กอ.รมน. จ่ายเงินผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยกว่า 6000 คน ครั้งสุดท้าย

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2017.06.21
กรุงเทพฯ
TH-ex-communists-1000 ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย ขณะเดินออกจากห้องประชุมสโมสรทหารบก หลังจากร่วมพิธีรับมอบเงินช่วยเหลือประกอบอาชีพ วันที่ 21 มิถุนายน 2560
เบนาร์นิวส์

ในวันพุธ (21 มิถุนายน 2560) นี้ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ได้มอบเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพสำหรับผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) จำนวน 6,183 ราย รายละ 225,000 บาท โดย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมระบุ เป็นการจ่ายเงินครั้งสุดท้ายสำหรับอดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ได้กล่าวในการเป็นประธานพิธีมอบเงินให้ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยภาคกลาง ที่สโมสรทหารบกกรุงเทพว่า รัฐบาลต้องการมอบเงินให้กับ ผรท. เพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ และเกิดความสำนึกรักประเทศ

“ในนามของรัฐบาล ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่ได้รับเงินช่วยเหลือในวันนี้ จะได้นำเงินไปประกอบอาชีพที่สุจริต เอาเงินไปดูแลครอบครัว ปฏิบัติตนเป็นคนดีของสังคม ด้วยจิตสำนึกรับผิดชอบ จงรักภักดีต่อชาติ” พล.อ.ประวิตรกล่าว

พล.อ.ประวิตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจ่ายเงินโดยรัฐบาลให้แก่ ผรท. ในครั้งนี้ จะเป็นครั้งสุดท้าย และการจ่ายเงินในห้วงเวลานี้เนื่องจาก การดำเนินการเสร็จสิ้นในช่วงนี้พอดี ไม่มีนัยยะทางการเมืองใดๆ แอบแฝง

กอ.รมน.มอบเงินช่วยเหลือค่าประกอบอาชีพสำหรับ ผรท. พร้อมกันทั่วประเทศตามการอนุมัติงบประมาณของรัฐมนตรีจำนวน 1,391,175,000 บาท โดยแบ่งเป็นพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 1 ตั้งจ่าย 2 แห่ง คือ สโมสรทหารบก กทม. จำนวน 294 คน และ กองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จ.กาญจนบุรี จำนวน 239 คน ในพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 2 ตั้งจ่าย 4 แห่ง คือ กองทัพภาคที่ 2 ค่ายสุรนารี จ.นครราชสีมา จำนวน 159 คน ค่ายประจักษ์ศิลปาคม จ.อุดรธานี จำนวน 395 คน  มณฑลทหารบกที่ 210 จ.นครพนม จำนวน 387 คน  ศาลากลาง จ.มุกดาหาร จำนวน 424 คน พื้นที่ กอ.รมน.ภาค 3 ตั้งจ่าย 2 แห่ง คือ มณฑลทหารบกที่ 38 จ.น่าน จำนวน 283 คน  มณฑลทหารบกที่ 310 จ.ตาก จำนวน 287 คน ส่วนพื้นที่ กอ.รมน.ภาค 4 ตั้งจ่าย 3 แห่ง คือ กองทัพภาคที่ 4 ค่ายวชิราวุธ จ.นครศรีธรรมราช จำนวน 1,611 คน  มณฑลทหารบกที่ 45 จ.สุราษฏร์ธานี จำนวน 1,321 คน  กองพันทหารช่างที่ 402 จ.พัทลุง จำนวน 783 คน

นายเสมือน ยืนยาว อดีตสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยภาคตะวันออก เปิดเผยว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้รวบรวมรายชื่อ ผรท. ที่ต้องการเข้าโครงการมอบเงินช่วยเหลือครั้งนี้ โดยหลังจากเดินทางออกจากป่า ในปี 2527 ได้ให้ความร่วมมือกับรัฐบาลเพื่อเจรจากับอดีตสมาชิก พคท. เพื่อเข้าเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย

“เข้าป่าช่วงนั้นเพราะไม่ชอบนายทุนที่เอาเปรียบ นายทุนกดขี่ข่มเหง จึงทนไม่ได้เลยเข้าป่าเอาอาวุธมาสู้กับเขา พอออกจากป่า ปี 2527 ก็เข้าร่วมกับรัฐ เพื่อเจรจากับสมาชิก พคท. ให้เอาปืนมามอบ เอาอาวุธมามอบ และให้สหายออกมามอบตัว” นายเสมือนกล่าว

ในท่ามกลางการต่อสู้กับลัทธิคอมมิวนิสต์ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ใช้นโยบาย “การเมืองนำการทหาร” ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 66/2523 เรื่อง นโยบายการต่อสู้เพื่อเอาชนะคอมมิวนิสต์ โดยหวังยุติสงครามประชาชน หรือการสู้รบของคนในชาติระหว่างพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) กับรัฐบาลไทย

โดยเปิดโอกาสให้สมาชิก และกองกำลังของ พคท. ที่ส่วนหนึ่งเป็นนักศึกษาที่หนีเข้าป่าหลังเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาที่ท้องสนามหลวงในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ให้ออกจากป่าเพื่อเข้ามอบตัวเป็นผู้ร่วมพัฒนาชาติไทย (ผรท.) โดยมีเงื่อนไขให้การช่วยเหลือ ซึ่งรัฐบาลได้มีการช่วยเหลือ ผรท. มาแล้วจำนวน 3 ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ 1 ปี 2525 มอบที่ดิน 5 ไร่ วัว 5 ตัว กว่า 800 ราย ครั้งที่ 2 ปี 2545 ที่ดิน 5 ไร่ วัว 5 ตัว พร้อมเงิน 125,000 บาท จำนวน 2,609 ราย ครั้งที่ 3 ปี 2552 ที่ดิน 5 ไร่ วัว 5 ตัว พร้อมเงิน จำนวน 9,181 ราย และครั้งสุดท้าย ปี 2560 มอบเงิน 225,000 บาท จำนวน 6,183 ราย

นายอุดม กวิณโสภณ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยที่เดินทางมาร่วมพิธีมอบเงินช่วยเหลือที่สโมสรทหารบก รู้สึกดีที่รัฐบาลยังให้ความสนใจ และให้การช่วยเหลือ ผรท.

“รู้สึกดีที่รัฐบาลให้ความช่วยเหลือ แม้ว่าพวกเราจะออกจากป่ากันมา 30-40 ปีแล้วก็ตาม ผมได้ข่าวว่ารุ่นของผมจะเป็นรุ่นสุดท้ายแล้วที่ได้รับการช่วยเหลือ ต่อไปจะไม่มีอีกแล้ว เพราะว่าผู้ที่จะได้รับการช่วยเหลือจะต้องอายุ 50 ปีขึ้นไปทุกคน” นายอุดม ที่หนีเข้าไปหลบซ่อนตัวในป่าหลังวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และใช้ชีวิตอยู่ในป่าเป็นเวลา 4 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้านนายกมล สุสำเภา หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาชาติไทยเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า โครงการมอบเงินช่วยเหลือ เป็นวิธีที่แสดงถึงการให้อภัย และการประนีประนอมระหว่างคนที่มีสัญชาติไทยด้วยกัน แต่ถ้าหากเปรียบเทียบสถานการณ์ในอดีตของ พคท. กับ สถานการณ์ในพื้นที่ภาคใต้ของไทยในปัจจุบัน เชื่อว่าไม่สามารถใช้วิธีเดียวกันได้ เนื่องจากมีการใช้ข้ออ้างทางศาสนาในการก่อเหตุ และมีความซับซ้อนของปัญหาที่มากกว่า

“กรณีภาคใต้ มันมีความแตกต่างและซับซ้อนมากกว่านั้น ความขัดแย้งทางศาสนาเหมือนถูกเอามาเป็นข้ออ้าง ผมไม่เชื่อว่าภาคใต้ มันเกิดจากศาสนาอย่างเดียว เพราะพุทธกับอิสลามไม่เคยรบกัน มันมีเรื่องของการเมือง อิทธิพลท้องถิ่น อิทธิพลของอะไรที่เราไม่รู้ แล้วก็มีความสัมพันธ์ของรัฐอิสลามด้วย คงใช้วิธีเดียวกันกับตอนคอมมิวนิสต์ไม่ได้” นายกมลกล่าว

“เนื่องจากสถานการณ์มันเกิดตรงนั้น มันซับซ้อนหลายชั้นมาก เหมือนกับว่า ถ้ารัฐจับปัญหานี้ อย่างเช่น เจรจาขอยุติศึก ก็ยังไม่รู้ว่าคุณเจรจาถูกจุดหรือเปล่า เจรจาทางนี้เสร็จแล้วคุณยังต้องเจรจากับทางตะวันออกกลางอีกหรือไม่ กรณีภาคใต้ไม่เหมือนกรณีคอมมิวนิสต์ คอมมิวนิสต์เป็นเพียงความขัดแย้งทางด้านการเมือง แต่ก็เห็นความพยายามของรัฐบาลในการทำโครงการพาคนกลับบ้าน” นายกมลกล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง