ทูตพิเศษยูเอ็น พบนายกฯ ไทย ขอความช่วยเหลือยุติวิกฤตเมียนมา

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และ รอนนา เนอร์มาลา
2021.05.14
กรุงเทพฯ และจาการ์ตา
ทูตพิเศษยูเอ็น พบนายกฯ ไทย ขอความช่วยเหลือยุติวิกฤตเมียนมา นางคริสติน ชราเนอร์ เบอเกเนอร์ ทูตพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ (ซ้าย) หารือกับ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ วันที่ 14 พฤษภาคม 2564
ภาพ สำนักโฆษกรัฐบาล

ทูตพิเศษด้านพม่าของสหประชาชาติ เข้าพบกับนายกรัฐมนตรีของไทยเมื่อวันศุกร์ หารือทางออกวิกฤตในเมียนมา ในขณะที่อาเซียนยังคงลังเลที่จะระบุตัวคนที่จะเป็นตัวแทนไปเจรจากับเมียนมาที่กำลังตกอยู่ในภายใต้คณะรัฐประหาร ซึ่งแสดงท่าทีไม่ยอมรับการเดินทางเยี่ยมเยือนที่นานาประเทศเสนอ

นางคริสติน ชราเนอร์ เบอเกเนอร์ ทูตพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทยขณะที่เข้าหารือที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อวันศุกร์ว่า ไทยน่าจะสามารถทำงานร่วมกับคณะรัฐประหารของพม่า เพื่อนำเอาสันติภาพกลับมาสู่เมียนมาได้ นับตั้งแต่การยึดอำนาจในเดือนกุมภาพันธ์มีประชาชนเกือบ 800 คนแล้วที่ถูกสังหาร

ภายหลังการหารือ นางเบอร์เกเนอร์ได้ทวีตข้อความว่า “ในวันนี้ ดิฉันได้หารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศ เกี่ยวกับหนทางสู่สันติภาพในเมียนมา เพื่อประโยชน์ของประชาชนเมียนมาเอง” 

โฆษกรัฐบาลไทยระบุว่าทูตพิเศษของยูเอ็นกล่าวในขณะหารือกับ พล.อ.ประยุทธ์ ว่าการหารือครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจากรณีเมียนมากับทางการของประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคนี้ที่กำลังดำเนินไป เมื่อเดือนที่แล้วนางเบอร์เกเนอร์ได้พบปะหารือกับผู้นำต่าง ๆ รวมทั้ง พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ผู้นำการรัฐประหารของเมียนมา ในระหว่างการประชุมผู้นำของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ครั้งพิเศษที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

“นางเบอร์เกเนอร์ระบุว่า หวังว่าประเทศไทยจะประสานร่วมมือกับกองทัพของเมียนมา เพื่อหาหนทางไปสู่สันติภาพในเมียนมาให้ได้” นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกรัฐบาลกล่าวร่างแถลงการณ์

ในแถลงการณ์ยังระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไทยกล่าวกับทูตพิเศษของยูเอ็นว่า ไทยให้การสนับสนุนความพยายามที่จะผ่อนคลายสถานการณ์ของเมียนมา

พล.อ.ประยุทธ์ เป็นอดีตผู้บัญชาการกองทัพบก ซึ่งทำรัฐประหารเมื่อ พ.ศ. 2557 และได้รับการมองว่า มีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับกองทัพของเมียนมา และทั้งสองประเทศนั้นเป็นสมาชิกของอาเซียนด้วย

นางเบอร์เกเนอร์เดินทางมายังไทยในช่วงเดือนเมษายนเพื่อเฝ้าดูสถานการณ์ของเมียนมา และเพื่อหากับประเทศสมาชิกอาเซียนอื่น ๆ เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร

นับตั้งแต่ที่กองทัพเข้ายึดอำนาจ ก็ปราบปรามประชาชนที่เข้าร่วมการประท้วงต่อต้านรัฐประหารอย่างรุนแรง สมาคมช่วยเหลือนักโทษการเมือง (Assistance Association for Political Prisoners - AAPP) ให้ข้อมูลว่ามีผู้ประท้วงเสียชีวิตอย่างน้อย 788 คน

ตัวแทนการทูตของอาเซียน “ยังไร้วี่แวว”

ในขณะเดียวกัน ก็ยังไร้วี่แววว่าอาเซียนจะแต่งตั้งทูตเป็นตัวแทนเข้าไปหารือกับในกรณีนี้ แม้ว่าก่อนหน้านี้ 3 สัปดาห์ ประเทศสมาชิกของอาเซียนได้ตกลงที่จะแต่งตั้งตัวแทนเข้าไปในเพื่อพูดคุยกับกลุ่มต่าง ๆ ที่มีส่วนในสถานการณ์รุนแรง  การประชุมที่กรุงจาการ์ตาของอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมา บรรดาผู้นำของอาเซียนรวมทั้งนักการทูตระดับสูงทั้งหลายต่างก็เห็นพ้องกันว่าเรื่องแต่งตั้งตัวแทนของอาเซียนและส่งไปเพื่อพูดคุยกับเพื่อยุติความวุ่นวายที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ที่ประชุมก็ยังมีมติว่า จะต้องหยุดความรุนแรงในเมียนมาอย่างทันที เปิดการเจรจากับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่สันติภาพ รวมทั้งอาเซียนควรให้ความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรมแก่เมียนมาด้วย

อย่างไรก็ตาม การหารือดังกล่าวก็ไม่เกิดผลในทางปฏิบัติอันใด กองทัพเมียนมายังคงเดินหน้าสังหารผู้ที่ออกมาประท้วงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อวันที่ 26 เมษายน ผู้นำคณะรัฐบาลทหารเมียนมาออกมาบอกว่า เขาจะยอมรับความตกลงอาเซียน หลังจากที่เกิด “เสถียรภาพ” ขึ้นในประเทศของเขาแล้วเท่านั้น

วันต่อมา รัฐบาลพลเรือนพลัดถิ่นเมียนมา ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อต่อต้านคณะรัฐประหารปฏิเสธการเข้าร่วมหารือ หากว่านักโทษการเมืองมากกว่า 3,000 คน ยังไม่ได้รับอิสรภาพ  ซึ่งอาเซียนก็ไม่ได้เชิญผู้แทนจากรัฐบาลพลัดถิ่นเข้าร่วมการหารือที่อินโดนีเซียนี้ แต่ประการใด

ต่อมาในวันที่ 7 พฤษภาคม คณะรัฐประหารของเมียนมา ออกมาย้ำอีกว่า จะยังไม่ให้ทูตพิเศษของอาเซียนเข้าประเทศ จนกว่าจะสามารถทำให้ประเทศมีเสถียรภาพเสียก่อน

ในต้นสัปดาห์นี้ สิงคโปร์ก็ออกมาเรียกร้องให้อาเซียนต้องดำเนินการให้ ความตกลงอาเซียนเรื่องเมียนมามีผลในทางปฏิบัติให้ได้ นายวิเวียน บาลากริชนัน รัฐมนตรีต่างประเทศของสิงคโปร์ พูดในที่ประชุมรัฐสภาของสิงคโปร์ว่า “แม้ว่าจะไม่ใช่กระบวนการที่ง่ายดายเลย แต่จะต้องมีความร่วมมือจากทัตมาดอว์ (กองทัพของเมียนมา)”

ในขณะที่ นายมาร์ซูกิ ดารุสแมน อดีตประธานคณะทำงานรวมรวบข้อมูลของสถานการณ์ในเมียนมาของยูเอ็น ออกมาวิพากษ์ว่า ท่าทีอันแข็งกร้าวของรัฐบาลทหารต่อความตกลงอาเซียนนั้น แสดงให้เห็นว่า กระบวนการของอาเซียนที่ใช้หลักยินยอมพร้อมใจของชาติสมาชิกจะไม่ก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติใด ๆ ทั้งสิ้น

มาร์ซูกิเขียนบทความลงในบางกอกโพสต์เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า “ขณะที่อาเซียนให้การต้อนรับ มิน ออง ลาย แบบปูพรมแดงให้เดินในการประชุมที่จาการ์ตา แต่ประชาชนที่ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตยยังคงล้มตายอยู่ทุกวัน” และ “ทูตของอาเซียนที่จะไปเมียนมาก็ยังไร้วี่แวว รวมทั้งการเจรจาที่จะนำเอาฝ่ายต่อต้านรัฐประหารมาร่วมโต๊ะด้วย ก็ยังไม่เกิดขึ้น”

เขาสรุปด้วยว่า “หากว่าเมียนมาเป็นบททดสอบถึง ความสามารถของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤต ก็ดูว่าจะไม่ผ่านบททดสอบนี้เสียแล้ว”

หนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ก็ได้วิพากษ์วิจารณ์กรณีนี้ในบทบรรณาธิการด้วยเช่นเดียวกัน โดยบอกว่า โลกกำลังจับตามองอาเซียนว่าจะดำเนินการอย่างไรกับความท้าทายนี้ และจนบัดนี้ก็ยังไม่มีการเคลื่อนไหวเป็นรูปธรรมใด ๆ จากอาเซียน ประเทศสมาชิกยังคงเงียบงันเหมือนปล่อยผ่านไป และอาจทำให้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เกิดความรู้สึกว่าอาเซียนยอมรับกับพฤติกรรมของเขา”

ทางด้านนักวิชาการด้านอาเซียนอย่าง อง เคง ยง จากมหาวิทยาลัยเทคนิคหนานหยางแห่งสิงคโปร์ ก็ออกมาเรียกร้องในการหารือออนไลน์ ที่จัดโดยสถาบัน ISEAS ของสิงคโปร์ว่า อาเซียนต้องลงมือทำอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อให้ผู้นำกองทัพเมียนมาออกมาตอบสนองต่อข้อเรียกร้องสันติภาพ

แม้ว่า นายเอรีวัน ยูซอฟ ซึ่งเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไน ที่เข้าร่วมการประชุมเดียวกันกับ นาย อง เห็นด้วยว่าการส่งตัวแทนของอาเซียนเข้าไปในเมียนมาจะต้องเกิดขึ้นในไม่ช้า

แต่เขาก็ไม่ได้ระบุว่าการหาตัวทูตพิเศษนั้นจะใช้เวลานานเท่าไร หรือไม่ได้พูดเลยว่า บรูไนในฐานะที่เป็นประธานอาเซียนในปีนี้  รวมทั้งผู้บริหารสูงสุดอย่างเลขาธิการของอาเซียนจะเดินทางไปเมียนมาเมื่อไร แม้ว่าจะเว็บไซต์ข่าวในภูมิภาคหลายแห่งจะรายงานเรื่องนี้ไว้ก็ตาม

ประยุทธ์และผู้นำทหาร

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย ของญี่ปุ่นรายงานเมื่อวันพุธที่ผ่านมา อ้างแหล่งข่าวระดับสูงที่ไม่เปิดเผยชื่อ ที่บอกว่าไทยนั้นยังคงมีความสัมพันธ์อย่างแนบแน่นกับเมียนมา โดยช่องทางที่ไม่เปิดเผยออกมา ซึ่งผู้นำของทั้งสองประเทศนั้นมีการสื่อสารหากันอยู่เสมอ

แหล่งข่าวที่นิกเคอิเอเชียอ้างอิงยังได้วิพากษ์การที่ พล.อ.ประยุทธ์ไม่เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน เมื่อวันที่ 24 เมษายนที่ผ่านมาด้วย บรรดานักวิเคราะห์ทั้งหลายเห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีไทยไม่ไปประชุม ก็เพราะเขามีความสัมพันธ์อันใกล้ชิดกับรัฐบาลทหารของเมียนมานั่นเอง

แหล่งข่าวบอกนิกเคอิว่า “นายกรัฐมนตรีไม่จำเป็นต้องไปประชุมสุดยอดอาเซียนซึ่งพยายามจะดึง มิน ออง ลายให้ร่วมมือ” 

พล.อ.ประยุทธ์เลือกเดินทางไปเมียนมาเป็นประเทศแรก หลังจากที่เขายึดอำนาจเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 และสี่ปีต่อมา ไทยก็มอบเครื่องราชอิสริยาภรณ์แก่ พล.อ.อาวุโสมิน ออง ลาย นักวิเคราะห์ไม่น้อยเชื่อว่า หากว่าจะมีใครสักคนที่สามารถพูดชักจูงรัฐบาลทหารเมียนมาให้หยุดความรุนแรงได้ ก็คงจะเป็น พล.อ.ประยุทธ์

ศาสตราจารย์จอห์น แบล็กซ์แลนด์ แห่งสถาบันศึกษาความมั่นคงและข่าวกรองระหว่างประเทศแห่งออสเตรเลีย กล่าวในทวิตเตอร์ของเขาว่า

“พล.อ.ประยุทธ์ควรจะใช้สายสัมพันธ์ของเขา ทำให้เมียนมาตระหนักว่า การดื้อแพ่งของทัตมาดอว์ จะทำให้ไทยและประเทศอื่น ๆ ในอาเซียนได้รับผลกระทบอย่างมาก เขาควรจะกดดันให้มิน ออง ลาย มีท่าทีที่อ่อนลง”

และสรุปด้วยว่า “พล.อ.ประยุทธ์สามารถทำได้ เพียงแค่เขาต้องการจะทำหรือไม่เท่านั้นเอง”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง