กลุ่มประมงพื้นบ้าน เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิก มาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.02.04
TH-fisheries-620 กลุ่มชาวประมงพื้นบ้านที่เดินทางมายื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กรุงเทพ 4 กุมภาพันธ์ 2559
เอื้อเฟื้อภาพโดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล

ในวันพฤหัสบดี (4 กุมภาพันธ์ 2559) นี้ ชาวประมงพื้นบ้านกว่า 30 คน เดินทางไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยื่นหนังสือต่อ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกการจำกัดพื้นที่ทำประมงห่างจากชายฝั่งไม่เกินสามไมล์ทะเล

มาตรา 34 ของพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีความว่า ห้ามมิให้ผู้ได้รับใบอนุญาติทำการประมงพื้นบ้าน ทำการประมงในเขตทะเลนอกชายฝั่ง” พื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งออกไปเกิน 3 ไมล์ทะเล)

นายสะมะแอ เจะมูดอ นายกสมาคมสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ถึงสาเหตุที่ชาวประมงพื้นบ้านต้องมารวมตัวกันว่า การยื่นหนังสือร้องเรียนให้ยกเลิกมาตรา 34 โดนผ่านทางผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นไม่ได้ถูกส่งต่อถึงกระทรวง

“วันที่ 18 มกราที่ผ่านมา เราได้มีการยื่นหนังสือให้กับผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ให้กับรัฐมนตรีโดยผ่านผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เรามารู้ว่า รัฐมนตรีไม่ได้รับรู้เลย ก็เลยมีการหารือกันในวันนี้” นายสะมะแอกล่าวทางโทรศัพท์

นอกจากนี้ นายสะมะแอ ได้ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของมาตราดังกล่าวว่า “มาตรา 34 เนี่ยยังไงๆ เราก็รับไม่ได้ เพราะพี่น้องประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำเฉพาะอย่าง ทรัพยากรสัตว์น้ำแต่ละชนิดมีถิ่นที่อยู่หลากหลาย สมมติว่า ปลาหมึกทราย อาจจะอยู่สัก 1 ถึง 2 ไมล์ทะเล ถ้าเป็นหมึกกล้วย-หมึกหอมจะอยู่สัก 15-20 ไมล์”

“ปลาดีๆ มันอยู่ข้างนอก ข้างในเนี่ย ก็ต้องเป็นพื้นที่พิเศษในการอนุรักษ์ ในการฟื้นฟูเป็นแหล่งเลี้ยงตัวอ่อน” นายสะมะแอกล่าว

กลุ่มชาวประมงพื้นบ้าน กับโปสเตอร์รณรงค์ของกลุ่ม กรุงเทพ 4 กุมภาพันธ์ 2559 (เอื้อเฟื้อภาพโดย อัญชลี พิพัฒนวัฒนากุล)

ด้าน ดร. สุภาภรณ์ อนุชิราชีวะ ผู้จัดการโครงการประมงพื้นบ้าน-สัตว์น้ำอินทรีย์ มูลนิธิสายใยแผ่นดิน หนึ่งในผู้สังเกตการณ์การรวมตัวของชาวประมงครั้งนี้ แสดงความคิดเห็นว่า มีประชาชน 5 หมื่นครัวเรือน หรือ 80 เปอร์เซนต์ของผู้ทำอาชีพประมง เป็นชาวประมงพื้นบ้าน ที่ถูกขีดเส้นให้หาปลาในระยะ 3 ไมล์ทะเลจากชายฝั่ง ซึ่งที่จริงควรจะเป็นพื้นที่อนุรักษ์ การกันคนให้ทำประมงใกล้พื้นที่ชายฝั่งแบบนี้ เท่ากับว่ารัฐบาลไม่ได้อนุรักษ์ชายฝั่งเลย

“มาตรา 34 ต้องหายไป คือเรือพื้นบ้านเขาไม่ได้ทำร้ายทะเลอยู่แล้ว เขาจะไปแค่ไหน ตามกำลังเขา ไม่จำเป็นต้องไปจำกัด เขาถูกจำกัดเรื่องศักยภาพเรืออยู่แล้ว เพราะการจำกัดสิทธิ มันเป็นการละเมิด มันเป็นเรื่องยากมากเลยที่เขาจะหากิน ถ้าจำกัดเขาอยู่แค่ชายฝั่ง” ดร.สุภาภรณ์ กล่าวเรียกร้องต่อรัฐบาล

การรวมตัวของชาวประมงครั้งนี้ เริ่มตั้งแต่เวลาประมาณ 09.00 น. จนเมื่อเวลา 14.00 น. รัฐมนตรีกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้อนุญาตให้ชาวประมงและผู้สังเกตการณ์เข้าร่วมประชุม แต่ห้ามสื่อมวลชนถ่ายภาพ โดยการประชุมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง

ดร.สุภาภรณ์ ได้กล่าวว่า ในตอนท้ายของการประชุม พล.อ.ฉัตรชัย ได้รับปากกับกลุ่มชาวประมงว่าจะรับเอาเรื่องนี้ไปพิจารณาในการประชุมคณะรัฐมนตรี และหากมีข้อกังวล หรือข้อเสนอแนะอื่นๆ เกี่ยวกับการประมงให้รวบรวม และนำมาเสนอได้ภายหลัง

นับตั้งแต่กลุ่มประเทศสหภาพยุโรปได้ออกให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทย เนื่องจากปล่อยให้การทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน หรือ ไอยูยู (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 ทางรัฐบาลไทยได้แก้กฎหมายการประมง และได้รื้อระบบการควบคุมการจดทะเบียนเรือประมงที่กรมเจ้าท่ารับผิดชอบ และการขอใบอนุญาตทำการประมงที่กระประมงเป็นผู้รับผิดชอบ โดยได้ยกเลิกทะเบียนเรือกว่าแปดพันลำ และบังคับให้มีการใช้เครื่องมือประมงที่ถูกต้องตามใบอนุญาต

ผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงกล่าวว่า ชาวประมงพื้นบ้านขนาดเล็กจำนวนหนึ่ง ได้รับผลกระทบจากการใช้เครื่องมือทำประมงแบบล้างผลาญ เช่น ลอบพับหรือไอ้โง่ แต่ในขณะเดียวกันทรัพยากรปลาชายฝั่งกลับมีมากขึ้น เนื่องจากว่าเรือประมงขนาดใหญ่โดยเฉพาะที่ใช้เครื่องมือทำประมงล้างผลาญไม่สามารถออกทำประมงได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง