วิษณุ เครืองาม ประเมินจะมีเลือกตั้งใน 1 ปีข้างหน้า

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2017.02.08
กรุงเทพฯ
TH-prayuth-620 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถือใบลงคะแนนเสียง ที่ศูนย์ลงคะแนนเสียงประชามติ ในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2559
เอเอฟพี

ในวันพุธ(8 กุมภาพันธ์ 2560)นี้ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้ระบุกับสื่อมวลชนว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในระยะเวลา 1 ปีข้างหน้า หากประเมินจากสถานการณ์และกระบวนในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามได้เน้นย้ำว่า คำพูดของตนเองไม่ใช่การชี้ขาดตายตัว หลังจากที่สื่อมวลชนได้นำเอาคำพูดของนายวิษณุในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปฏิรูปกฎหมาย บริบทประเทศไทยบนเวทีโลก” ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์แอทเซ็นทรัล ลาดพร้าวเมื่อวันอังคาร ไปขยายความว่า การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่นอนในอีก 1 ปีข้างหน้า

“ไม่ได้เลื่อน ผมบอกเขาว่าอีกประมาณ 1 ปีถึงจะมีการเลือกตั้ง คืออย่าไปเอาเป็นเอาตาย 365 วันเป๊ะอะไรอย่างนั้น ประมาณ 1 ปีจากที่ผมพูดเมื่อเวลา 20.30 น.เมื่อคืน ผมพูดให้ผู้ฟังผมฟังในความหมายกำลังจะบอกให้รู้ว่า ขั้นตอนก็คือ เดี๋ยวก็จะต้องเอารัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เมื่อถวายแล้วลงพระปรมาภิไธย ซึ่งตอนนั้นก็จะมีเวลา 90 วัน แล้วต่อจากนั้นก็ไปอีก กว่าจะมีการเลือกตั้ง” นายวิษณุกล่าว

“ที่ใช้คำว่า 1 ปี ไม่ได้ต้องการให้รู้สึกว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญฯประกาศใช้กว่าจะทำอะไรได้อีกตั้งนาน ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะมีเรื่องที่ต้องทำทันทีอีกหลายเรื่อง เช่นในร่างรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 77 ที่บัญญัติไว้ว่าการตรากฎหมายทุกฉบับให้รัฐเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงวิเคราะห์ผลกระทบอย่างรอบด้าน ที่จะทำให้ขั้นตอนการออกกฎหมายต่อไปมีขั้นตอนที่มากขึ้น” นายวิษณุระบุ

ในปาฐกถาพิเศษเรื่อง “ปฏิรูปกฎหมาย บริบทประเทศไทยบนเวทีโลก” เมื่อวันอังคารตอนหนึ่งนายวิษณุระบุว่า

“ร่างรัฐธรรมนูญเวลานี้มีการขอทูลเกล้าฯ ขอกลับมาพิจารณาใหม่เพื่อปรับแก้ไม่กี่มาตรา ซึ่งคาดจะทูลเกล้าฯถวายก่อน 18 กุมภาพันธ์แน่นอน เพราะเกือบเสร็จแล้ว ซึ่งหลังรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะมีการเปลี่ยนแปลงหลายเรื่อง คือจะต้องทำเรื่องนั้นเรื่องนี้ให้เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด ส่วนการเลือกตั้งนั้นคงจะไม่เกิดขึ้นเร็วๆนี้ อย่างน้อยก็ใช้เวลาอีกหนึ่งปี”

ซึ่งคำพูดดังกล่าวกลายเป็นประเด็นที่สื่อมวลชนหลายสำนักนำมาตีความต่อเนื่อง จนนายวิษณุต้องออกมาชี้แจงเพิ่มเติม ที่ทำเนียบรัฐบาลในวันพุธนี้

หลังจากการรัฐประหารยึดอำนาจจากรัฐบาลพลเรือน เมื่อเดือนพฤษภาคม 2557 โดยรัฐบาลทหาร พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ได้กล่าวให้คำมั่นว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งภายใน 15 เดือน ซึ่งจะอยู่ในเดือนสิงหาคม 2558 และต่อมาได้ระบุเรื่องแผนการเลือกตั้งครั้งแรกระหว่างที่ พล.อ.ประยุทธ์ เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 2558 โดยกล่าวต่อตัวแทนรัฐบาลญี่ปุ่นว่า ประเทศไทยจะมีเลือกตั้งในต้นปี 2559

ต่อมาในเดือนพฤษภาคม 2558 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้กล่าวว่า ไทยจะไม่มีการเลือกตั้ง จนกระทั่งเดือนกันยายน 2559

หากในที่ประชุมสหประชาชาติ เดือนกันยายน 2558 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวถึงการเลือกตั้งอีกครั้ง โดยระบุว่า ประเทศไทยจะจัดการเลือกตั้งในช่วงกลางปี 2560 และในเดือนสิงหาคม 2559 นายกรัฐมนตรีได้ย้ำอีกครั้งว่า การเลือกตั้งจะจัดขึ้นในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2560

แต่ล่าสุด ในเดือนมกราคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์กล่าวต่อสื่อมวลชนว่า รัฐบาลไม่ได้เลื่อนโรดแมป แต่จะจัดการเลือกตั้งขึ้น หลังจากเสร็จสิ้นพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และพิธีราชาภิเษกพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ซึ่งยังไม่ได้มีการระบุชัดเจน แต่มีการประมาณว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในช่วงต้นปี-กลางปี 2561

“ทุกคนต้องเข้าใจขั้นตอนของโรดแมปคืออะไร คือ 1.ต้องมีรัฐธรรมนูญ จำไว้นะมีรัฐธรรมนูญ 2.ทำกฎหมายลูกจะกี่ฉบับผมไม่รู้ มันมีกรอบเวลาของมันอยู่แล้ว ถ้าทำเกินก็แสดงว่าทำไม่ทัน ถ้าเร็วกว่านั้นแสดงว่าทำทัน ก็มันเป็นขั้นตอนตามโรดแมป เรียกว่าปฎิทินทางการเมือง ผมไม่ได้ไปลดขั้นตอน ไอ้นี่ไม่ต้องทำ เลือกตั้งกันเร็วๆ แล้วมันหมดไหมล่ะ กฎหมายไม่ออกอีกเท่าไหร่” นายกรัฐมนตรีกล่าวถึงขั้นตอนโรดแมปเมื่อ 4 มกราคม 2560

“ปลายปีนี้(ปี 2560) หลังจากพิธีพระบรมศพ ผมก็จะให้เริ่มการเมืองได้ ค่อยไปเริ่มเตรียมการพูดคุยตั้งพรรค เลือกตั้ง อะไรก็ว่าไป แต่ก็ต้องหลังพิธีพระบรมศพนั่นแหละ ก็เป็นเรื่องของการเมืองเหมือนเดิม แต่ถ้าตีกันอีก ก็มีปัญหาอีก ผมก็ไม่รู้จะแก้อย่างไรแล้วเนี่ย ฉะนั้นก็เดินต่อ 150 วัน 90 วัน ก็ไปเลื่อนเอาดิ จะได้เมื่อไหร่ยังไม่รู้” นายกรัฐมนตรีระบุถึงการเลือกตั้งในวันที่ 10 มกราคม 2560

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง