สปท.ผ่านมติให้ กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน มีวาระ 5 ปี แทนอยู่ถึงเกษียณอายุ
2017.04.10
กรุงเทพฯ

ในวันจันทร์ (10 เมษายน 2560) นี้ สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปท.) มีมติ 97 ต่อ 27 เสียง (งดออกเสียง 32 เสียง) เห็นชอบ “ข้อเสนอประเด็นสำคัญเพื่อประกอบการพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ พ.ศ. 2557 และร่าง พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ (ฉบับที่…) พ.ศ…..” มีสาระสำคัญคือ ตำแหน่งกำนันมีที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชน มีวาระ 5 ปี และมีการประเมินผลการปฎิบัติหน้าที่ทุก 3 ปี ซึ่งแม้จะมีการรวบตัวคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวจากกลุ่มกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน แต่ไม่เป็นผล
นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปท.) กล่าวในที่ประชุมว่า เห็นควรให้มีการแก้ไขประเด็นสำคัญของ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ เนื่องจากเชื่อว่า การให้กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านอยู่ในวาระจนเกษียณอายุ มีผลกับการซื้อสิทธิขายเสียงของการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
“ถ้าเราจะแก้ปัญหาซื้อสิทธิขายเสียงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มิอาจละเว้นที่จะต้องแตะลงไปยังปัญหาของการได้มาซึ่งตำแหน่งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน เพราะฉะนั้นจึงได้เสนอขอแก้ไขกลับไปสู่หลักการสำคัญในปี 2515 และปี 2535” นายคำนูณกล่าว
ขณะที่นายปรีชา บุตรศรี สมาชิกสภาปฎิรูปแห่งชาติ (สปท.) ได้คัดค้านข้อเสนอดังกล่าว โดยให้เหตุผลว่า การให้เลือกตั้งกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน และมีวาระ 5 ปีจะทำให้มีลักษณะคล้ายคลึงกับนักการเมือง ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ในการมีกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน
“เราออกแบบกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านให้เป็นผู้ปกครองท้องที่ ไม่ได้ออกแบบให้เป็นนักการเมืองท้องถิ่น เราต้องการให้เป็นผู้ช่วยเหลือนายอำเภอ มีความสืบเนื่องในประสบการณ์การทำงาน มีการรักษากฎหมาย ระเบียบ และความเป็นธรรมกับราษฎร มีการรับปัญหาของประชาชนไปสะท้อนให้กับนายอำเภอฟัง มีการปราบปราโจรผู้ร้าย บริบทเหล่านี้เป็นบริบทที่สำคัญของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน” นายปรีชากล่าว
ด้าน นายยงยศ แก้วเขียว นายกสมาคมกำนันผู้ใหญ่บ้านแห่งประเทศไทย เปิดเผยต่อสื่อมวลชนหลังยื่นหนังสือคัดค้านข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ว่า ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ เนื่องจากเชื่อว่า การให้มีการเลือกตั้งกำนัน และมีวาระ 5 ปี จะทำให้กำนันมีลักษณะใกล้เคียงกับนักการเมือง และเกิดการเลือกข้าง ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อประชาชน
“บริบทของการเป็นตำแหน่งกำนัน ไม่ได้เป็นแบบนักการเมือง เราเป็นแบบเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นคนที่เลือกมาแล้วให้ปฎิบัติหน้าที่รักษากฎหมาย อำนวยความเป็นธรรม บริการประชาชน รักษาความสงบเรียบร้อย ถ้าจะทำแบบเลือกตั้ง ยืนยันว่าทำไม่ได้แน่นอน เพราะจะเกิดความเสียหายกับประชาชนในเรื่องของการเลือกข้าง” นายยงยศกล่าว
นายยงยศเพิ่มเติมว่า การเลือกตั้งทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการเลือกตั้ง และสร้างความขัดแย้งในท้องถิ่น โดยในกรณีที่กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านปฎิบัติหน้าที่ไม่เหมาะสม ก็มีกฎหมายรองรับให้ประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อ ยื่นถอดถอนกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านได้อยู่แล้ว จึงทำให้การทำหน้าที่ของกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไม่ได้ผูกขาดอำนาจตามที่ สมาชิก สปท.หลายคนกล่าวอ้าง
สาระสำคัญของ พ.ร.บ.ลักษณะปกครองท้องที่ที่มีข้อเสนอให้แก้ไขประกอบด้วย ให้มีการแก้ที่มาของกำนันจากเดิมที่เป็นการเลือกกันเองโดยผู้ใหญ่บ้านเป็นการเลือกตั้งโดยประชาชน และมีวาระดำรงตำแหน่ง 5 ปี จากเดิมที่ให้ดำรงตำแหน่งจนถึงอายุ 60 ปี โดยผู้ใหญ่บ้านสามารถดำรงตำแหน่งกำนันในคราวเดียว แต่ให้รับเงินเดือนตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่ง หากหมดวาระ สามารถลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นกำนันได้ โดยไม่จำกัดวาระ และให้มีการประเมินผลการปฎิบัติงานผู้ใหญ่บ้านทุก 3 ปี จากเดิมที่มีการประเมินทุก 5 ปี ซึ่งข้อเสนอดังกล่าว ทำให้มีการเคลื่อนไหวจากกำนัน-ผู้ใหญ่บ้านในหลายพื้นที่ โดยมีการรวมตัวกันคัดค้านข้อเสนอดังกล่าวที่ที่ว่าการอำเภอในแต่จังหวัด
อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านความเห็นชอบจาก สมาชิก สปท. แต่การแก้ไข พ.ร.บ.ลักษณะปกครองส่วนท้องที่ ยังต้องผ่านการรับฟังความคิดเห็นของกระทรวงมหาดไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และต้องผ่านความเห็นชอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก่อน จึงจะสามารถปรับแก้ไขตามข้อเสนอได้
ต่อประเด็นนี้ นายศักดินันท์ รักษาพล ชาวจังหวัดนครศรีธรรมราชเปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า เห็นด้วยกับการให้กำนันและผู้ใหญ่บ้านมาจากการเลือกตั้ง เนื่องจากเชื่อว่า การเลือกตั้งจะช่วยกระตุ้นให้ กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านกระตือรือร้นที่จะปฎิบัติหน้าที่มากกว่า และป้องกันการผูกขาดอำนาจ
“การให้ดำรงตำแหน่งถึงอายุ 60 ปี เป็นการผูกขาดตำแหน่ง กำนัน-ผู้ใหญ่บ้านไม่พัฒนาท้องถิ่น เพราะไม่ต้องไปแข่งขันกับใคร ไม่แยแสฝ่ายตรงข้ามที่เป็นคู่แข่งเมื่อชนะ เพราะคิดว่า ชนะแล้วอยู่ยาวไม่ต้องสน ยิ่งกล้าลงทุนซื้อเสียง เพราะเชื่อว่าคุ้มค่ากับการได้อยู่ในตำแหน่งยาวนานถึงอายุ 60 ปี” นายศักดินันท์กล่าว
“ยกตัวอย่างในพื้นที่บ้านผม ผู้ใหญ่บ้านเลือกปฎิบัติ เอาแต่พวกพ้อง เอื้อประโยชน์กัน ชาวบ้านรอบข้างพากันเอือมระอา อยากเลือกใหม่ใจจะขาด แต่ทำไม่ได้ ต้องอดทนรับกรรมไปอีกหลายปี ถ้าเลือกตั้งจะทำให้เกิดการแข่งขันและสร้างผลงาน เพื่อหวังที่จะให้ได้รับโอกาสในสมัยต่อไปมากกว่า” นายศักดินันท์ระบุ
ปัจจุบัน กรมการปกครองระบุว่า ประเทศไทยมีกำนัน 6,890 คน และผู้ใหญ่บ้าน 68,445 คน