ชาวประมงโอดครวญ คำสั่งหัวหน้าคสช. สั่งห้ามเรือประมงใช้เครื่องมือผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาด

โดย นาซือเราะ และ นาตาลี ศรีสุจริต
2015.08.07
TH-fisheries-extension-620 ชาวประมงที่แพปลาปัตตานีดำเนินธุรกิจที่เป็นไปอย่างซบเซาลง หลังรัฐบาลออกมาตรการเข้มงวดในการแก้ไขปัญหาใบเหลืองของอียู 7 ส.ค. 2558
เบนาร์นิวส์

ชาวประมงแสดงความไม่สบายใจต่อการที่ทางหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ออกคำสั่งห้ามใช้เครื่องมือทำการประมงผิดกฎหมายหลายประเภท และให้อำนาจเจ้าพนักงานสามารถยึดและทำลายเรือประมงและอุปกรณ์การทำประมงได้

ในวันศุกร์ที่ 7 ส.ค. 2558 นายธวัช เหล่าตง เจ้าของเรือประมงอวนรุน ได้เดินทางไปที่ท่าเทียบเรือปัตตานี เพื่อมาดูสถานที่จอดเรือประมงของตนที่กำลังจะกลับเข้ามาจอดเทียบท่าอย่างไม่มีกำหนด หลังจากที่ได้มีการประกาศคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 10/2558 เรื่องการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมเพิ่มเติม ในพระราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ในวันพฤหัสบดีที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา

นายธวัช ที่ดำเนินธุรกิจเรืออวนลากคู่จำนวนสองลำ และจดทะเบียนอย่างถูกต้อง มาตั้งแต่ พ.ศ. 2532 และเพื่อนกลุ่มอาชีพเดียวกันอีก 8 ครอบครัว ที่ทำอาชีพประมงอวนรุนอวนลาก ในจังหวัดปัตตานี ต่างประสบปัญหาความเดือดร้อนจากคำสั่งดังกล่าวเช่นเดียวกัน

นายธวัช อายุ 58 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ด้วยเสียงสะอื้นว่า “เราไม่มีทางออก นอกจากต้องทำตามที่เขาบอก วันก่อนบอกให้เราเตรียมความพร้อม ในเรื่องของขอทะเบียนต่างๆ และเครื่องมือในการทำการประมง เรือที่เคยมีอาชญาบัตรเก่าก็ต้องทำด้วย เพื่อให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด ก็ได้ทำไปแล้ว แต่มาวันนี้ กลับบอกว่าห้ามไม่ให้เรือเหล่านี้ออกทะเล  ถามว่า แล้วที่บอกให้เราเตรียมความพร้อมเพื่อขอเอกสารให้ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด มันหมายความว่าอะไร”

นายธวัชกล่าวว่า ตนเองไม่มีเงินในการปรับปรุงเรือให้ถูกต้อง ก็ต้องไปจำนองดินและขายทรัพย์สมบัติที่มีเพื่อให้ได้เงินมาดำเนินการ เราใช้เงินสดทั้งหมดเลย ในการเปลี่ยนเครื่องยนต์เรืออวนรุนคู่ รวมเงินทั้งหมด 2 ล้านกว่าบาท เรายอมทำทุกทางเพื่อให้สามารถทำงานได้

“ใครจะช่วยรับผิดชอบบ้านที่จำนองอยู่ ที่ดินที่ขายไป เพื่อเอาเงินทุนที่ไปเปลี่ยนเครื่องเรือที่ไปปรับเครื่องมือ 2 ล้านกว่าบาท เราจะทำยังไง เมื่อมาปิดกั้นขนาดนี้ เราขยับไม่ได้เลย” นายธวัชกล่าวอย่างมีอารมณ์

ทางจังหวัดพร้อมหามาตรการเยียวยา

ทางด้าน นายวัชรินทร์ รักษ์ยอดจิตร ประมงจังหวัดปัตตานี  กล่าวว่า ทางจังหวัดได้มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด สำหรับคำสั่ง คสช. ที่ห้ามใช้เครื่องมือผิดประเภท 4 ชนิด คือ อวนรุน อวนลากเดี่ยว  อวนลากคู่ อวนครอบปลากะตัก ซึ่งที่จังหวัดปัตตานี ตอนนี้มีเรือเหล่านี้ทั้งหมด 276 ลำ อวนรุน 8 ลำ อวนลากคู่ 4 ลำ อวนลากเดี่ยว 162 ลำ และอวนครอบปลากะตัก 102 ลำ เมื่อปี 2532 เคยให้เจ้าของเรือเหล่านี้ ขอขึ้นทะเบียนทำให้ปัจจุบัน มีเรือที่ไม่เคยมีทะเบียน และเป็นเรือที่เกิดขึ้นมาใหม่ เพียง 8 ลำ

“หลังจากนี้ ก็คงต้องมีการทำความเข้าใจและหาแนวทางเยียวยา ซึ่งตอนนี้ อยู่ระหว่างการดำเนินการของคณะกรรมการที่จะหารือว่า จะดูแลเยียวยาด้วยวิธีไหน เพื่อให้เขาได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด อาจจะให้กลับไปเปลี่ยนเครื่องมือ หรืออาจรับซื้อเรือ ก็ต้องรอระเบียบตรงนี้ เราไม่เคยคิดจะไปทำลายเครื่องมือของพวกเขากลับพยายามคิดหาทางเพื่อหาทางออก เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ได้” นายวัชรินทร์ กล่าว

ส่วนนายธวัช เจ้าของเรือประมงกล่าวเพิ่มเติมว่า “อยากขอให้เราสามารถออกไปหาปลาสัก 2-3 ปี เพื่อให้คืนทุน แล้วกำหนดเวลาให้ชัดเจน เราก็จะหยุดโดยไม่ต้องเอาเงินรัฐมาให้พวกเราเลยแม้แต่บาทเดียว เราขอทำงานเพื่อให้ได้เงินเราคืนมาใช้หนี้ แค่นี้เอง”

เช่นเดียวกับเจ้าของเรืออวนลากรายหนึ่ง กล่าวเรียกร้องว่า “ขอให้เรือที่เคยมีอาชญาบัตร สามารถออกหากินได้ในบางช่วง เพื่อให้เขาได้หายใจก็พอ ให้เวลากับเขา ให้โอกาสเขาได้หายใจ ถ้าเป็นเช่นนี้เขาจะปรับตัวได้ทัน แต่ถ้าเป็นไปตามคำสั่งก็เหมือนฆ่าทางอ้อม”

จากข้อมูลสัตว์น้ำที่ขึ้นที่ท่าเทียบเรือปัตตานี ในเดือนมิถุนายน 2558 มีสัตว์น้ำทุกชนิดทั้งหมด 5,647.87 ตัน คิดเป็นมูลค่า 541.92 ล้านบาท

มาตรการล่าสุดจากการประชุม ศปมผ.

ในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา ศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้จัดการประชุมติดตามผลการดำเนินงานของ ศปมผ. ครั้งที่ 14 โดยมีพลเรือเอกไกรสร จันทร์สุวานิชย์ ผู้บัญชาการทหารเรือ ในฐานะผู้บัญชาการศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย (ผบ.ศปมผ.) เป็นประธานในการประชุม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่รัฐ ผู้แทนจากสมาคมประมงต่างๆ

ที่ประชุมได้มีมติที่สำคัญ เช่น ให้กรมเจ้าท่าลบข้อมูลจำนวนเรือประมง จำนวน 13,346 ลำ ที่ไม่ได้มาแสดงตนที่ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า - ออก (PIPO) ตามที่ได้มีการประกาศแจ้งเตือนไปแล้ว ออกจากฐานข้อมูลทะเบียนเรือ

และจากผลการคำนวณค่าจับสัตว์น้ำสูงสุดอย่างยั่งยืน (MSY) ตามมติที่ประชุม โดยกำหนดแนวทางลดแรงประมง ดังนี้ เช่น ยกเลิกเครื่องมืออวนลากและอวนรุน ที่ไม่มีอาชญาบัตรหรือมีอาชญาบัตรไม่ถูกต้องทั้งหมด รวมถึง ยกเลิกเครื่องมือการประมงอื่นที่มีอาชญาบัตร หรือใบอนุญาตใช้เครื่องมือทำประมงไม่ถูกต้องทั้งหมด

เรืออวนรุนที่มีอาชญาบัตรถูกต้องอยู่เดิม (จำนวนตามสำรวจ 320 ลำ) ซึ่งขณะนี้มีคำสั่งห้ามใช้แล้ว สามารถเปลี่ยนมาเป็นอวนรุนเคย หรืออวนลากเดี่ยวแผ่นตะเฆ่ได้  ให้ลดจำนวนวันทำการประมงของเรืออวนลาก 5 วันต่อเดือน  ให้ลดจำนวนวันทำการประมงของเรืออวนล้อม ด้านอ่าวไทย 8 วันต่อเดือน และด้านอันดามัน 5 วันต่อเดือน

นอกจากนั้น ให้กรมประมงร่วมกับศูนย์ประสานการปฏิบัติในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) เขต 1 - 3 ในการประชาสัมพันธ์ให้ชาวประมงในพื้นที่เป็นเจ้าของ หรือทำประมงโดยใช้โพงพาง และเครื่องมืออื่นที่มีลักษณะ และวิธีการคล้ายคลึงกัน ให้ทำการรื้อถอนโพงพางและเครื่องมือดังกล่าว โดยให้ดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายใน 13 สิงหาคม 2558 หลังจากนั้น ให้กรมประมงบูรณาการร่วมกับกรมเจ้าท่า ตำรวจน้ำ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ดำเนินการรื้อถอนโพงพาง และดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง