ครอบครัวผู้สูญหายร้องรัฐขอความยุติธรรม ในวันผู้สูญหายสากล
2017.08.30
กรุงเทพฯ และปัตตานี

“สิ่งสำคัญในการที่จะฟื้นคืนความเชื่อมั่นจากรัฐ คือ รัฐต้องแสดงความจริงใจ จำเป็นที่จะต้องมีกฎหมาย และให้สัตยาบันอนุสัญญาว่าด้วยการบังคับสูญหายของสหประชาชาติ การสร้างกระบวนการโปร่งใสในการสอบสวน และที่สำคัญต้องยกระดับ พ.ร.บ.ทรมาน-สูญหายให้สอดคล้องกับอนุสัญญาของสหประชาชาติ”
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ภรรยาของทนายสมชาย นีละไพจิตร อดีตประธานชมรมนักกฎหมายมุสลิมซึ่งถูกลักพาตัว เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2547 เรียกร้องต่อรัฐบาลไทยในวันผู้สูญหายสากล 30 สิงหาคม 2560
ในวันนี้ นางอังคณา ร่วมพูดคุยกับ นางพิณนภา พฤกษาพรรณ ภรรยาของ “บิลลี่” นายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำกะเหรี่ยงบ้านบางกลอย จ.เพชรบุรี ซึ่งหายตัวไปเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2557 ถึงความรู้สึกของผู้ที่ต้องตกเป็นเหยื่อของการบังคับสูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ
“สำหรับดิฉันในฐานะที่เป็นเหยื่อการบังคับสูญหายซึ่งเป็นคดีแรกที่ถูกนำเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม แม้สุดท้ายจะกลายเป็นผู้แพ้ ไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ดิฉันอยากจะบอกว่ากรณีสมชาย ได้บอกเล่าปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมไทยถึงสิ่งที่ถูกปกปิดมานาน และเมื่อไหร่ก็ตามที่เรายังหลับหูหลับตามองไม่เห็นความทุกข์ยากของคนที่ถูกบังคับให้สูญหายโดยเจ้าหน้าที่รัฐ คิดว่ารัฐเองก็จะขาดความชอบธรรมในที่สุด” นางอังคณาระบุ
ในปี 2547 ทนายสมชาย นีละไพจิตรได้ให้การช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ต้องหา 5 คน ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ก่อการร้ายมูจาฮีดีน ซึ่งทั้ง 5 คนเปิดเผยว่า จำเป็นต้องยอมรับข้อกล่าวหาดังกล่าวในชั้นสืบสวน เนื่องจากถูกตำรวจข่มขู่ และกระทำทารุณกรรม ในวันที่
12 มีนาคม ปีเดียวกัน ระหว่างที่ทนายสมชายเดินทางด้วยรถยนต์บนถนนรามคำแหง ได้ถูกกลุ่มบุคคลซึ่งเชื่อว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังนำตัวขึ้นรถ และลักพาตัวไป ครอบครัวของทนายสมชายจึงนำคดีเข้าสู่การพิจารณาของศาล
จนกระทั่งในวันที่ 29 ธันวาคม 2558 ศาลฎีกายกฟ้องเจ้าหน้าที่ตำรวจ 5 รายที่เกี่ยวข้องกับการลักพาตัวทนายสมชาย เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ และยกคำร้องการขอเป็นโจทก์ร่วมของภรรยา และบุตรของทนายสมชายเพราะมองว่า “ไม่ใช่ผู้เสียหายของการบังคับสูญหาย”
ขณะที่นางพิณนภา ภรรยาของบิลลี่กล่าวว่า การหายไปของบิลลี่ไม่เพียงแต่จะสร้างความลำบากให้กับครอบครัวของบิลลี่เท่านั้น แต่ยังสร้างความหวาดกลัวให้เกิดขึ้นกับคนในหมู่บ้านบางกลอย ซึ่งบิลลี่เคยอาศัยอยู่ด้วย และในฐานะเหยื่อการบังคับสูญหาย ตนเองหวังเพียงแค่ให้เจ้าหน้าที่รัฐช่วยตรวจสอบความจริงในการหายตัวไปของบิลลี่
“มันไม่มีข้อมูล ไม่มีใครที่จะกล้าให้ข้อมูลใดๆ มีแต่คนที่กลัว มีคนบอกว่า ถ้ามีคนพูดว่า รู้เห็นว่าบิลลี่อยู่ตรงไหน ตายตรงไหน คนที่พูดก็จะต้องตายตามบิลลี่ไปด้วย ในหมู่บ้านบางกลอย แม้แต่ชื่อของหัวหน้าอุทยานก็ไม่กล้าที่จะพูด เพราะเขากลัวกันมาก” นางพิณนภากล่าว
“อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือหยุดการคุกคาม และติดตามให้รู้ความจริงไวๆ อย่างน้อยถ้าได้รู้ว่าบิลลี่เสียชีวิตไป พบชิ้นส่วน จะได้เอาไปทำบุญ จะไม่เคียดแค้นกับคนที่ทำกับบิลลี่” นางพิณนภากล่าวเพิ่มเติม
10 ปีหลังจากทนายสมชายถูกลักพาตัว ในวันที่ 17 เมษายน 2557 บิลลี่ถูกทำให้สูญหาย ไม่มีใครพบเห็นบิลลี่อีกหลังจากเขาเข้าไปเก็บน้ำผึ้งในป่า และอยู่ระหว่างการเตรียมตัวที่จะขึ้นให้การต่อศาล ในคดีรื้อและเผาบ้านกะเหรี่ยงซึ่งมีนายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจานในขณะนั้น เป็นหนึ่งในจำเลย
และนายชัยวัฒน์ กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าของอุทยานฯแก่งกระจาน 3 คน ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้มีส่วนรู้เห็นในการหายตัวไปของบิลลี่ เนื่องจากในวันที่บิลลี่หายตัวไปนั้นมีหลักฐานว่า เจ้าหน้าที่กลุ่มดังกล่าวเป็นผู้ควบคุมตัวบิลลี่เอาไว้ แม้ภายหลังเจ้าหน้าที่จะยืนยันว่า ได้ปล่อยตัวบิลลี่ออกไปแล้วก็ตาม
ต่อมานางพิณนภา ได้ฟ้องต่อศาลให้เอาผิดนายชัยวัฒน์ และพวกในข้อหาลักพาตัวบิลลี่ แต่สุดท้ายศาลตัดสินยกฟ้องด้วยเหตุผลว่า คำร้องไม่มีน้ำหนักเพียงพอ และการขอให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) รับคดีนี้เป็นคดีพิเศษ ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากดีเอสไอระบุว่า นางพิณนภาไม่ใช่ผู้เสียหาย เนื่องจากไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับบิลลี่ แม้ในเดือนเมษายน 2560 เจ้าหน้าที่ดีเอสไอลงพื้นที่มาเก็บข้อมูลจากครอบครัวของบิลลี่อีกครั้ง แต่ล่าสุดยังไม่มีความคืบหน้าใดๆ
เรียกร้องกรณีทหารเกณฑ์หายตัวที่ยะลา
นายอับดุเลาะ นะดารอนิง ชาวยะลา บิดาของพลทหารอิสมาแอล นะดารอนิง ซึ่งหายตัวไปขณะถูกเกณฑ์เป็นทหารในปี 2553 ระบุว่า ต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐตรวจสอบหาความจริงในเรื่องนี้ เนื่องจากตนเองเชื่อว่า บุตรชายถูกทำร้ายระหว่างฝึกซ้อมในค่ายทหาร ก่อนการหายตัวไป
“ตลอดเวลาที่ผ่านมาตามหาลูกมาตลอด จนกระทั่ง ปี 2558 ศาลตัดสินให้เป็นบุคคลสูญหาย ตั้งแต่นั้นมาก็ไม่ได้ตามหาอีกเลย ส่วนตัวเชื่อว่าลูกถูกซ้อมในระหว่างเข้าไปเป็นทหารจนเสียชีวิต แต่ทหารผู้บังคับบัญชาเขาบอกว่า หายระหว่างเดินทางกลับบ้าน” นายอับดุเลาะกล่าว
“ก็ยังคิดว่า ลูกยังไม่ได้รับความเป็นธรรม แต่ก็ไม่รู้จะไปพึ่งที่ไหน เสียใจมากเพราะลูกตั้งใจสมัครเป็นทหารรับใช้ชาติแต่กลับมาเจอเรื่องแบบนี้” นายอับดุเลาะกล่าวเพิ่มเติม
สถิติของสหประชาชาติระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยมีบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายอย่างน้อย 82 คน โดยเป็นการสูญหายในพื้นที่ภาคใต้ 35 คน
ความล่าช้าของการผ่าน ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย
น.ส.นรีลักษณ์ แพไชยภูมิ ผู้อำนวยการกองสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เปิดเผยความคืบหน้าของการจัดทำ ร่างพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการทรมานและการบังคับบุคคลให้สูญหาย (ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย) ในเวทีเสวนาวันผู้สูญหายสากล ซึ่งจัดขึ้นที่สำนักกลางนักเรียนคริสเตียน โดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย มูลนิธิผสานวัฒนธรรม และองค์กรอื่นเป็นผู้ร่วมจัด
“กฎหมายนี้ได้ผ่านการพิจารณาชั้นรับหลักการของ ครม.แล้ว ไปสู่ชั้นกฤษฎีกา กลับมาที่ ครม. จนไปถึงชั้น วิป สนช. ซึ่งประเด็นที่ติดขัดและ สนช. ให้ทบทวนมี 5 ประเด็นคือ คำนิยาม ศาลที่มีเขตอำนาจ หลักการห้ามผลักดันกลับ สถานการณ์ฉุกเฉิน การกำหนดฐานความผิด” น.ส.นรีลักษณ์กล่าว
น.ส.นรีลักษณ์ระบุว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องการให้ ร่าง พ.ร.บ.ทรมาน-อุ้มหาย แก้ไข 1. คำนิยาม ซึ่งต้องมีความแตกต่างจากคำนิยามคำว่า ทรมานในกฎหมายอาญา 2. ฐานความผิด ซึ่งต้องให้ระบุขอบเขตให้ชัดเจนกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อสะดวกในการตีความ 3. สถานการณ์ฉุกเฉิน สนช.แนะนำให้ตัดออกเนื่องจาก ไม่มีกฎหมายใดอนุญาตให้มีการทรมานไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ฉุกเฉินหรือไม่ก็ตาม 4. หลักการห้ามผลักดันกลับ สนช.แนะนำให้ตัดออกเนื่องจากประเทศไทยถือปฎิบัติตามหลักการนี้อยู่แล้ว และ 5.ศาลที่มีเขตอำนาจ ให้ทบทวนว่าการจะพิจารณาคดีทรมานและอุ้มหายในศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบเหมาะสมหรือไม่
ซึ่งถ้าหากแก้ไขประเด็นที่ สนช.ได้แนะนำทั้งหมด คาดว่ากระบวนการจัดทำกฎหมายก็จะเดินหน้าต่อ