญ กรมสวัสดิการคุ้มครองแรงงาน เรื่องแรงงานเด็ก สำคัญมาก มีโทษปรับ 1 แสน- 4 แสนบาท ถ้าพบการใช้แรงงานเด็ก… กระทรวงแรงงาน พร้อมให้การสนับสนุนร่วมกับหน่วยงานอื่น เชื่อน่าจะประสบความสำเร็จได้” น.ส.อัญชนา กล่าวเพิ่มเติม

สำนักบริหารแรงงานต่างด้าว กรมการจัดหางาน เปิดเผยข้อมูลว่า จนถึงสิ้นเดือน กันยายน 2561 ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าว(เมียนมา กัมพูชา และลาว)ที่ได้รับอนุญาตคงเหลือทั่วราชอาณาจักร 3,548,518 คน เป็นแรงงานทั่วไป 3,326,233 คน ที่เหลือเป็นแรงงานฝีมือ แรงงานที่ได้รับใบอนุญาตตลอดชีพ และชนกลุ่มน้อย โดยจากสถิติของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ในสิ้นปี 2560 ระบุว่า มีผู้ติดตามแรงงานต่างด้าวซึ่งอายุยังไม่ถึง 18 ปี ขึ้นทะเบียนนั้น มีประมาณ 2.3 หมื่นคน ซึ่งแรงงานกลุ่มนี้คือผู้ที่ต้องการได้รับการดูแลจากภาครัฐ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช มีส่วนร่วมในการรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง