ตำรวจดำเนินคดี 4 นักเคลื่อนไหว และนักข่าวประชาไท หลังพบผิด พ.ร.บ.ประชามติฯ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.07.11
กรุงเทพฯ
TH-dissident-620 กลุ่มนักเคลื่อนไหวต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญถูกนำต้วออกจาก สภ.บ้านโป่งไปยังศาลจังหวัดราชบุรี วันที่ 11 ก.ค. 2559
เฟซบุค/อานนท์ นำภา

ในวันจันทร์ (11 กรกฎาคม 2559) นี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรบ้านโป่ง ได้นำตัว 4 นักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และผู้สื่อข่าวสื่อออนไลน์จากประชาไท ไปขออำนาจฝากขังจากศาลจังหวัดราชบุรี หลังถูกแจ้งข้อหาละเมิดพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 แต่ศาลได้อนุมัติการขอประกันตัวในวันเดียวกัน

เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ควบคุมตัวนายปกรณ์ อารีกุล นายอนุชา รุ่งมรกต นายอนันต์ โลเกตุ (ทั้งสามคนเป็นสมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่) และนายภานุวัฒน์ ทรงสวัสดิ์ชัย นักศึกษามหาวิทยาลัยแม่โจ้ และตั้งข้อหาว่าทั้งหมด มีส่วนเกี่ยวข้องกับเอกสารที่มีเนื้อหาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ที่อยู่ในรถยนต์ ส่วนผู้ต้องหารายที่ห้า เป็นนักข่าวของสื่อออนไลน์ประชาไท ชื่อ นายทวีศักดิ์ เกิดโภคา ที่นั่งรถยนต์ไปด้วยกัน จึงถูกรวบตัวติดร่างแหไปด้วย

นักเคลื่อนไหวทั้งสี่คน ได้ลงพื้นที่อำเภอบ้านโป่ง จังหวัดราชบุรี เพื่อให้กำลังใจชาวบ้าน 18 คน ที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจออกหมายเรียก หลังจากพยายามจัดตั้งศูนย์ปราบโกงประชามติในอำเภอบ้านโป่งในก่อนหน้านี้ พร้อมด้วยเอกสารเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

นายอานนท์ นำภา ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์ว่า ศาลจังหวัดราชบุรี ได้อนุมัติฝากขังผู้ต้องหาทั้งหมด

“ตอนนี้ ศาลราชบุรีรับฝากขังผู้ต้องหาทั้ง 5 คน สั่งขังเป็นเวลา 12 วัน ทีมทนายความทำเรื่องขอยื่นประกันตัว โดยใช้เงินประกันตัวคนละ 140,000 บาท และได้อนุมัติเรียบร้อยแล้ว” ทนายอานนท์ กล่าว

ทนายอานนท์เพิ่มเติมว่า ทีมทนายเป็นผู้จะยื่นประกันตัวให้กับ 4 นักเคลื่อนไหวประชาธิปไตยใหม่ โดยใช้เงินจากกองทุนประกันตัว ซึ่งระดมจากคนบนอินเตอร์เน็ต ขณะที่สำนักข่าวประชาไท เป็นผู้ยื่นวงเงินประกันตัวผู้สื่อข่าวของพวกเขาเอง

นางสาวภาวิณี ชุมศรี ทนายความอีกคน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังทำสำนวนคดีเพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อไป

การจับกุมครั้งนี้ เกิดขึ้นเพราะเจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า ผู้ต้องหาอาจนำเอกสารดังกล่าว มาเพื่อแจกจ่ายซึ่งเข้าข่ายเป็นความผิดตามมาตรา 61 วรรค 2 ของพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 (พ.ร.บ.ประชามติฯ) ที่ระบุถึงความผิดในการร่วมกันดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียงในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใด ที่ผิดไปจากข้อเท็จจริงหรือมีลักษณะรุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง ไม่ออกเสียงหรือออกเสียงอย่างหนึ่งอย่างใด

