คณะราษฎรร้องเยอรมนีสอบการบริหารราชการ ในหลวง ร.10 บนแผ่นดินเยอรมัน
2020.10.26
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์นี้ คณะราษฎรกว่าหมื่นคนได้รวมตัวชุมนุม และยื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อให้รัฐบาลเยอรมันตรวจสอบว่า พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ทรงบริหารราชการแผ่นดินไทยบนแผ่นดินเยอรมันหรือไม่ ขณะที่ รัฐสภาได้เปิดประชุมสมัยวิสามัญเพื่ออภิปรายเกี่ยวกับข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม
การชุมนุมเรียกร้องของนักศึกษา และประชาชนในประเทศไทย เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 จนถึงปัจจุบัน โดยผู้ชุมนุม ซึ่งปัจจุบันใช้ชื่อว่า “คณะราษฎร” มีข้อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลาออกจากตำแหน่ง เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่นำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญใหม่โดย สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) และเรียกร้องให้มีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ ขณะเดียวกัน รัฐสภาได้เปิดประชุมวิสามัญโดยใช้อำนาจตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เพื่ออภิปรายแบบไม่มีการลงคะแนน เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะใช้เวลาประชุม 2 วันคือระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563
การชุมนุมของคณะราษฎรในวันจันทร์นี้ มีประชาชนเข้าร่วมราว 1 หมื่นคน เริ่มต้นขึ้นบริเวณสามย่าน ในช่วงเวลา 17.00 น. ก่อนเดินขบวนจากบริเวณดังกล่าว เป็นระยะทางประมาณ 4.1 กิโลเมตร เพื่อไปยังสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย บนถนนสาทร ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยของเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนหนึ่งกองร้อย หลังจากที่ผู้ชุมนุมเดินทางถึง นายเกออร์ก ชมิดท์ เอกอัครราชทูตเยอรมันประจำประเทศไทยได้เชิญให้ตัวแทนผู้ชุมนุม 3 คน เข้ายื่นจดหมาย และพูดคุยภายในสถานเอกอัครราชทูตฯ โดยการพูดคุยใช้เวลาประมาณ 20 นาที
“ท่านทูตเยอรมันกล่าวว่า พวกเขารับฟังเราอย่างจริงใจ เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทางเยอรมันจะให้คำตอบกับราษฎรไทย” น.ส.ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล หรือมายด์ แกนนำคณะราษฎร กล่าวแก่ผู้ชุมนุม หลังจากที่เป็นหนึ่งในตัวแทนเข้าพบนายเกออร์ก
น.ส.ภัสราวลี ระบุว่า ตนเองได้ยื่นหนังสือซึ่งมีใจความระบุว่า ประชาชนชาวไทยผู้รักในประชาธิปไตยขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบข้อเท็จจริงอันเกี่ยวข้องกับในหลวงรัชกาลที่ 10 และข้าราชบริพาร
“ตามที่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเยอรมนีตั้งกระทู้ถามถึงรัฐบาลแห่งสหพันธ์ เรื่องประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศเยอรมนี ของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ และได้มีการตอบกระทู้นั้นว่า ทางรัฐบาลไทยได้แจ้งการเดินทางเข้าออกให้ทางการเยอรมนีทราบโดยเสมอ เราจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลเยอรมนีตรวจสอบและเปิดเผยประวัติการเดินทางเข้าออกประเทศเยอรมนีของกษัตริย์วชิราลงกรณ์ เพื่อที่จะได้รู้ว่ามีการใช้อํานาจอธิปไตยในแผ่นดินเยอรมนีหรือไม่” น.ส.ภัสราวลี
ในวันอาทิตย์ หนึ่งวันก่อนการยื่นจดหมายเปิดผนึก สถานทูตเยอรมันได้ออกบันทึกมีใจความท่อนหนึ่งว่า "สถานทูตฯ พร้อมที่จะรับข้อความที่ส่งถึงรัฐบาลของประเทศเยอรมนี ด้วยสันติวิธี"
ทั้งนี้ ในวันเดียวกันช่วงบ่าย กลุ่มมวลชนคนเสื้อเหลืองในนาม “กลุ่มประชาชนคนไทย” ได้เข้ายื่นหนังสือต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย ให้รัฐบาลเยอรมันรับฟังและพิจารณาข้อมูลของผู้ชุมนุมทุกฝ่ายอย่างถี่ถ้วน เพื่อระงับยับยั้งการบานปลาย อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อประเทศไทย
“ประชาชนคนไทยที่มาในวันนี้มีความกังวลต่อการที่ผู้ชุมนุมบางกลุ่มกำลังดึง ประเทศเยอรมนี เข้าสู่เวทีความขัดแย้งในประเทศไทย อันเกิดจากความพยายามต่อสู้ช่วงชิงอำนาจทางการเมือง เนื่องจากการกระทำที่ผิดกฎหมายของผู้นำของกลุ่ม จึงพยายามสร้างสถานการณ์ที่เอื้อต่อประโยชน์ทางการเมืองของตน” จดหมายของกลุ่มประชาชนคนไทย ตอนหนึ่งระบุ
ทั้งนี้ กลุ่มประชาชนคนไทยยังได้มีการชูป้ายข้อความที่ระบุว่า “สถาบันพระมหากษัตริย์ไทยไม่เกี่ยวข้องใด ๆ กับการเมือง” หรือ “การแย่งอำนาจทางการเมือง อย่านำสถาบันพระมหากษัตริย์ไทยมาเกี่ยวข้อง”
การชุมนุมของประชาชนและเยาวชนที่เห็นต่างจากรัฐบาล เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วประเทศตั้งแต่เดือนกลางกรกฎาคม 2563 ในการชุมนุมใหญ่อีกครั้ง ในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ทางกลุ่มผู้ชุมนุมในนามคณะราษฎร ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ “ประกาศยุบสภา แก้ไขรัฐธรรมนูญ และมีการปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์” และในวันเดียวกัน เกิดเหตุการณ์ที่ผู้ชุมนุมได้เข้าไปใกล้ขบวนเสด็จฯ ของสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี และชูสัญลักษณ์สามนิ้วใส่รถยนต์พระที่นั่ง
ทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินร้ายแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ ตั้งแต่เวลา 04.00 น. ของวันที่ 15 ตุลาคม 2563 และจับกุมแกนนำและผู้ร่วมชุมนุม 22 คน มีการสลายการชุมนุมโดยการใช้ปืนฉีดน้ำผสมสารเคมีใส่ผู้ชุมนุมที่แยกปทุมวันในวันที่ 16 กรกฎาคม 2563 การกระทำดังกล่าวทำให้รัฐบาลถูกประณามจากองค์กรภาคประชาสังคม นักวิชาการ และสื่อมวลชน จำนวนมาก
ในวันที่ 21 ตุลาคม 2563 พล.อ.ประยุทธ์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้ชุมนุมถอยคนละก้าว และนำปัญหาที่เกิดขึ้นไปแก้ไขในระบบรัฐสภา และยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ ในวันต่อมา และคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้ใช้อำนาจตามมาตรา 165 ของรัฐธรรมนูญ เพื่ออภิปรายแบบไม่มีการลงคะแนน เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จะใช้เวลาประชุม 2 วันคือระหว่างวันที่ 26-27 ตุลาคม 2563
เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 และสมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานในวันปิยมหาราช ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ก่อนจะเสด็จพระราชดำเนินทักทายประชาชนที่มารอเฝ้ารับเสด็จ และตรัสกับ นายฐิติวัฒน์ ธนการุณย์ ซึ่งเคยนำพระบรมฉายาลักษณ์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ไปชูกลางที่ชุมนุมของคณะราษฎร
“กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ” ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทรงตรัสกับ นายฐิติวัฒน์ อย่างไรก็ตาม หลังจากปรากฏวิดีโอ ซึ่งบันทึกเหตุการณ์ดังกล่าวบนโลกอินเทอร์เน็ต ทำให้มีการวิพากษ์-วิจารณ์ว่า การที่ในหลวงทรงตรัสในลักษณะดังกล่าว เป็นการเลือกข้างทางการเมือง นำไปสู่การนำประโยคดังกล่าวไปใช้เป็นส่วนประกอบในการเคลื่อนไหวทางการเมืองของคณะราษฎร ในการชุมนุมที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันอาทิตย์วานนี้ และหน้าสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนี ในวันจันทร์
เปิดประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในการเปิดประชุมวิสามัญของรัฐสภา ให้มีการอภิปรายแบบไม่มีการลงคะแนน เพื่อหาทางแก้ไขสถานการณ์ประท้วงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน โดยขอร้องให้สมาชิกรัฐสภาช่วยกันใช้สติปัญญาในการหาทางออก
“ผม ในนามของรัฐบาล ในนามนายกรัฐมนตรี รู้ว่าทุกอย่างอาจจะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาของโลกปัจจุบัน แต่เราต้องยอมรับว่าในประเทศไทยของเราคนจำนวนหลายสิบล้านคน ไม่อยากจะเห็นการเปลี่ยนแปลงในลักษณะวุ่นวาย สับสนอลหม่าน ทุกคนมีความเชื่อของตัวเอง เขาเห็น เขาเชื่อ มาตลอดชีวิตของเขา เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีความสมดุลระหว่างความต้องการของแต่ละคน และความต้องการของคนอื่น ๆ ในสังคมด้วย อย่างสร้างสรรค์” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“3 ข้อเรียกร้องต่าง ๆ เหล่านี้ ผมก็ทราบดี ขณะเดียวกันก็มีข้อเรียกร้องให้ปล่อยผู้ที่ถูกควบคุมตัว การยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องการปฏิรูปสถาบัน หลายเรื่องนั้นอยู่ในขั้นตอนดำเนินการอยู่แล้ว… วันนี้ ผมก็หวังเป็นอย่างยิ่งว่า พวกเราจะใช้โอกาสใช้เวลาร่วมกัน 2 วัน ในสภาอันทรงเกียรติแห่งนี้ เพื่อปรึกษาหารือกัน... ร่วมกันคิดและทำในสิ่งที่สร้างสรรค์ เพื่อเป็นประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้อย่างแข็งแรง” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ กลุ่มผู้ชุมนุมยืนยันว่า ข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันนั้น มิใช่การล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์
“สิ่งที่เราเรียกร้องอยู่นี้ คือการเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ไม่ใช่การล้มเจ้า เราขอให้สถาบันกษัตริย์ กลับมาอยู่ในร่องในรอย รวมทั้งการขยายพระราชอำนาจทางทหาร... ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นคนลงนามในพระราชกำหนดขยายพระราชอำนาจทั้งนั้น ถ้าประยุทธ์ลาออกทุกอย่างจะจบที่สภา” ผู้ชุมนุมรายหนึ่ง ระบุ
อย่างไรก็ดี นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ต้องการให้ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งต่อไป ไม่ทำตามข้อเรียกร้องของผู้ชุมนุม เพื่อปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ต่อไป และตีความว่า การเรียกร้องของคณะราษฎรต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงการปกครองไปสู่ระบอบสาธารณรัฐ
“ผู้ชุมนุมได้เหิมเกริมถึงขนาดบังอาจกระทำการขวางทาง และหยุดขบวนเสด็จพระราชดำเนินของสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินี และสมเด็จพระลูกยาเธอเจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ โดยผู้ชุมนุมบังอาจกุ้มรุมล้อมรถพระที่นั่ง และตะโกนด้วยถ้อยคำอันหยาบคายรุนแรง แสดงอาการไม่บังควร...เป้าหมายหลักของแกนนำผู้ชุมนุมคือ ข้อที่ 3 ที่จะปฏิรูปสถาบัน เพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงและลดสถานะของสถาบัน และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงการปกครองในระบอบการปกครองของไทย ให้เป็นไปการปกครองในระบอบสาธารณรัฐ” นายไพบูลย์ กล่าว
“เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุม คือ ปฏิรูปสถาบัน จึงเรียกร้องให้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออกจากตำแหน่งนายกฯ เพราะพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นบุคคลที่เป็นเลิศในเรื่องความจงรักภักดีต่อสถาบันสูงสุด … ขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรี ท่านอย่าลาออกนะครับ ท่านต้องทำหน้าที่ปกป้องชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ให้มีความมั่นคงต่อไป และบริหารประเทศให้ผ่านวิกฤตไวรัสโควิด แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ… อย่าไปลาออกตามฝ่ายที่เรียกร้องมา ซึ่งมีคนเพียงไม่กี่หมื่นคน ต้องคำนึงถึงประชาชน 8.4 ล้านคนที่เลือกท่านมาเป็นนายกรัฐมนตรี” นายไพบูลย์ กล่าวเพิ่มเติม