ศบค. ลดจังหวัดแดงเข้มเหลือ 23 จังหวัด
2021.10.14
กรุงเทพฯ
คณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) มีมติในวันพฤหัสบดีนี้ว่า จะลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 29 เหลือ 23 จังหวัด ลดเวลาเคอร์ฟิวจากที่ห้ามออกจากเคหสถาน 22.00-04.00 น. เป็น 23.00-03.00 น. โดยล่าสุดวันนี้ กำหนดให้นักท่องเที่ยวจาก 5 ประเทศ เดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว หากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี แถลงหลังการประชุม ศบค. ชุดใหญ่ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า ศบค. มีมติให้ผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ ในวันที่ 16 ตุลาคม 2564 นี้ เพื่อรองรับการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวที่จะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
“วันนี้ พวกเราอยากจะขอความร่วมมือกับประชาชน อย่างน้อยก็จะเป็นจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ ที่ช่วยให้คนหลายภาคส่วนในประเทศไทย น่าจะเริ่มกลับมาทำมาหากิน และเริ่มตั้งตัวได้ดีอีกครั้งหนึ่ง เราต้องมีความพยายามในการดึงนักท่องเที่ยวกลับมาประเทศไทยให้มากขึ้น” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว
โดย นพ. ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. แถลงว่า ศบค. มีมติผ่อนคลายมาตรการเพื่อให้ประชาชนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติยิ่งขึ้น
“พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ห้ามออกนอกเคหสถานจากเดิม 4 ทุ่มถึง ตี 4 จะเป็น 5 ทุ่มถึงตี 3 ไว้สำหรับผู้ประกอบการตลาดโต้รุ่ง ตลาดเช้า เพื่อให้สภาพการประกอบการทำมาหากินกลับสู่วิถีชีวิตเดิม ร้านสะดวกซื้อขยับเป็น 4 ทุ่ม” นพ. ทวีศิลป์ กล่าว
นอกจากนั้น ศบค. ยังมีมติ ลดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจาก 29 เหลือ 23 จังหวัด โดยกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ซึ่งมาตรการใหม่นี้อย่างน้อย 15 วัน แต่สำหรับ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ยังไม่อนุญาตให้เปิด โดย ศบค. และ กระทรวงมหาดไทยจะมีการหารือ และกำหนดมาตรการเกี่ยวกับสถานบันเทิงอีกครั้งภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2564
ในวันเดียวกัน ศบค. ได้กำหนดให้ประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา เยอรมัน สิงคโปร์ และจีน เป็นประเทศความเสี่ยงต่ำ เนื่องจากสามารถควบคุมการระบาดได้ดี ที่พร้อมเปิดให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยโดยไม่ต้องกักตัว หากฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม โดยการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ตามการแถลงของ พล.อ. ประยุทธ์ ในวันจันทร์ที่ผ่านมา ส่วนประเทศความเสี่ยงต่ำอื่น ๆ นั้น ศบค. จะพิจารณาและประกาศอีกในอนาคต
ศบค. ยังวางแผนว่า ระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 จะประกาศพื้นที่นำร่องสำหรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเพิ่มเติมจากปัจจุบันที่เปิดแล้วคือ จังหวัดภูเก็ต สุราษฎรธานี พังงา และกระบี่ (พื้นที่เกาะท่องเที่ยว) โดยจะเพิ่ม กรุงเทพฯ สมุทรปราการ (เฉพาะพื้นที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี เป็นต้น ซึ่ง ศบค. จะมีการพิจารณาและประกาศในอนาคตต่อไป
นายกรกต เตียรตระกูล นักดนตรีกลางคืน ในจังหวัดนครปฐม อายุ 32 ปี กล่าวว่า เห็นด้วยกับมาตรการลดเวลาเคอร์ฟิวของรัฐบาล
“ที่รัฐบาลจะเลื่อนเคอร์ฟิวเป็น 5 ทุ่ม ถือเป็นเรื่องที่ดี น่าจะช่วยนักดนตรีได้ แต่หากยังไม่อนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ งานหรือรายได้ของนักดนตรี และร้านอาหาร ก็จะไม่กลับมาเป็นปกติ โดยเฉพาะช่วงทำเงินที่สุดคือ หน้าหนาว ถ้าจะให้ดีที่สุดรัฐควรจะเริ่มอนุญาตได้แล้ว เพราะนักดนตรี ผับ บาร์ต้องปิดมาครึ่งปี ทุกคนเดือดร้อนมาก และไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ” นายกรกต กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ขณะเดียวกัน นายภูริพงศ์ สุทธิโสภาพันธ์ เจ้าของร้านเบียร์ Let it beer ในจังหวัดขอนแก่น อายุ 36 ปี ชี้ว่า ได้รับผลกระทบอย่างมากจากการห้ามให้ดื่มแอลกอฮอล์ในร้าน
“ปีนี้ รัฐบาลสั่งปิดร้านเบียร์มาแล้ว 4 ครั้ง ร้านผมน่าจะขาดทุนไม่ต่ำกว่า 4 แสนบาท การห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของรัฐบาลไม่มีหลักอ้างอิงทางวิทยาศาสตร์เลย เพราะเห็นว่า แม้จะปิดมากว่า 6 เดือน ก็ยังมียอดติดเชื้อเพิ่ม ถ้าผมเป็นลูกนายกฯ ผมจะรีบหาวัคซีนที่ดีที่สุดเข้ามาฉีดให้ประชาชน แล้วเร่งเปิดประเทศให้เร็วกว่านี้” นายภูริพงศ์ ระบุ
ด้าน น.ส. นวพร สุนันท์ลิกานนท์ นักวิจัยจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยชี้ว่า รัฐบาลควรเร่งทำให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิต และหารายได้อย่างปกติ และควรออกมาตรการให้ชัดเจน
“มาตรการรัฐในหลายครั้งไม่สมเหตุสมผล ครั้งนี้การขยายเคอร์ฟิวเพียง 2 ชั่วโมง แทบไม่มีผล การกำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด มากเกินไป จังหวัดที่ผู้ติดเชื้อเริ่มทรงตัวกลับไม่ถูกปรับออก แต่จังหวัดที่มีแนวโน้มแพร่ระบาดกลับไม่ถูกเอาเข้ามาอยู่พื้นที่ควบคุมฯ การประกาศเปิดประเทศ แต่ยังไม่อนุญาตให้ดื่มสุราในร้าน แสดงให้เห็นว่า รัฐไม่ได้เห็นหัวคนทำมาหากินเท่าไหร่” น.ส. นวพร กล่าวกับเบนาร์นิวส์
ไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ครั้งแรกในเดือนมกราคม 2563 มีผู้ติดเชื้อสะสม 1.75 ล้านราย มีมาตรการปิดสถานบันเทิง และห้ามขายแอลกอฮอล์ในร้านตั้งแต่ 10 เมษายน 2564 ศบค. ระบุว่า ในวันพฤหัสบดีนี้ ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 11,276 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 112 ราย คิดเป็น 1.03 เปอร์เซ็นต์ของผู้ป่วยทั้งหมด สามารถฉีดวัคซีนได้แล้ว 62.5 ล้านโดส เป็นวัคซีนเข็มแรก 36.2 ล้านราย เข็มที่สอง 24.5 ล้านราย และเข็มที่สาม 1.83 ล้านราย
วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ และคุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ร่วมรายงาน