หากผู้ใดกระทำการฝ่าฝืน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี และปรับไม่เกินสองแสนบาท ทั้งนี้ ศาลอาจสั่งให้เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง กำหนดไม่เกินห้าปี ด้วยก็ได้

ในวันจันทร์นี้ ขณะถูกพาตัวออกจากสำนักงานตำรวจภูธรบ้านโป่ง นายปกรณ์ อารีกุล หนึ่งในผู้ต้องหาได้กล่าวกับผู้สื่อข่าวที่มารอทำข่าว และประชาชนที่มาให้กำลังใจเป็นประโยคสั้นๆ ว่า “โหวตโนเป็นสิทธิไม่ผิดกฎหมาย”

สมาคมนักข่าวฯ เรียกร้องปล่อยตัวผู้สื่อข่าวประชาไท

จากเหตุดังกล่าวส่งผลให้ ในบ่ายวันจันทร์ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ปล่อยตัวนายทวีศักดิ์ โดยไม่มีการตั้งข้อกล่าวหาโดยเร็ว

นายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และนายสุปัน รักเชื้อ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพ สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย มีความเห็นตรงกันว่า นายทวีศักดิ์ ได้แสดงตัวมาตลอดว่าเป็นผู้สื่อข่าว และได้ลงพื้นที่ไปติดตามการทำข่าว แต่ตำรวจกลับมองว่า ร่วมกระทำความผิด เพราะร่วมนั่งรถกับกลุ่มประชาธิปไตยใหม่

“ขอเรียกร้องให้มีการปล่อยตัวผู้สื่อข่าวประชาไท โดยไม่การตั้งข้อกล่าวหาโดยเร็ว เพราะการอ้างว่านักข่าวนั่งรถไปกับแหล่งข่าว ถือเป็นความผิดนั้นจะกระทำไม่ได้ เพราะตามปกตินักข่าว จะต้องลงพื้นที่ทำงานข่าวให้ทันกับเวลา ดังนั้นการเดินทางอาจมีความจำเป็นที่จะอาศัยติดรถแหล่งข่าวลงไปทำข่าวด้วยก็ถือเป็นเรื่องปกติ” ตอนหนึ่งของแถลงการณ์กล่าว

สถานการณ์การประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เป็นร่างรัฐธรรมนูญที่มีการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางถึงข้อดีข้อเสีย โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ กล่าวว่า ร่างฯ ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อการกำจัดนักการเมืองที่ประพฤติมิชอบ ในขณะที่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาลมีความคิดเห็นว่าร่างฯ ฉบับนี้ มีความบกพร่อง เช่น การที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่เป็นผู้ทำรัฐประหารสามารถเลือกวุฒิสมาชิกได้ รวมทั้ง การสำรองเก้าอี้ให้ทหารระดับสูงหกตำแหน่ง เป็นต้น

สภานิติบัญญัติได้ออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อเดือนเมษายน เพื่อป้องกันการรณรงค์ต่อต้านการทำประชามติฯ หรือการชักจูงการตัดสินใจในการลงประชามติ แต่ได้มีนักเคลื่อนไหวทางการเมืองออกมารณรงค์ต่อต้านอยู่เนืองๆ

และในวันที่ 23 มิถุนายน 2559 สมาชิกขบวนการประชาธิปไตยใหม่และสมาชิกสหภาพแรงงาน 13 คน ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมในขณะที่ไปแจกเอกสารเกี่ยวกับการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ที่ตลาดบางพลี สมุทรปราการ และถูกกล่าวหาในคดีฝ่าฝืนคำสั่งของ คสช. ที่สั่งห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกิน 5 คนขึ้นไป และในความผิดตาม พรบ.ว่าด้วยการออกเสียงร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

คณะกรรมการการเลือกตั้ง จะจัดให้มีการลงประชามติ ในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ และในวันที่ 8 กรกฎาคมนี้ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง ได้แถลงข่าวต่อสื่อมวลชนว่า หลังจากที่ กกต. เปิดโอกาสให้ประชาชนลงทะเบียนใช้สิทธิออกเสียงประชามตินอกเขตพื้นที่ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม – 7 กรกฎาคม 2559 มียอดผู้ขอใช้สิทธิจำนวนทั้งสิ้น 325,229 คน โดยที่ผู้ยื่นขอใช้สิทธิสามารถตรวจสอบ รายชื่อของตนได้ทางเว็บไซต์ คนไทย ดอทคอม (www.khonthai.com) ของกระทรวงมหาดไทย หรือ ตรวจสอบผ่านแอปพลิเคชันดาวเหนือ รวมทั้ง ตรวจสอบได้จากประกาศบัญชีรายชื่อหน้าหน่วยออกเสียงตั้งแต่วันที่ 28 ก.ค. เป็นต้นไป

ศาลทหารเพิ่มโทษจำคุก ในคดีหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ของ ทอม ดันดี

วันจันทร์นี้ (11 ก.ค. 2559) ศาลทหารได้นัดฟังคำพิพากษาคดี ของ ทอม ดันดี หรือนายธานัท ธนวัชรนนท์ นักร้องลูกทุ่งและนักกิจกรรมทางการเมือง ผู้ต้องหาคดีหมิ่นสถาบันฯ หรือ คดีอาญา มาตรา 112 เมื่อปี 2556 ในคดีความผิดที่สอง

โดยในคดีแรก ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาไปแล้ว ให้จำคุกเป็นเวลา 15 ปี แต่นายธานัทให้การรับสารภาพ จึงลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 7 ปี 6 เดือน และในคดีความผิดที่สองได้ถูกโอนมาที่ศาลทหารหลังรัฐประหาร และทนายจำเลยได้ยื่นคำร้องคัดค้าน ขอให้นับโทษคดีต่อจาก คดีหมิ่นสถาบันฯ ของศาลอาญา

คดีนี้ศาลสั่งให้พิจารณาคดีลับตามที่อัยการทหารร้องขอ ทนายความจำเลยให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคดีว่า วันนี้จำเลยถอนคำคัดค้านทั้งหมด ทั้งในเรื่องการนับโทษต่อและการพิจารณาเขต อำนาจศาล ศาลทหารจึงพิพากษาเลยในวันนี้ โดยให้ลงโทษจำคุก 5 ปี เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดีจึงลดโทษให้หนึ่งในสาม เหลือจำคุก 3 ปี 4 เดือน และให้นับโทษต่อจากคดีของศาลอาญา รวมแล้ว จำคุก 10 ปี 10 เดือน

“เหตุผลสำคัญในการตัดสินใจยุติการต่อสู้คดีในครั้งนี้ น่าจะเป็นเพราะการคุมขังจำเลย เป็นไปอย่างยาวนาน ระหว่างการดำเนินคดี โดยได้ขอประกันตัวถึงสามครั้ง แต่ไม่เป็นผล ในวันนี้นายธานัทจะขอเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ และยังรอว่าศาลจะมีคำพิพากษาเลยหรือไม่ คาดยื่นขอพระราชทานอภัยโทษเร็วๆ นี้” น.ส.เสาวลักษณ์ โพธิ์งาม ทนายจำเลย เผยต่อสำนักข่าวเอพี

นับตั้งแต่ปี 2557 หลังทหารได้ทำรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เป็นต้นมา ประเทศไทยมีคดีกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพที่ถูกนำขึ้นศาลทั้งสิ้น 53 คดี ซึ่งจากข้อมูลของ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ในนั้น 40 คดี เป็นคดีที่โพสต์ หรือ แชร์ความคิดเห็น ทางเฟสบุ๊ค หรือโซเชียลมีเดียออนไลน์อื่นๆ และในปี 2558 มีชายผู้หนึ่งถูกตัดสินจำคุก 60 ปี โดยถูกกล่าวหาว่า เป็นการโพสต์หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ ลงเฟสบุ๊คถึงหกครั้ง แต่เนื่องจากเขาได้สารภาพ ศาลจึงยกโทษให้เหลือครึ่งหนึ่ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง