กสทช.งดรายการข่าวค่ำวอยซ์ทีวี 15 วัน
2018.03.20
กรุงเทพฯ

ปรับปรุงข้อมูล 10:38 PM ET 2018-03-20
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีคำสั่งในวันอังคารนี้ให้ ระงับการออกอากาศรายการทูไนท์ ไทยแลนด์ (Tonight Thailand) ทางช่องโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 21 เป็นเวลา 15 วัน โดยอ้างเหตุผลว่า รายการดังกล่าวที่ออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 มีเนื้อหายั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้งในสังคม โดยคำสั่งมีผลทันที
กสทช. มีคำสั่งกำหนดมาตรการทางปกครอง ตามหนังสือ คำสั่ง ที่ สทช. 4012/9992 ลงวันที่ 19 มีนาคม 2561 โดยนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้ระงับการออกอากาศรายการทูไนท์ ไทยแลนด์ ช่องวอยซ์ทีวี 21 เป็นเวลา 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม - 3 เมษายน 2561 โดยห้ามนำรายการดังกล่าวไปออกอากาศในวัน และเวลาอื่น รวมถึงนำเทปรายการเดิมมาออกอากาศซ้ำในช่วงวัน และเวลาดังกล่าว
“ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเนื้อหาและสาระสำคัญของรายการ Tonight Thailand ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ด้วยความละเอียดรอบคอบแล้วเห็นว่า การนำเสนอรายการดังกล่าวมีลักษณะส่อให้เกิดความสับสน ยั่วยุ ปลุกปั่นให้เกิดความขัดแย้ง หรือสร้างให้เกิดความแตกแยกในราชอาณาจักร” ส่วนหนึ่งของคำสั่งดังกล่าวระบุ
“จึงห้ามมิให้ออกอากาศในกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ตามประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติฉบับที่ 97/2557 แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 130/2557 และเป็นการปฏิบัติผิดเงื่อนไขการอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ช่องรายการ Voice TV ตามบันทึกข้อตกลงฯ ระหว่างบริษัทฯ และสำนักงาน กสทช. ฉบับลงวันที่ 4 มิถุนายน 2557” ตอนหนึ่งของคำสั่ง
ในคำสั่งดังกล่าวยังระบุว่า จากการตรวจสอบไม่ปรากฏข้อเท็จจริงอันรับฟังได้ว่า วอยซ์ทีวีได้มีการตรวจสอบเนื้อหารายการก่อนหรือระหว่างออกอากาศ ต่อกรณีนี้ เบนาร์นิวส์ได้พยายามติดต่อขอคำชี้แจงเพิ่มเติมจากนายฐากร ผู้ออกคำสั่งดังกล่าว แต่ไม่สามารถติดต่อได้
รายการทูไนท์ ไทยแลนด์ ซึ่งออกอากาศเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2561 ซึ่งเป็นต้นเหตุทำให้ กสทช.สั่งระงับการออกอากาศ 15 วันนั้น มีการนำเสนอภาพข่าว หน้ากากพิน็อคคิโอจมูกยาวล้อเลียน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ซึ่งมีการฉายภาพดังกล่าวซ้ำหลายครั้ง ซึ่ง กสทช. เชื่อว่าไม่เหมาะสม รวมถึงมีการนำเสนอเนื้อหาอื่นๆที่อาจทำให้เกิดความแตกแยกในสังคม
ผู้บริหารของวอยซ์ทีวี ได้ออกแถลงการณ์ โดยตั้งข้อสังเกตว่าการตรวจสอบของ กสทช. ในครั้งนี้ ปฏิบัติด้วยมาตรฐานที่เสมอหน้าและเป็นธรรมตามหลักการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่ และจะฟ้องร้องทั้งทางปกครองและทางแพ่ง
“วอยซ์ทีวีจึงตัดสินใจจะดำเนินการทางกฎหมายทั้งทางปกครองและทางแพ่งต่อไป โดยจะยื่นคำร้องคัดค้านคำสั่งต่อศาลปกครองและยื่นฟ้องแพ่ง เพื่อคุ้มครองความเสียหายที่จะเกิดกับสถานีโดยเร็วที่สุด” ผู้บริหารของวอยซ์ทีวี กล่าวในในแถลงการณ์
ด้านนายปราเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ที่ผ่านมาสมาคมฯ พยายามเรียกร้องให้ คสช. ยกเลิกคำสั่งที่อาจลิดรอนเสรีภาพของสื่อมวลชนมาตลอด ซึ่งหลังจากนี้ สมาคมก็จะเดินหน้าเรียกร้องต่อไป
“ทางสมาคมนักข่าวฯ ตามสถานการณ์สื่อมาตลอด ที่ผ่านมาเรียกร้องให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ปิดกั้นเสรีภาพสื่อมวลชนมาตลอด เพราะมีกฎหมายปกติอยู่แล้ว และที่ผ่านมาก็มีการใช้อำนาจที่อาจเป็นการคุกคามสื่อ การใช้คำสั่งพิเศษทำให้คนที่ทำหน้าที่สื่ออาจจะต้องใช้ความระมัดระวัง หรือหากรัฐพิจารณาไม่ถี่ถ้วนก็อาจกระทบต่อสิทธิตรงนี้ ซึ่งก็จะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศที่มีต่อสายตาชาวต่างชาติด้วย” นายปราเมศกล่าว
ด้าน นางกุลชาดา ชัยพิพัฒน์ สมาคมเครือข่ายสื่อมวลชนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEAPA) กล่าวต่อเบนาร์นิวส์ ถึงคำสั่ง กสทช. ระงับการออกอากาศรายการในช่องวอยซ์ทีวีว่า การใช้อำนาจของ กสทช. ลักษณะนี้ จะกระทบต่อบรรยากาศการเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ของประเทศไทยในปีหน้า
“การใช้กฎหมาย ตัวนี้แน่ชัดว่าเป็นการเมืองมากกว่า มีผลกระทบความมั่นคง หรือความแตกแยก การแสดงความคิดเห็นบนพื้นที่สื่อ ควรได้รับการคุ้มครองในรัฐธรรมนูญ การแสดงความเห็นแตกต่างควรได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายในประเทศและ กฎหมายสากล การเปิด-ปิดไม่เป็นผลดี กับการเลือกตั้งในปีหน้า รัฐบาลควรสร้างบรรยากาศของการถกเถียงแสดงความคิดเห็น” นางกุลชาดากล่าว
โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) สรุปสถิติทางเสรีภาพหลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2557 พบว่า มีผู้ถูกเรียกรายงานตัว หรือมีเจ้าหน้าที่เข้าเยี่ยมบ้านอย่างน้อย 1,319 ราย ถูกจับกุมอย่างน้อย 597 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 112 หมิ่นเบื้องสูง อย่างน้อย 82 คน ถูกตั้งข้อหามาตรา 116 ยุยงปลุกปั่น อย่างน้อย 64 คน และมีกิจกรรมเกี่ยวกับเสรีภาพถูกปิดกั้น-แทรกแซง อย่างน้อย 152 ครั้ง ซึ่งสถิตินี้ เป็นการรวบรวมถึงวันที่ 30 กันยายน 2560
* เพิ่มเติมปฏิกิริยาของวอยซ์ทีวี โต้ตอบคำสั่งฃอง กสทช.