รมช.ต่างประเทศสหรัฐฯ พบประยุทธ์ ย้ำพันธมิตร-พร้อมผลักดันวัคซีนให้ไทย

บุษบา ศิวะสมบูรณ์ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์
2021.06.02
กรุงเทพฯ และเชียงใหม่
รมช.ต่างประเทศสหรัฐฯ พบประยุทธ์ ย้ำพันธมิตร-พร้อมผลักดันวัคซีนให้ไทย นางเวนดี้ อาร์. เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ (ซ้าย) พบพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา (ขวา) ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร วันพุธที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2564
สำนักงานโฆษกรัฐบาล/เอพี

ในวันอังคารนี้ นางเวนดี้ อาร์. เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าหารือกับพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ทำเนียบรัฐบาล ในโอกาสการเยือนประเทศไทย โดยระบุว่ารัฐบาลสหรัฐฯ พร้อมช่วยจัดหาวัคซีนโควิดให้ประเทศไทย และย้ำความเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้น อย่างไรก็ตาม นางเวนดี้ แสดงความกังวลเกี่ยวกับกรณีผู้ลี้ภัยเมียนมา ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อประเทศไทย ขณะที่ประยุทธ์ย้ำไทยมีประสบการณ์ด้านผู้ลี้ภัย พร้อมยืนยันว่าจะแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี

คณะผู้แทนสหรัฐฯ ซึ่งนำโดย นางเวนดี้ อาร์. เชอร์แมน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ นับเป็นผู้แทนของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มาเยือนต่างประเทศ และมาประเทศไทย อย่างเป็นทางการเป็นคนแรก ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน ภายหลังเข้ารับตำแหน่ง ภายใต้รัฐบาลประธานาธิบดีโจ ไบเดน ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 

สถานทูตสหรัฐฯและสถานกงสุลในประเทศไทยระบุในแถลงการณ์ เกี่ยวกับการเยือนประเทศไทยของรัฐมนตรีช่วยฯ เวนดี้ ว่า เรายืนยันความมุ่งมั่นที่สหรัฐฯ มีต่อประชาชนไทยในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ซึ่งรวมไปถึงความช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุขแก่ประเทศไทยเกือบ 30 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งสองฝ่ายต่างเห็นพ้องถึงความสำคัญของการทำงานร่วมกันอย่างต่อเนื่องในประเด็นนี้

“เราได้หารือกันด้วยความเข้าใจและสร้างสรรค์ถึงคุณค่าของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพขั้นพื้นฐาน รวมถึงเสรีภาพในการแสดงออก โดย เช่น กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปค) อาเซียน และหุ้นส่วนลุ่มน้ำโขง-สหรัฐฯ” ส่วนหนึ่งในแถลงการณ์ ระบุ

อย่างไรก็ตามยังแถลงการณ์ดังกล่าวไม่ได้ระบุรายละเอียดของปริมาณและกรอบเวลาการช่วยเหลือทางด้านวัคซีน

นอกจากนี้นางเวนดี้ อาร์. เชอร์แมน ยังได้หารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ที่กระทรวงการต่างประเทศ ภายหลังที่ได้เข้าเยี่ยมคารวะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ภายหลังการหารือดังกล่าว นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยกับสื่อมวลชนว่า นายกฯ ประยุทธ์เชื่อมั่นว่า ด้วยประสบการณ์และความเชี่ยวชาญของรัฐมนตรีช่วย จะมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมมิตรภาพระหว่างไทยกับสหรัฐที่ยาวนานกว่า 188 ปี ให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยไทยได้ติดตามนโยบายของสหรัฐอย่างต่อเนื่อง และหวังว่าไทยกับสหรัฐจะเพิ่มพูนความร่วมมือที่เป็นประโยชน์ต่อกันในลักษณะ Win-Win ต่อไป

“ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์ที่ยากลำบากจากโควิด-19 ซึ่งสหรัฐฯ เข้าใจและมีนโยบายด้านการจัดหาวัคซีนเพื่อช่วยเหลือหลาย ๆ ประเทศ ให้ผ่านพ้นจากสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงพร้อมให้การสนับสนุนไทยในการเข้าถึงวัคซีน ซึ่งเราขอบคุณและยินดีรับการสนับสนุน โดยจะดำเนินการตามกระบวนการนำเข้าวัคซีนต่อไป” นายอนุชา ระบุ

“ในประเด็นความร่วมมือพหุภาคี รัฐบาลไทยได้ชื่นชมสหรัฐที่มีบทบาทอย่างสร้างสรรค์ในภูมิภาคอาเซียนมาโดยตลอด พร้อมยืนยันว่าไทยจะสนับสนุนบทบาทที่สร้างสรรค์ และให้ความร่วมมือกับสหรัฐต่อไป โดย นางเวนดี้มีความกังวลเกี่ยวกับกรณีผู้ลี้ภัย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศไทย แต่นายกฯ ประยุทธ์ ยืนยันว่าไทยมีประสบการณ์เกี่ยวกับผู้ลี้ภัยภายใต้หลักมนุษยธรรม และหวังให้เกิดการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี” นายอนุชา กล่าวเพิ่มเติม

นางเวนดี้ ยังกล่าวในการประชุมทางไกลกับสื่อมวลชน ระหว่างการเยือนประเทศไทยว่า มิตรภาพระหว่างสหรัฐฯ และไทยมีความสำคัญต่อการรับมือกับความท้าทายทางเศรษฐกิจและความมั่นคงในภูมิภาค พร้อมยืนยันถึงข้อเรียกร้องของสหรัฐฯ ให้ยุติความรุนแรงและคืนประชาธิปไตยให้แก่ชาวพม่าโดยทันที

“เราทราบดีว่า อาเซียนกำลังหารือกับทุกภาคส่วนในภูมิภาคว่า ต้องการมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเมียนมา เราไม่มีเวลาให้เสียอีกต่อไปแล้ว ต้องเจรจากับผู้นำทางทหารในเมียนมา รวมถึงพรรคฝ่ายประชาธิปไตยทั้งหมด เราทุกคนอยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ด้านมนุษยธรรมในเมียนมา ซึ่งเราหวังว่าจะเกิดขึ้นในเร็ววันนี้” นางเวนดี้ กล่าว

นักวิชาการชี้สหรัฐอาจใช้สงครามวัคซีนคานอำนาจจีน

ต่อการหารือดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ธัญณ์ณภัทร์ เจริญพานิช อาจารย์ประจำสาขาวิชารัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎพิบูลสงคราม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมารัฐบาลสหรัฐอเมริกาติดตามการเมืองในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาโดยตลอด เพราะฉะนั้นการที่ตัวแทนเข้ามาพบปะกับรัฐบาลจึงอาจส่งผลดีในทางอ้อมต่อประเด็นของผลประโยชน์ทางความมั่นคงแห่งชาติ ขณะเดียวกันก็สามารถใช้ประเด็นดังกล่าวกดดันรัฐบาลไทยในประเด็นทางการเมือง เช่น การละเมิดสิทธิมนุษยชน โดยเฉพาะกรณีมาตรา 112 ซึ่งทั่วโลกเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมไทยมีปัญหา

การพบกันครั้งนี้มีนัยทางการเมืองไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะการพยายามคานอำนาจกับจีน ผ่านสงครามวัคซีน ที่ตัวแทนจากอเมริกาพูดถึงประเด็นการสนับสนุนวัคซีนในประเทศไทย โดยที่ผ่านมาไทยรับวัคซีนจำนวนมากมาจากจีน สงครามนี้สะท้อนผ่านยี่ห้อ ที่บ่งบอกถึงธงประเทศนั้นๆ และการที่ประชาชนรับรู้ว่าวัคซีนของตะวันตกมีคุณภาพมากกว่านั้นเป็นประเด็นทางการเมืองอย่างแน่นอน” ดร. ธัญณ์ณภัทร์ ระบุ

มองในฐานะประชาชน หากทั้งสหรัฐฯ และจีน สามารถคานอำนาจกันได้ลักษณะแบบนี้ ประชาชนจะมีทางเลือกในการได้รับวัคซีนมากขึ้น ตอนนี้ผู้คนไม่สนแล้วว่า จะฉีดวัคซีนฟรีหรือไม่ แต่หากเป็นยี่ห้อจากตะวันตก ก็ยินดีที่จะจ่าย คือความเชื่อมั่นต่อวัคซีนมันแตกต่างกัน ซึ่งอเมริกาคงใช้จุดนี้ในการคานอำนาจ” ดร. ธัญณ์ณภัทร์ กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง