ครม. แจ้ง สนช. อัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นครองราชย์
2016.11.29
กรุงเทพฯ

ในวันอังคาร (29 พ.ย. 2559) นี้ ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แจ้งต่อสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในการประชุมครั้งพิเศษว่า นายกรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือด่วนที่สุดให้ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ อัญเชิญองค์สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาท ที่ได้มีการแต่งตั้งเอาไว้แล้ว ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ และแจ้งให้สมาชิกทุกคนได้ทราบ
ทั้งนี้ หลังจากการแจ้งต่อที่ประชุม ประธาน สนช. ได้เชิญสมาชิกกล่าว “ทรงพระเจริญ” ต่อพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลใหม่ และหลังจากการประชุมฯ นายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนว่า กระบวนการดังกล่าว เป็นเพียงขั้นตอนแรก ยังมีกระบวนการอื่นที่รอการดำเนินการต่อไป
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ในฐานะประธานการประชุมครั้งที่ 76/2559 เป็นพิเศษ ได้กล่าวต่อที่ประชุมว่า ได้รับหนังสือด่วนจากนายกรัฐมนตรีเพื่อให้แจ้งต่อที่ประชุมรับทราบถึงการอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์หลังจากพระราชบัลลังก์ได้ว่างลง
“ท่านสมาชิกครับ ตามที่ได้มีประกาศสำนักพระราชวังเรื่องพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร สวรรคต บัดนี้ นายกรัฐมนตรีได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร. 0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 เรื่อง แจ้งเรื่องการสถาปนาแต่งตั้งพระรัชทายาทไว้แล้ว ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467” นายพรเพชรกล่าว
“แจ้งว่าบัดนี้ ราชบัลลังก์ว่างลง และพระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารเป็นพระรัชทายาทไว้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 แล้ว คณะรัฐมนตรีจึงขอแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบ และประธานรัฐสภาเรียกประชุมรัฐสภาเพื่อทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป” ประธาน สนช.ระบุ
สำหรับการอัญเชิญองค์พระรัชทายาทขึ้นครองราชย์ครั้งนี้ หนังสือด่วนที่สุดที่ นร. 0503/44549 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2559 ได้ระบุว่า เป็นการพิจารณาตามประวัติศาสตร์ ข้อกฎหมาย ประกาศพระบรมราชโองการสถาปนาโบราณราชนิติประเพณีแล้ว และรัฐธรรมนูญทุกฉบับรวมถึงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ได้ผ่านความเห็นชอบประชามติด้วย
ด้านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังจากเสร็จสิ้นการประชุมสภาครั้งพิเศษว่า กระบวนการต่างๆ เป็นไปตามกฎหมาย และยังมีอีกหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลังจากวันนี้
“ขั้นตอนได้กำหนดไว้ตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญไว้แล้ว แล้วก็ได้กำหนดไว้แล้วเป็นเวลา 25 ปี ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มีการดำเนินการดังกล่าวเนื่องจากว่าพระราชบัลลังก์ว่างลง เพื่อเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ วันนี้ คณะรัฐมนตรีก็ได้มีประชุมเพื่อรับทราบในเรื่องของกระบวนการดังกล่าวนั้น เราเลยได้ทำหนังสือแจ้งไปยังประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติทราบแล้วก็จะได้ทำการเชิญพระรัชทายาท ทรงขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 ต่อไป” นายกรัฐมนตรีกล่าว
“ตอนนี้เป็นขั้นตอนเริ่มต้น จากนี้ไปโน่น แล้วเดี๋ยวเขาก็ไปเฝ้าฯ กราบทูลเชิญ เป็นขั้นตอนต่อไป ก็เร็วๆนี้” นายกรัฐมนตรีเพิ่มเติม
พระราชประวัติ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ” รัชกาลที่ 10
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระ ปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17.45 น. มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงถวายพระนามตามดวงพระชะตาว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล และทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2513 และเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2514
ปี 2515 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
ในปีเดียวกันทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา โดยสำเร็จภาควิชาการทหารในยศร้อยโท และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรี สาขาวิชาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2519 และทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ธ รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย
ปี 2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ปี 2527-2530 ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
ปี 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งราชอาณาจักร
ปี 2559 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559