ตำรวจตั้งข้อหา 7 แกนนำรวมตัวเร่งรัดเลือกตั้ง ยุยงและขัดคำสั่งคสช.
2018.01.30
กรุงเทพฯ

พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รองผบ.ตร.) กล่าวต่อสื่อมวลชนในวันอังคารนี้ว่า ได้ออกหมายเรียก 7 แกนนำกลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ตามความผิดในข้อหายุยงปลุกปั่น ม.116 ของกฎหมายอาญา และขัดคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการชุมนุมการเมือง หลังการรวมตัว และประชาชนอีกกว่า 100 คน เรียกร้องให้รัฐบาลทหารจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว บนทางเชื่อมสถานีรถไฟฟ้า กรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา
“เรื่องนี้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษดำเนินคดีกับแกนนำกลุ่มเคลื่อนไหว ที่ สน.ปทุมวัน ไปแล้ว 7 ราย หลังจากนี้ ก็ว่าไปตามขั้นตอนของกฎหมาย คือ การออกหมายเรียกให้มารับทราบข้อกล่าวหา” พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวแก่สื่อมวลชน
“การแสดงจุดยืนเคลื่อนไหวทุกวันเสาร์นั้น ขอให้ไปดูกฎหมายว่าด้วยการชุมนุม ถ้าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมายก็จะมีความผิด เรื่องนี้กำชับกองบัญชาการตำรวจนครบาล (บช.น.) ไปดูแล้ว ยืนยันว่าชุมนุมได้ แต่ขอให้ปฏิบัติตามกฎหมายบ้านเมือง ถ้าผิดก็ต้องดำเนินคดี จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีใครอยู่เบื้องหลังการเคลื่อนไหว ตรวจสอบเรื่องเงินสนับสนุน” พล.ต.อ.ศรีวราห์กล่าวเพิ่มเติม
พล.ต.อ.ศรีวราห์ กล่าวอีกว่า ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบหาผู้สนับสนุนทางการเงินให้แก่กลุ่มนักเคลื่อนไหวกลุ่มนี้แล้ว และอาจมีการออกหมายเรียกเพิ่มเติม แต่ขอไม่เปิดเผยข้อมูลในขณะนี้
บุคคล 7 ราย ที่ถูกออกหมายเรียกให้ไปรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ หรือจ่านิว นายเนติวิทย์ โชติภัทร์ไพศาล นายอานนท์ นำภา นายเอกชัย หงส์กังวาน นายสุกฤษฎ์ เพียงสุวรรณ และนางนัฎฐา มหัทธนา
ผู้ถูกกล่าวหาทั้งเจ็ดคน รวมตัวในนาม “กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย” และประชาชนอีกกว่า 100 คน ได้รวมตัวกันที่ทางเดินลอยฟ้าทางเชื่อมระหว่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสสยาม-สนามกีฬา เมื่อช่วงเย็นของวันเสาร์ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการเลือกตั้งตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเคยให้คำสัญญาไว้ว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน 2561
แต่เมื่อวันศุกร์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติกลับมีมติเห็นชอบให้แก้ไขการบังคับใช้ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส.ฯ) ให้เลื่อนออกไป 90 วัน ซึ่งจะทำให้อย่างน้อยต้องเลื่อนการเลือกตั้งไปเป็นเดือนกุมภาพันธ์ 2562
โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวผ่านสื่อมวลชนในวันนี้ ว่า "ผมขอเวลาวางรากฐานประเทศ อีกระยะหนึ่ง จะมากจะน้อย ก็เป็นไปตามกรอบกฏหมาย"
"ขออย่าเพิ่งหมดกำลังใจกับผม และ คสช. ผมขอความเข้าใจจากทุกคน" พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
แม้ว่าถูกตั้งข้อหา กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย ได้นัดรวมตัวกันอีกครั้ง ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2561 โดยระบุว่า จะรวมตัวกันอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง
นายรังสิมันต์ โรม หนึ่งในผู้ถูกออกหมายเรียกเปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อเรื่องหมายเรียกให้เข้ารับทราบข้อหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ แต่ทราบจากสื่อแล้ว
“ผมรู้จากข่าว ยังไม่มีใครติดต่อมา ผมไม่กังวล ก็ว่ากันไปตามกระบวนการ เพราะว่าเข้าใจว่าคดีนี้ขึ้นศาลปกติ ไม่ได้ขึ้นศาลทหาร ต้องแยกแยะให้ออก เรื่องแคมเปญว่ากันตามแคมเปญ เรื่องคดีก็สู้กันไป เราสามารถมีคดีเยอะแยะได้เสมอ เพราะมีอะไรเขาก็แจ้งความ เราก็สู้กันไปยังยืนยันจะเดินหน้าแคมเปญ ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ต่อไป” นายรังสิมันต์ระบุ
ขณะที่ นายสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ อีกหนึ่งผู้ถูกตั้งข้อหา เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ตำรวจในเรื่องหมายเรียกเช่นกัน และยังได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาของพล.ต.อ.ศรีวราห์ ที่ว่ามีผู้สนับสนุนทางการเงินอยู่เบื้องหลังการชุมนุม
“ท่อน้ำเลี้ยง ลองสืบดู คิดว่าข้อครหาเหล่านี้ทำมาตลอดสี่ปี ไม่เคยเห็นทางตำรวจ หรือทหาร เอาข้อมูลอะไรออกมาเลย คิดว่าเป็นคำพูดที่เลื่อนลอยมากกว่า” นายสิรวิชญ์กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากการคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่ามีผู้ถูกเรียกรายงานตัวหรือมีเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 ราย ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น อย่างน้อย 64 คน และมีกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง ซึ่งสถิตินี้เป็นการรวบรวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2560