สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงตอบรับเสด็จขึ้นครองราชย์
2016.12.01
กรุงเทพฯ

ในวันพฤหัสบดี(1 ธันวาคม 2559)นี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร องค์รัชทายาททรงตอบรับเสด็จขึ้นครองราชย์ตามคำทูลเชิญของประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10 แล้ว
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จออก ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต พระราชทานวโรกาสให้ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท
สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร มีพระราชดำรัสตอบรับการขึ้นทรงราชย์ตามความทูลเชิญของประธานรัฐสภา
“ตามที่ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปฏิบัติหน้าที่ประธานรัฐสภา ได้กล่าวในนามของปวงชนชาวไทยเชิญข้าพเจ้าขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ ถ้าเป็นไปตามพระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร และเป็นไปตามบทบัญญัติของกฎมณเฑียรบาลว่า ด้วยการสืบราชสันตติวงศ์กับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยนั้น ข้าพเจ้าขอตอบรับเพื่อสนองพระราชปณิธาน และเพื่อประโยชน์ของประชาชนชาวไทยทั้งปวง” สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมารมีพระราชดำรัส
โดยในการกราบบังคับทูลเชิญองค์รัชทายาท เสด็จฯ ขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบราชสันตติวงศ์ นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติในฐานะประธานรัฐสภาได้กล่าวว่า
“ขอพระราชทานกราบบังคมทูลทรงทราบ ฝ่าละอองธุลีพระบาท ข้าพระพุทธเจ้า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา ขอพระราชทานพระราชวโรกาส กราบบังคมทูลในนามของปวงชนชาวไทยว่า โดยที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ได้เสด็จสวรรคต เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 13 ตุลาคม พุทธศักราช 2559 เวลา 15 นาฬิกา 52 นาที”
“โดยที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับชั่วคราว พุทธศักราช 2557 มาตรา 2 วรรค 2 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 23 วรรค 1 ได้บัญญัติเรื่องการสืบราชสันตติวงศ์ ว่า ในกรณีที่ราชบัลลังก์ว่างลง และในกรณีที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงแต่งตั้งทายาทไว้ ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พระพุทธศักราช 2467 แล้ว ให้คณะรัฐมนตรีแจ้งประธานรัฐสภาทราบ และให้ประธานรัฐสภา เรียกประชุมรัฐสภา เพื่อรับทราบ และให้ประธานรัฐสภาอัญเชิญองค์รัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์สืบไป และให้ประธานรัฐสภาประกาศให้ประชาชนทราบ
“ควรมิควร แล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ข้าพระพุทธเจ้า นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ” ประธานรัฐสภากล่าว
โดยพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 จะเฉลิมพระปรมาภิไธยว่า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร”
หลังจากทรงตอบรับเสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เสด็จฯ ไปประทับกราบ ณ พระสุจหนี่ หน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ทรงกราบถวายบังคม ทรงเปิดกรวยกระทงดอกไม้ ธูปเทียนแพ ทรงกราบราบ
และพล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ กราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคล หลังจากนั้นพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีแถลงผ่านโทรทัศน์ว่า ประเทศไทยได้มีพระมหากษัตริย์พระองค์ใหม่แล้ว โดยระบุว่า การเริ่มรัชกาลใหม่มีผลต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2559
“รัฐบาลขอประกาศให้ประชาชนชาวไทย ทั้งในราชอาณาจักร และในต่างประเทศทั่วโลกทราบทั่วกันว่า บัดนี้ประเทศไทยมีสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่แล้ว ตามคำกราบบังคมทูลอัญเชิญขึ้นทรงราชย์ของประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทำหน้าที่ประธานรัฐสภา” พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชากล่าว
พลเอกประยุทธ์ระบุอีกว่า การดำเนินพระราชพิธีบรมราชาภิเษกจะจัดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชตามพระราชดำริของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10
พระราชประวัติ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ทรงพระราชสมภพ ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2495 เวลา 17.45 น.
มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี และพระขนิษฐภคินี 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี
เมื่อทรงเจริญพระชนมายุได้ 1 พรรษา สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ทรงถวายพระนามตามดวงพระชะตาว่า สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ บรมจักรยาดิศรสันตติวงศ เทเวศรธำรงสุบริบาล อภิคุณูประการมหิตลาดุลเดช ภูมิพลนเรศวรางกูร กิตติสิริสมบูรณ์สวางควัฒน์ บรมขัตติยราชกุมาร
ทรงเข้าศึกษาชั้นอนุบาลปีที่ 1 เมื่อพระชนมายุ 4 พรรษา ณ โรงเรียนจิตรลดาชั้นอนุบาล และทรงศึกษาจนถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จึงเสด็จไปทรงศึกษาต่อที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตรีท แคว้นซัมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ จนถึงเดือนกรกฎาคม 2513 และเข้ารับการศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์ เขตพารามัตตา นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ทรงศึกษาอยู่จนถึงเดือนพฤษภาคม 2514
ปี 2515 เนื่องในโอกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 20 พรรษา ทรงบรรลุนิติภาวะตามกฎหมาย พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งการพระราชพิธีสถาปนาเฉลิมพระนามาภิไธย สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ให้ดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร ตามโบราณขัตติยราชประเพณี
ในปีเดียวกันทรงเข้าศึกษาในวิทยาลัยการทหารชั้นสูงที่วิทยาลัยการทหารดันทรูน กรุงแคนเบอร์รา โดยสำเร็จภาควิชาการทหารในยศร้อยโท และภาคการศึกษาวิชาสามัญระดับปริญญาตรี สาขาวิชาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลล์ โดยทรงสำเร็จการศึกษาในปี 2519
และทรงเข้ารับการฝึกเพิ่มเติมและทรงศึกษางานด้านการทหารในประเทศออสเตรเลีย โดยทุนของกระทรวงกลาโหม และทรงประจำการ ณ กองปฏิบัติการทางอากาศพิเศษที่นครเพิร์ รัฐออสเตรเลียตะวันตก ประเทศออสเตรเลีย
ปี 2520-2521 ทรงเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก ปี 2527-2530 ทรงศึกษาด้านกฎหมาย ทรงได้รับปริญญานิติศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ปี 2533 ทรงเข้ารับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งราชอาณาจักร
นอกจากนี้ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงรับการฝึกอบรมหลักสูตรทางการทหารและการบินต่างๆ อาทิ หลักสูตรวิชาอาวุธพิเศษการทำลายและยุทธวิธีการรบนอกแบบ
ขณะเดียวกัน พระองค์ยังทรงผ่านการฝึกอบรมเครื่องบินรบ จนมีพระปรีชาสามารถ และมีจำนวนชั่วโมงบินสูงมาก รวมทั้งทรงศึกษาหลักสูตรนักบินพาณิชย์ จากสถาบันการบินพลเรือน ทรงสอบได้ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี
วันที่ 1 ธันวาคม 2559 ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติอัญเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร พระรัชทายาทขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์ หลังจากการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทร สยามินทราธิราช บรมนาถบพิตร ในวันที่ 13 ตุลาคม 2559 และ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ ทรงตอบรับการอัญเชิญขึ้นทรงราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 10